บทสัมภาษณ์นางอุทัยวรรณ กรุดลอยมา ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายศึกษานโยบายและความปลอดภัยทางชีวภาพ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ศช.) สวทช. เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2565 เพื่อถอดบทเรียนและองค์ความรู้ของพนักงานและพนักงานโครงการ สวทช. ที่จะเกษียณอายุงาน
ตามที่ สวทช. มีนโยบายการบริหารบุคลากร ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องมีการบริหารจัดการและดูแลอย่างใกล้ชิด ตามแผนการดำเนินงาน KS6-2 (SI3-2) การยกระดับระบบบริหารด้านทรัพยากรบุคคล ซึ่งเป็นการพัฒนากระบวนการดูแลพนักงานและพนักงานโครงการ เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเกษียณอายุ
ทั้งนี้ ฝ่ายบริการทรัพยากรบุคคล ฝ่ายบริการความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และฝ่ายผลิตสื่อสมัยใหม่ สวทช. ได้คำนึงถึงความสำคัญขององค์ความรู้ และการถ่ายทอดบทเรียนจากองค์ความรู้ของพนักงานและพนักงานโครงการที่จะเกษียณอายุงานของ สวทช. ที่มีความเชี่ยวชาญ ศักยภาพ ความสามารถในการบริหารจัดการ ตลอดจนประสบความสำเร็จในสายงานอาชีพ และถือว่าเป็นส่วนหนึ่งในแผนการดำเนินงาน KS6-2 (SI3-2) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อถอดบทเรียนและองค์ความรู้ของพนักงานและพนักงานโครงการ ที่จะเกษียณอายุงาน เพื่อนำไปแบ่งปันและเผยแพร่ผ่านช่องทางต่างๆ ให้กับบุคลากรของ สวทช. โดยให้สามารถเข้าถึงองค์ความรู้ในด้านต่างๆ และเพื่อให้เกิดการเรียนรู้จากประสบการณ์ของพนักงานและพนักงานโครงการที่จะเกษียณอายุงาน รวมทั้งสามารถนำมาพัฒนาและต่อยอดการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
บทสัมภาษณ์นี้ เป็นการสัมภาษณ์ นางอุทัยวรรณ กรุดลอยมา ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายศึกษานโยบายและความปลอดภัยทางชีวภาพ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ศช.) สวทช. เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2565 เพื่อสัมภาษณ์ประเด็นประสบการณ์การทำงาน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อองค์กรและบุคลากร
ข้อมูลเบื้องต้น
• นางอุทัยวรรณ กรุดลอยมา
• ตำแหน่ง ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายศึกษานโยบายและความปลอดภัย ทางชีวภาพ (PBD) ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ศช.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
แนะนำตัวเอง และบทบาทหน้าที่ปัจจุบันโดยย่อ
ย้อนกลับไปที่ปี พ.ศ. 2535 ปัจจุบันนี้ก็ประมาณ 30 ปีแล้ว เริ่มต้นทำงานในศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ศช.) ช่วงที่ ศช. ปรับเปลี่ยนจากการเป็นหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์โดยตรง มาเป็น สวทช. ขณะนั้น ทำหน้าที่เป็นนักวิเคราะห์โครงการทางด้านพืช ช่วงเวลานั้น สวทช. ยังเป็นหน่วยงานที่ให้ทุนวิจัย
ตำแหน่งงานใน ศช. ปัจจุบัน คือ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายศึกษานโยบายและความปลอดภัยทางชีวภาพ (PBD) แต่ช่วงเวลานี้จะเกษียณ เป็นการต่อสัญญา ถูกมอบหมายให้ทำงานมากกว่าการเป็นผู้อำนวยการฝ่าย คือ ให้ช่วยทำงาน และ สอนงานทีมงานที่ดำเนินการ Eastern Economic Corridor of Innovation (EECi) และ BCG สาขาการเกษตร โดยนำประสบการณ์ และทักษะการทำงานที่สั่งสมมากว่า 30 ปี ถ่ายทอดให้กับน้องๆ ในทีม ในรูปแบบ On the Job Training
ทักษะ คุณสมบัติ และความสามารถสำคัญในการทำงานเกี่ยวกับการจัดทำข้อเสนอแนะและ การผลักดันเชิงนโยบาย เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ ทั้งในระดับองค์กรและประเทศ
ตนเองไม่ใช่นักวิจัยนโยบาย แต่ดูแลทีมที่ทำเรื่องการวิจัยนโยบาย เป็นเสมือนลูกครึ่ง คือ เรียนรู้ไปพร้อมกับลูกน้องในทีม การทำงานวิจัยนโยบายเป็นเสมือนงานวิจัยแบบหนึ่ง แต่เป็นการวิจัยบนข้อมูล เป็นการทำงานที่จะต้องรับฟัง ความคิดเห็น มุมมอง และมิติด้านต่างๆ ที่มีผลกระทบ หรือมองไปข้างหน้าว่าจะมีผลเป็นอย่างไร ตรงนี้คือจุดสำคัญที่นักวิจัยนโยบายจะต้องทำงานบนหลักวิชาการ รับฟังความเห็น ใช้ข้อมูลที่ถูกต้อง มีการวิเคราะห์ ประมวลผล และสังเคราะห์ เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะ
ข้อเสนอแนะจะถูกผลักดันไปใช้ประโยชน์หรือไม่ และอย่างไร ที่จริงแล้วก็ใช่ว่าคนทำงานวิจัยนโยบายจะเป็นคนผลักดันได้ด้วยตนเอง ต้องร่วมมือและอาศัยผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือหน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรงในการผลักดัน ยกตัวอย่างเช่น นโยบายการพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพของประเทศ ทีมงานเริ่มต้นทำงานกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) โดยค้นคว้าหาข้อมูลนโยบายเทคโนโลยีชีวภาพของประเทศต่างๆ และ review สถานภาพความสามารถด้านนี้ของประเทศไทย ศ.ดร.มรกต ตันติเจริญ (ผู้อำนวยการ ศช. ในขณะนั้น) ท่านเป็นทั้งผู้บริหารและอาจารย์ สอนและให้คำแนะนำแก่ทีมงาน ในช่วงแรกที่ทำงานร่วมกับสภาพัฒน์ ไม่ได้คิดไว้ว่าจะได้รับมอบหมายเป็นสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการนโยบายเทคโนโลยีชีวภาพ แต่ความที่เราทุ่มเททำงาน ทางสภาพัฒน์ฯ มองเห็นถึงศักยภาพและความพร้อมของนักวิจัยนโยบายของ ศช. รวมถึงมองเห็นความสำคัญและความพร้อมของประเทศไทย เรื่อง เทคโนโลยีชีวภาพ จึงเกิดเป็นการจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายเทคโนโลยีชีวภาพ
นอกจากดูแลงานวิจัยนโยบายแล้ว ยังได้ดูแลงานความปลอดภัยทางชีวภาพ หรือที่เรียกกันว่า Biosafety งานนี้สำหรับประชาคมวิจัยด้านเทคโนโลยีชีวภาพจะรู้จักทีมนี้อย่างดี ทีมนี้พัฒนากฎ ระเบียบ และแนวทางปฏิบัติด้านเทคนิคที่เกี่ยวข้องกับ การกำกับดูแลและการประเมินความปลอดภัยทางชีวภาพของสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมของประเทศ ทีมนี้ต้องทำงานกับหน่วยงานกำกับดูแล ทำให้ทีมมีทักษะและประสบการณ์ จึงทำให้ได้รับมอบหมายให้ดูแลงาน Compliance ของ ศช. เพื่อให้งานวิจัยของ ศช. ปฏิบัติตามกฎหมายและกฎระเบียบเกี่ยวกับเทคโนโลยีชีวภาพได้ถูกต้องเหมาะสม
เรื่องที่มักคุยกับน้องเสมอ คือ การหาข้อมูลที่เยอะมากเกินไป บางครั้งข้อมูลที่หามาไม่ได้ถูกใช้ประโยชน์ ดังนั้น จะต้องตั้งโจทย์ให้ชัด โจทย์ใหญ่คืออะไร โจทย์ย่อยคืออะไร ข้อมูลอะไรบ้างที่จะต้องหา และให้ย้อนกลับไปดูบทแรกๆ ที่กล่าวอ้างถึงข้อมูลต่างๆ มีความสัมพันธ์หรือเชื่อมโยงกันหรือไม่ บางครั้งคำตอบที่ได้กับตอนแรกที่เริ่มต้นทำไม่ได้ไปด้วยกัน ก็ต้องกลับไปทบทวนแก้ไข
ทักษะสำคัญในการทำงานไม่ว่าจะเป็นงานวิจัยนโยบาย หรือ Biosafety จะต้องมี Nation First มาเป็นข้อแรก จะต้องไม่มีความเป็นตัวตน ตามที่ท่านพุทธทาส กล่าวว่า ไม่มีตัวกูของกู เราจะต้องทำงานบนพื้นฐานที่ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ขององค์กรเรา แต่งานที่ทำออกไปเป็นของประเทศ หรือเป็นของประชาชน ทั้งนี้ ต้องนำคำสอนของท่านอาจารย์มาลี (ดร.มาลี สุวรรณอัตถ์ ผู้อำนวยการ ศช. ท่านแรก) “ทำอะไรก็ตามให้มองประเทศ มองภาพใหญ่ พร้อมเหลือบมองข้างๆ ด้วยว่าองค์กรของเราอยู่ที่ไหน” สิ่งเหล่านี้ตนเองจะสอนน้องในทีมเสมอ การทำงานต้องมองภาพใหญ่ ไม่ใช่มองเพียงแค่เทคโนโลยี เศรษฐกิจ หรือสังคมเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง ยังมีมิติอื่นๆ ที่จะต้องนำมาประกอบ ต้องมองรอบด้านและสังเคราะห์หลายมิติ เพื่อให้ได้ข้อสรุปของทิศทางที่ดี การทำงานของงานวิจัยนโยบาย และ Biosafety จึงต้องประกอบด้วยคนหลายคนหลายมุมมอง ไม่สามารถทำได้เพียงคนเดียว
ตัวอย่างผลงานที่ภาคภูมิใจ และปัจจัยความสำเร็จในผลงานดังกล่าว
ความภาคภูมิใจของตนเอง คือ การได้มีส่วนร่วมในงานหรือโครงการใหม่ขององค์กรหลายงาน ยกตัวอย่างเช่น
การจัดตั้ง โครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพในประเทศไทย (Biodiversity Research and Training Program : BRT) ในช่วงที่เริ่มต้นโครงการได้เรียนเชิญ ศ.เกียรติคุณ ดร.วิสุทธิ์ ใบไม้ เพื่อเป็นผู้บริหารโครงการฯ ศ.เกียรติคุณ ดร.วิสุทธิ์ ขอให้มีคนจาก ศช. มาช่วยทำงานนี้ โดยเจาะจงมาว่าขอ อุทัยวรรณ กรุดลอยมา [ยิ้ม] ซึ่งตนเองร่วมทำงานโครงการฯ 2-3 ปี ก่อนจะมีการเปลี่ยนแปลง ให้คุณรังสิมา ตัณฑะเลขา เข้ามาทำงานตั้งแต่นั้นจนถึงปัจจุบัน [ยิ้ม]
ผลงานเรื่องของคณะกรรมการนโยบายเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ เป็นเรื่องที่ไม่รู้เนื้อรู้ตัวว่าจะต้องเป็นสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการนโยบายเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ ซึ่งในการทำงานก็มีช่วงขลุกขลักบ้าง แต่ได้ผู้ใหญ่หลายท่าน คอยช่วยเหลือ สนับสนุน และให้คำแนะนำ สิ่งที่ภาคภูมิใจคือ นายกรัฐมนตรี มานั่งหัวโต๊ะเพื่อร่วมประชุมกับทีมงาน [ยิ้ม] แม้ว่างานด้านนี้จะประสบความสำเร็จบ้าง หรือไม่ประสบความสำเร็จบ้าง แต่ผลจากการทำงานก็ทำให้มีความเคลื่อนไหวและทำให้ ศช. เป็นที่รู้จักในการเป็นศูนย์แห่งชาติด้านเทคโนโลยีชีวภาพมากขึ้น
BIOPOLIS (เมืองนวัตกรรมชีวภาพ) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งใน EECi โดยภาคเอกชนได้มีเวทีการพูดคุยหารือกับ รองนายกรัฐมนตรี คุณสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ (ในขณะนั้น) ซึ่งรองนายกรัฐมนตรีได้สอบถามว่า ทำไมเทคโนโลยีชีวภาพของประเทศไทยไม่มี BIOPOLIS เช่นประเทศสิงค์โปร์ ที่เป็นฐาน เป็น environment และเป็นโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการลงทุนและก่อให้เกิดอุตสาหกรรม ภาคเอกชนจึงได้มาหารือกับ สวทช. ซึ่งตนเองได้เข้าร่วมจัดทำข้อมูลเชิงกลไกภาครัฐ จากการทำงานส่วนนี้ทำให้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการเริ่มต้นสำหรับ EECi
จากการทำงานที่ผ่านมา ได้ทำงานร่วมกับหลายฝ่ายใน สวทช. ไม่เพียงเฉพาะใน ศช. เท่านั้น พบว่าคนอื่นๆ และฝ่ายอื่นๆ ใน สวทช. เป็นคนดี คนเก่ง และมุ่งมั่นที่จะทำงานให้สำเร็จ และมี Core Value ของ NSTDA จริงๆ ซึ่งเป็นอีกสิ่งหนึ่ง ที่ภาคภูมิใจ
“ปัจจัยความสำเร็จของผลงาน คือ ต้องเปิดใจกว้าง เพราะงานที่ได้รับมอบหมายหลายงานเป็นงานใหม่ ยังมองไม่ออกว่าหน้าตาของงานจะเป็นอย่างไร ต้องเปิดใจกว้างที่จะรับฟัง เรียนรู้ และหาข้อมูล โดยเมื่อรับ ที่จะทำ ก็ต้องทำให้ดีที่สุด เราอยู่ สวทช. เราจะต้องพลวัตกับสิ่งที่เปลี่ยนแปลง ไม่หยุดนิ่ง”
ความท้าทายสำคัญในการทำงาน และวิธีการจัดการ
งานทุกงานมีความท้าทายหมด เพียงแต่ความท้าทายจะแตกต่างกัน เช่น งานบางงานมีความท้าทายในเรื่องของเวลา ส่วนใหญ่ความท้าทายจะเป็นงานใหม่ที่ไม่ใช่งานทางด้านวิจัยนโยบาย เช่น ธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ (National Biobank of Thailand : NBT) ซึ่งมีส่วนร่วมในช่วงเริ่มต้นที่ก่อให้เกิดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางด้าน national biobank ใน สวทช. ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ มีกิจกรรมที่สัญญาไว้ งบประมาณดำเนินการ และรายงานที่ต้องจัดทำและบริหารจัดการจำนวนมาก ต้องประสานสิบทิศ โดยเฉพาะการใช้ทักษะของนักวิเคราะห์โครงการที่ศช.บ่มเพาะให้
แนวทางและวิธีการส่งต่อหรือถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์แก่ทีมงาน
เน้นการใช้วิธี On the Job Training และแนะนำในมุมมองต่างๆ จะคุยกับน้องๆ ในทีมบ่อย ไม่ว่าจะเป็นการคุยแบบเดี่ยว หรือแบบกลุ่ม แบบไม่เป็นทางการ อาจจะเป็นการพูดคุยเพื่อสอบถามว่างานเป็นอย่างไร มีอะไรติดขัดหรือไม่ โดยใช้ช่วงเวลากินกาแฟร่วมกัน
การมอบ challenge ให้กับทีม เช่น การมอบหมายให้ทบทวนและเสนอแนวทางการทำงานที่แตกต่างไปจาก loop เดิม ซึ่งบางทีน้องๆ นำไอเดียที่แปลกมานำเสนอ แต่ตนเองเชื่อว่าน้องๆ ทุกคนเป็นคนเก่งและเป็นคนดี ดังนั้น ตนเองจึงเปิดใจยอมรับและพิจารณา หากสิ่งที่นำเสนอไม่มีความเสี่ยงมากนัก จะให้น้องๆ ได้ทดลองทำ แล้วมาสรุปผลร่วมกันว่าเป็นอย่างไร
เทคนิคของตนเอง คือ พูดคุยกันมากๆ เข้าใจงานน้อง และหาโอกาสเพื่อแบ่งปันแนวคิดและประสบการณ์ให้กับน้องๆ ในทีมอย่างสม่ำเสมอ
ความประทับใจที่มีต่อ สวทช. และการทำงานใน สวทช.
“สวทช. ทุกคนเป็นคนคี คนเก่ง มุ่งมั่นทำงาน และใฝ่เรียนรู้ ที่นี่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามพลวัต ปัจจัย และประเด็นภายนอก ที่นี่ก้าวทันเทคโนโลยี ทั้งส่วนงานวิจัยและงานสนับสนุน ทำให้พวกเราได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ
ในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงนั้น ครั้งแรกมันจะมีแรงฝืดและแรงต่อต้านนิดหน่อย แต่ก็คิดว่าการเปลี่ยนแปลงย่อมนำไปสู่สิ่งที่ดีขึ้นเสมอ แต่ต้องใช้เวลาในการปรับสักหน่อย
โลโก้ของ สวทช. มี Fast forward อันนี้เป็นตัวย้ำเตือนความเป็นเอกลักษณ์ของ สวทช. ว่าเราจะมองไปข้างหน้า และจะเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ สวทช. ก้าวทันและก้าวหน้า ตรงนี้เป็นจุดเด่นอยากให้รักษาไว้” [ยิ้ม]
การเตรียมก่อนเกษียณ และการวางแผนการใช้ชีวิตหลังเกษียณ
ด้านการทำงาน เตรียมส่งมอบงานให้น้องๆ ช่วงเวลานี้ ตนเองจะต้อง coaching และแบ่งปันทักษะและประสบการณ์ทั้งที่สำเร็จและไม่สำเร็จของตนเองให้กับน้องๆ โดยเฉพาะอย่างหลัง เพื่อไม่ให้ทำพลาดซ้ำ คิดอยู่เสมอว่าน้องๆ จะต้องทำงานต่อได้ และทำต่อได้ดีกว่าที่ตนเองเคยทำ [ยิ้ม]
ด้านชีวิตส่วนตัว หลังเกษียณ มีเรื่องที่ตั้งใจหรืออยากจะทำ คือ ท่องเที่ยว อ่านหนังสือ ศึกษาและปฏิบัติธรรมเพื่อเรียนรู้ในการวางตนเองก่อนจะจากโลกนี้ไปอย่างเหมาะสม [ยิ้ม] แต่ยังคงตั้งใจหาความรู้ เพราะการทำงานที่ สวทช. สอนใช้ชีวิตที่ต้องหาความรู้ใหม่เสมอ และอีกสิ่งหนึ่งที่อยากทำ คือ กลับไปถักนิตติ้ง [ยิ้ม] ตั้งใจลองทำหมวกเพื่อถวายพระสงฆ์ อยากทำอะไรที่ได้ใช้สมอง มือ และนิ้ว เพื่อจะได้ไม่เป็นอัลไซเมอร์ [หัวเราะ]
ภาพของ สวทช. ในอนาคต ที่คาดหวัง
ไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ อายุที่มากขึ้นไม่ว่าจะเป็นคน หรือองค์กร จะคิดหรือทำแบบเดิมๆ ไม่ได้ ต้องเปลี่ยนแปลงให้ทันโดยเฉพาะ สวทช. เป็นองค์กรที่มีคนอยู่ร่วมกัน ทั้งคนรุ่นเก่าที่อยู่มานาน และคนรุ่นใหม่ที่เป็นรุ่นเยาว์ คนที่อยู่มานานยังไม่พัฒนาหรือหยุดพัฒนาปิดกั้นความคิด ไม่รับฟัง เป็นไปไม่ได้ ต้องพลวัต (dynamic) ตามการเปลี่ยนแปลงภายนอกที่เกิดขึ้นและ ส่งผลกระทบเข้ามายัง สวทช. ทั้งนี้ ที่ผ่านมา สวทช. รับมือได้ดี และอยากให้ดีเช่นนี้ต่อไป พัฒนาให้ดีขึ้นเหมือนโลโก้ Fast Forward ของ สวทช. ขอฝากน้องๆ ที่ยังอยู่ เดินหน้าต่อไป [ยิ้ม]