ดร.จุฬารัตน์ ตันประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เข้ารับรางวัลประสิทธิภาพด้านการบริหารจัดการดีเด่น ในงานมอบรางวัลทุนหมุนเวียนดีเด่น ประจำปี 2566 จากนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ณ ห้องจูปิเตอร์ 4-7 อาคารชาเลนเจอร์ อิมแพค เมืองทองธานี ซึ่งการมอบรางวัลทุนหมุนเวียนดีเด่นเป็นการสร้างความตระหนักรู้และขวัญกำลังใจให้แก่ทุนหมุนเวียนที่มีผลการปฏิบัติงานดีเด่นในด้านต่างๆ ตลอดจนสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของทุนหมุนเวียนในฐานะเป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐบาลในการขับเคลื่อนและยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยรวมของประเทศ
กระทรวงการคลัง โดยกรมบัญชีกลาง ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลและประเมินผลการดำเนินงานของทุนหมุนเวียน ซึ่งปัจจุบันมีอยู่รวม 114 กองทุน ได้จัดงานมอบรางวัลทุนหมุนเวียนดีเด่น ประจำปี 2566 ขึ้น ต่อเนื่องเป็นปีที่ 15 ภายใต้ชื่องาน “ทุนหมุนเวียน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ พัฒนาประเทศไทยไปด้วยกัน” ที่เมืองทองธานี โดยได้รับเกียรติจาก นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานมอบรางวัล
ในปีนี้ สวทช. ได้รับรางวัลประสิทธิภาพด้านการบริหารจัดการดีเด่น ซึ่งเป็นรางวัลสำหรับทุนหมุนเวียนที่มีการบริหารจัดการและปรับปรุงองค์กรที่ครอบคลุมตามกรอบการประเมินด้านการบริหารจัดการทุนหมุนเวียน และด้านการปฏิบัติงานของคณะกรรมการบริหาร
งานมอบรางวัลทุนหมุนเวียนดีเด่น ประจำปี 2566 มีคณะอนุกรรมการตัดสินรางวัลทุนหมุนเวียนดีเด่น ประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญและผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาต่างๆ ได้กำหนดกรอบหลักเกณฑ์การพิจารณาตัดสินรางวัลและประเมินผลการดำเนินงานทุนหมุนเวียนประจำปีบัญชี 2565 จำนวน 5 ประเภทรางวัล รวม 14 รางวัล จาก 9 หน่วยงาน ตามประเภทรางวัล ดังนี้
- รางวัลผลการดำเนินงานดีเด่น เป็นรางวัลสำหรับทุนหมุนเวียนที่มีผลการดำเนินงานโดยรวมดีเด่น ซึ่งสามารถดำเนินงานตามแผนงาน/โครงการที่กำหนดไว้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล บรรลุเป้าหมายตามภารกิจ และพิจารณาจากเกณฑ์การประเมินผลคะแนนในภาพรวมที่มีคะแนนมากกว่า 4.5 คะแนน จำนวน 3 ทุนหมุนเวียน ได้แก่ 1. กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2. กองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ 3. กองทุนเพื่อการพัฒนาระบบสาธารณสุข
- รางวัลการพัฒนาดีเด่น เป็นรางวัลสำหรับทุนหมุนเวียนที่มีการพัฒนา และปรับปรุงประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการดำเนินงานตามเป้าหมายหรือมาตรฐานที่กำหนดไว้ให้ดียิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งพิจารณาจากเกณฑ์การประเมินผลคะแนนในภาพรวมที่มีคะแนนมากกว่า 4 คะแนน และมีผลต่างคะแนนย้อนหลัง 2 ปีเป็นบวก จำนวน 4 ทุนหมุนเวียน ได้แก่ 1. กองทุนส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ 2. เงินทุนหมุนเวียนในการผลิตพันธุ์ปลา พันธุ์กุ้ง และพันธุ์สัตว์น้ำอื่น ๆ 3. กองทุนประกันสังคม 4.ประเภทชมเชย กองทุนหมุนเวียนเพื่อการกู้ยืมแก่เกษตรกรและผู้ยากจน
- รางวัลประสิทธิภาพด้านการบริหารจัดการดีเด่น เป็นรางวัลสำหรับทุนหมุนเวียนที่มีการบริหารจัดการและปรับปรุงองค์กรที่ครอบคลุมตามกรอบการประเมินด้านการบริหารจัดการทุนหมุนเวียน และด้านการปฏิบัติงานของคณะกรรมการบริหาร ซึ่งพิจารณาจากเกณฑ์การประเมินผลคะแนนรวมด้านการบริหารจัดการทุนหมุนเวียนที่มีผลคะแนนมากกว่า 4 คะแนน จำนวน 5 ทุนหมุนเวียน ได้แก่ ประเภทของการตรวจสอบภายในทุนหมุนเวียนที่ได้รับรางวัลทุนหมุนเวียนที่ใช้หน่วยงานตรวจสอบ ได้แก่ 1. กองทุนเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.) 2. กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 3. กองทุนเพื่อการพัฒนาระบบสาธารณสุข และประเภทของการตรวจสอบภายในทุนหมุนเวียนที่ใช้หน่วยงานตรวจสอบภายในจากหน่วยงานต้นสังกัด ได้แก่ 1. กองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ 2. เงินทุนหมุนเวียนค่าเครื่องจักรกลของกรมทางหลวง
- รางวัลผู้บริหารทุนหมุนเวียนดีเด่น เป็นรางวัลที่ยกย่องผู้บริหารทุนหมุนเวียนที่บริหารจัดการทุนหมุนเวียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล บรรลุตามเป้าหมาย หรือตามมาตรฐานที่กำหนดได้ในระดับดีขึ้นไป ซึ่งเกณฑ์การประเมินผู้บริหารทุนหมุนเวียนพิจารณาจากการได้รับรางวัลผลการดำเนินงานดีเด่นหรือพัฒนาการดำเนินงานดีเด่น โดยอยู่ในตำแหน่งอย่างน้อย 2 ปี จำนวน 2 ทุนหมุนเวียน ได้แก่ 1. นางสาวกรรณิกา เจริญลักษณ์ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ กองทุนส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ 2. นายสุธัญญ์ ฤทธิขาบ ผู้อำนวยการสำนักบริหารกองทุนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและรับเรื่องร้องเรียน กองทุนหมุนเวียนเพื่อการกู้ยืมแก่เกษตรกรและผู้ยากจน
- รางวัลเกียรติยศ เป็นรางวัลสำหรับทุนหมุนเวียนที่ได้รับรางวัลผลการดำเนินงานดีเด่นต่อเนื่อง 3 ปี ไม่มีทุนหมุนเวียนใดได้รับรางวัลในปีนี้
นางแพตริเซีย มงคลวนิช อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า “การมอบรางวัลทุนหมุนเวียนดีเด่นเป็นการสร้างความตระหนักรู้และขวัญกำลังใจให้แก่ทุนหมุนเวียนที่มีผลการปฏิบัติงานดีเด่นในด้านต่าง ๆ ตลอดจนสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของทุนหมุนเวียนในฐานะเป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐบาลในการขับเคลื่อนและยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยรวมของประเทศ เพื่อให้ประเทศก้าวไปข้างหน้า ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดี มีรายได้เพิ่มขึ้น และพัฒนาประเทศไทยไปด้วยกัน”