กระดูกและข้อโลหะต้นแขนเทียมส่วนบน สำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็ง

ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และกลุ่มศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ อนุสาขาเนื้องอกกระดูกและเนื้อเยื่ออ่อน ราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย โดยมี นพ.ปิยะ เกียรติเสวี จากโรงพยาบาลเลิดสิน เป็นแกนนำ มีความเห็นร่วมกันว่า

กระดูกเทียมสำหรับผู้ป่วยมะเร็งกระดูกมีราคาแพงเพราะต้องนำเข้าจากต่างประเทศ เบิกจ่ายจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ไม่ได้ อีกทั้งการใช้งานยังมีปัญหาหลายประการ จึงมีแนวคิดที่จะพัฒนากระดูกเทียมที่ผลิตในประเทศที่ตรงตามความต้องการ และราคาถูกลง โดยเริ่มจากกระดูกต้นแขนส่วนบนก่อนเป็นอันดับแรก

เป้าหมาย

การพัฒนากระดูกและข้อโลหะต้นแขนเทียมที่ได้มาตรฐาน ราคาเหมาะสม เพื่อผู้ป่วยมะเร็งกระดูกที่มีรายได้น้อยมีโอกาสได้ใช้กระดูกเทียม ไม่ต้องตัดแขน แพทย์มีทางเลือกในการรักษามากขึ้น อีกทั้งบริษัทเอกชนของไทยมีโอกาสทางธุรกิจในอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์

ผลการวิจัยและพัฒนา

ชิ้นงานกระดูกและข้อโลหะต้นแขนเทียมส่วนบนผ่านการทดสอบการใช้งานทางคลินิกในผู้ป่วยมะเร็งกระดูกจำนวน 10 ราย ในโรงพยาบาลชั้นนำของประเทศ ภายใต้การควบคุมของคณะกรรมการจริยธรรมวิจัยในมนุษย์ของทั้ง 3 แห่ง1 จากการทดสอบการใช้งานมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง พบว่าผลการรักษาเป็นที่น่าพอใจ ไม่มีโรคแทรกซ้อน ผู้ป่วยที่ได้รับการเปลี่ยนถ่ายกระดูกและข้อโลหะต้นแขนส่วนบน ยังมีแขนที่ขยับใช้งานได้ระดับหนึ่ง (แม้ว่าจะไม่สามารถขยับได้ 100%) ซึ่งช่วยเสริมบุคลิกภาพ และสร้างความมั่นใจในการใช้ชีวิตของคนไข้หลังการรักษาได้

สถานภาพปัจจุบัน

ได้อนุญาตให้สิทธิใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยเพื่อผลิตและขายผลิตภัณฑ์ “ผลงานวิจัยกระดูกต้นแขนเทียมส่วนบนชนิดปรับความยาวได้” แก่ บริษัท คอสโม เมดิเทค จำกัด แล้ว เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

แผนงานในอนาคต

ทีมวิจัยเอ็มเทค และทีมแพทย์มีความสนใจจะพัฒนากระดูกและข้อเทียมสำหรับส่วนอื่นของร่างกาย เช่น ข้อสะโพก เป็นต้น

1โรงพยาบาลเลิดสิน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย