คณะผู้บริหาร นักวิจัย และบุคลากร เนคเทค สวทช. นำโดย ดร.พนิตา พงษ์ไพบูลย์ รองผู้อำนวยการเนคเทค สวทช. และผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (SMC) ในฐานะหัวหน้าโครงการ IDA Platform ดร.รวีภัทร์ ผุดผ่อง ผู้อำนวยการฝ่ายความร่วมมืออุตสาหกรรมสมัยใหม่ สวทช. และ ดร.พรพรหม อธีตนันท์ รองผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์วิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยี เดินทางไปเยี่ยมชมผลการดำเนินงานโครงการ IDA Platform เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 65 ณ บริษัท ธนากรผลิตภัณฑ์น้ำมันพืช จำกัด ผู้ผลิตวัตถุดิบอาหารสัตว์และน้ำมันพืช ภายใต้แบรนด์ “กุ๊ก”
คุณอดุลย์ เผยว่า “IDA Platform ได้จุดประกายการเริ่มต้นยกระดับภาคการผลิตของบริษัท จากเดิมที่ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร หลังจากการเข้าร่วมเป็นโครงการนำร่องใช้งาน IDA Platform โดยได้รับการสนับสนุนจาก สวทช และบริษัทร่วมลงทุนเองเพิ่มเติมกว่า 9 แสนบาทเพื่อต่อยอดสู่ IDA TVOP Platform ประยุกต์ใช้ในงานส่วนอื่นของบริษัท เนื่องจากผลที่ได้จาก IDA Platform ตอบโจทย์การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของบริษัท”
เริ่มแรกบริษัทได้หารือร่วมกับทีมเพื่อเลือกเครื่องจักรที่มีความสำคัญต่อกระบวนการผลิตมากที่สุด ทั้งในบริบทของผลกระทบที่เกิดขึ้นหากเครื่องจักรเสียหาย ระยะเวลาในการซ่อมแซม โดยติดตั้งสำหรับอุปกรณ์จาก IDA Platform และ Sensor ตรวจวัดความผิดปกติของของเครื่องจักร เช่น Vibration Transmitter-วัดการสั่นสะเทือนของมอเตอร์ Temperature Transmitter-วัดอุณหภูมิภายในมอเตอร์ Pressure Transmitter-ตรวจวัดแรงดันเพื่อดูการตันของระบบหล่อลื่นน้ำมัน Power Meter-อุปกรณ์สำหรับวัดปริมาณการใช้ไฟฟ้า เป็นต้น และเชื่อมต่อข้อมูลจากฮาร์ดแวร์ที่ติดตั้งเข้ากับระบบ URCONNECT จากนั้นส่งข้อมูลทั้งหมดจาก Node Red ผ่านระบบ Internet ไปยัง NEXPIE ที่เป็น Cloud Server
จากเดิมที่เมื่อเกิดความเสียหายกับเครื่องจักรจะซ่อมแซมเป็นรายครั้ง กระทบความต่อเนื่องของการผลิต เมื่อมีข้อมูลจาก IDA Platform ทำให้ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สามารถตรวจสอบข้อมูลแบบ Real-time เพื่อเข้าแก้ไข หรือ หยุดการทำงานของเครื่องจักรก่อนเกิดความเสียหาย อีกทั้งยังสามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์หาสาเหตุที่แท้จริงของปัญหา ค้นหาจุดบกพร่อง หรือดูแนวโน้มปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาเพื่อคาดการณ์และป้องกันการเกิดเหตุซ้ำในอนาคต
บริษัทฯ ได้ต่อยอดประโยชน์จากส่วนนี้ในการสร้างระบบแจ้งเตือนแบบเฉพาะเจาะจง เมื่อเกิดความผิดปกติที่ทำให้กระบวนการผลิตหยุดชะงัก กระทบกับคุณภาพของสินค้า ที่เจ้าหน้าที่ต้องเข้าตรวจสอบและแก้ไขในทันที “ก่อนหน้านี้เคยมีกระเปาะน้ำมันชำรุดโดยที่ไม่มีใครรู้ ส่งผลให้เกียร์เกิดความเสียหายกระทบต่อการผลิตในระยะเวลากว่า 4 เดือน ที่ต้องลดกำลังการผลิตลง มีค่าอะไหล่และซ่อมแซมประมาณ 6 แสนบาท เมื่อเราประยุกต์ใช้ IDA Platfom หากมีสัญญาณผิดปกติเกี่ยวกับน้ำมัน เราจะสั่งหยุดมอเตอร์ทันที ช่วยป้องกันก่อนเกิดความเสียหายมาแล้วหลายครั้ง” คุณอดุลย์ กล่าวเสริม
ในด้านการจัดการพลังงาน บริษัทฯ สามารถตรวจสอบการใช้พลังงานไฟฟ้าเทียบกับมาตรฐานในแต่ละกระบวนการผลิต เพื่อปรับปรุงหรือวางแผนการใช้พลังงานให้เหมาะสม ทำให้สามารถลดค่าพลังงาน ประหยัดต้นทุนไฟฟ้าในแต่ละส่วนการผลิตลงได้ อีกทั้งบริษัทกำลังต่อยอดนำข้อมูลพลังงานจาก IDA Platform มาประมวลผลสร้างรายงานดิจิทัลแบบอัตโนมัติ รวมถึงเพิ่มเติมการประมวลผลค่า Carbon Footprint และ Carbon Credit อีกด้วย นอกจากนี้ Dashboard แบบ Real-time จาก IDA Platform ยังช่วยเป็นฐานในการวางแผนการทำงานของบุคลากรในช่วง COVID-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยคุณอดุลย์ เล่าว่า “ในช่วง COVID-19 บริษัทยังสามารถดำเนินการได้ปกติ เนื่องจากผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สามารถดูข้อมูลจากที่ไหนก็ได้ เราจึงปรับเวลาการทำงานของเจ้าหน้าที่ในรูปแบบ 4-2-2 คือ เข้ามาทำงานที่บริษัท 4 วัน Work from home 2 วัน และหยุด 2 วัน หากเกิดปัญหาสามารถ remote online เข้ามาแก้ไขได้ทันที”
ในช่วงท้ายบริษัท ธนากรผลิตภัณฑ์น้ำมันพืช จำกัด พร้อมด้วยกลุ่มบริษัทในเครือ PPG (Poonphol Group) ได้แก่ บริษัท SMS Corporation จำกัด นำโดย ดร. วีรวัฒน์ เลิศวนวัฒนา Chief Executive Officer บริษัท Siam Modified Starch โดย คุณณัฐชัย หวั่งหลี Managing director และทีมบริหาร จาก บริษัท สิทธินันท์ จำกัด บริษัท Siam Quality Starch จำกัด ได้ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองโจทย์ความท้าทายในกระบวนการผลิต และข้อเสนอแนะที่มีต่อโครงการฯ พร้อมด้วยคณะนักวิจัยเนคเทค สวทช. ได้แก่ ดร.กุลชาติ มีทรัพย์หลาก หัวหน้าทีมระบบไซเบอร์-กายภาพ (CPS) ดร.ชาลี วรกุลพิพัฒน์ หัวหน้าทีมวิจัยความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ (SEC) ดร.เฉลิมพล ชาญศรีภิญโญ ผู้อำนวยการฝ่ายและผู้เชี่ยวชาญวิจัยอาวุโสด้านสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา และทีมงานโครงการ IDA Platform ร่วมรับโจทย์การวิจัยเพิ่มเติมในอนาคต
- ดร.พนิตา ดร.รวีภัทร์ และ ดร.พรพรหม ได้นำเสนอผลงานวิจัยเนคเทค สวทช. และบริการของศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (SMC) ที่ช่วยตอบโจทย์การยกระดับกระบวนการผลิตในอนาคตได้เป็นอย่างดี ตั้งแต่การประเมินสถานะอุตสากรรม การพัฒนาบุคลากร ที่ปรึกษาด้านการใช้เทคโนโลยี แหล่งทุน และสิทธิประโยชน์ด้านภาษี พื้นที่ทดสอบการใช้งานเทคโนโลยี (Testbed) ไปจนถึงการพัฒนาเทคโนโลยีที่เฉพาะเจาะจงกับแต่ละโจทย์ของอุตสาหกรรม โดย SMC มีเป้าหมายพัฒนาเทคโนโลยีให้ภาคอุตสาหกรรมเข้าถึงได้ ใช้งานได้จริง ในราคาที่เหมาะสม