ดร. วิรัลดา ภูตะคาม หัวหน้าทีมวิจัย ศูนย์โอมิกส์แห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เข้ารับรางวัลทะกุจิ ประเภทนักวิจัยดีเด่น จากสมาคมเทคโนโลยีชีวภาพแห่งประเทศไทย ในงานประชุมวิชาการประจำปี ครั้งที่ 34 หรือ The 34th Annual Meeting of the Thai Society for Biotechnology and International Conference (TSB 2022) “Sustainable Bioeconomy: Challenges and Opportunities” จากผลงานวิจัยเรื่อง “การพัฒนาเทคโนโลยีการค้นหาและจีโนไทป์สนิปประสิทธิภาพสูงเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเกษตรไทยและการอนุรักษ์ความหลากหลายทางพันธุกรรมเพื่อการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน” โดยเข้ารับรางวัลจาก รศ. ดร. เพ็ญจิตร ศรีนพคุณ นายกสมาคมเทคโนโลยีชีวภาพแห่งประเทศไทย ในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2565 ณ โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ กรุงเทพฯ
ปัจจุบันความก้าวหน้าของเทคโนโลยีด้านจีโนมิกส์เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของมนุษย์มากขึ้น ทั้งด้านการแพทย์ อุตสาหกรรม รวมถึงการเกษตร เช่น การใช้เครื่องหมายโมเลกุลในการปรับปรุงพันธุ์ ซึ่งช่วยย่นระยะเวลา ประหยัดแรงงานและทรัพยากรที่ใช้ในการพัฒนาพันธุ์พืชเศรษฐกิจได้อย่างมาก โดยเดิมทีเครื่องหมายโมเลกุลที่ได้รับการพัฒนาและใช้งานเป็นหลักในประเทศไทย คือไมโครแซทเทลไลต์ (Microsatellite) ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง ใช้กำลังคนสูง และใช้เวลานาน นอกจากนี้ ความถี่ในการเกิดไมโครแซทเทลไลต์ในจีโนมพืชไม่สูงเท่าการเกิดเครื่องหมายโมเลกุลสนิป จึงเป็นที่มาของผลงานวิจัย “การพัฒนาเทคโนโลยีการค้นหาและจีโนไทป์สนิปประสิทธิภาพสูงเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเกษตรไทยและการอนุรักษ์ความหลากหลายทางพันธุกรรมเพื่อการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน” ซึ่งเป็นการพัฒนากระบวนการที่สามารถค้นหาเครื่องหมายโมเลกุลสนิปโดยไม่ขึ้นกับฐานข้อมูลลำดับเบสที่มีอยู่ (genotyping-by-sequencing, GBS) ส่งผลให้สามารถค้นหาสนิปได้จำนวนมาก ในระยะเวลารวดเร็วและมีค่าใช้จ่ายไม่สูง เป็นเทคโนโลยีซึ่งทีมวิจัยจีโนมิกส์พัฒนาขึ้นเป็นกลุ่มแรกในประเทศไทย
รางวัลทะกุจิและผู้สมควรให้ปาฐกถาอายิโนะโมะโต๊ะ ประจำปี 2565 จัดโดย สมาคมเทคโนโลยีชีวภาพแห่งประเทศไทย เป็นรางวัลที่มอบให้แก่นักวิทยาศาสตร์ที่อุทิศตนให้กับงานวิชาการด้านเทคโนโลยีชีวภาพที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศและมีผลงานโดดเด่น มีคุณภาพ ศักยภาพและสร้างประโยชน์ต่อสังคมอย่างแท้จริง