แนะนำกิจกรรม
เสด็จพระราชดำเนิน เยี่ยมชมสถาบันเดชี
เมื่อครั้งที่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมชม สถาบันเดซี ( Deutsches Electronen-Synchrotron :DESY) ในวันที่ 21 สิงหาคม 2545 ณ เมืองแฮมบวร์ก ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน และทางสถาบันเดซีได้ทูลเกล้าฯ ถวายทุน โครงการนักศึกษาภาคฤดูร้อนเดซี ( DESY Summer Student Program) เป็นเวลา 3 ปี จำนวนปีละ 1 ทุน เพื่อให้นักศึกษาไทย ในสาขา วิทยาศาสตร์ ธรรมชาติ ซึ่งผ่าน หลักสูตรในระดับปริญญาตรีมาแล้ว 3 ปี เข้าร่วมกิจกรรมปฏิบัติการวิจัยระยะสั้น ที่เกี่ยวข้องกับการทดลอง สาขาฟิสิกส์ของ อนุภาคมูลฐาน (Experiments in Elementary Particle Physics) การทดลอง ที่ใช้แสงซินโครตรอน (Experiments with Synchrotron Radiation) งานวิจัยเกี่ยวกับเครื่องเร่ง อนุภาค (Research on Accelerators) ทฤษฎีของอนุภาคมูลฐาน (Theory of Elementary Particles) และงาน เกี่ยวกับการคำนวณ (Computing in High Energy Physics) ในช่วงภาคฤดูร้อน ณ สถาบันดังกล่าว และต่อมา พระองค์ท่าน ได้โปรดเกล้าฯ ให้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ดำเนินการประกาศ รับสมัครเยาวชนไทยที่มีคุณสมบัติ เหมาะสม เพื่อคัดเลือกเข้าร่วมกิจกรรม ดังข้างต้น
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ จึงได้ร่วมมือกับ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ใน การดำเนินการ คัดเลือกนักศึกษาที่มีศักยภาพและคุณสมบัติ เหมาะสมในขั้นต้น แล้วนำความขึ้นกราบบังคมทูลสมเด็จพระเทพ รัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อทรงคัดเลือกในขั้นตอนสุดท้าย ให้นักศึกษาเป็นตัวแทนประเทศไทย เข้าร่วมกิจกรรมหลักในห้องปฏิบัติการของสถาบันเดซี ณ เมืองแฮมบวร์ก หรือเมืองซอยเธย์ ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันต่อไป
จากผล ดำเนินการโครงการนักศึกษาภาคฤดูร้อนเดซี ระยะที่ 1ได้ประสบผลสำเร็จอย่างดียิ่ง สถาบันเดซีได้ทูลเกล้าฯ ถวายทุนนักศึกษาภาคฤดูร้อนเดซี ในระยะ ที่ 2 เป็นเวลา 5 ปี จำนวนปีละ 2 ทุน โดยทางสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ จึงได้ร่วมกับ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ประชาสัมพันธ์และเปิดรับสมัครนักศึกษาเพื่อเข้าร่วมโครงการในปี 2549 – 2553 ต่อไป
แนะนำกิจกรรมนักศึกษาภาคดูร้อนเดซี
สถาบันเดซี (Deutsches Elektronen Synchotron:DESY) เป็นหนึ่งในบรรดาห้องปฏิบัติการชั้นนำของโลก ด้านฟิสิกส์ของอนุภาคมูลฐาน และงานวิจัยที่ใช้ แสงซินโครตรอน ในแต่ละปีจะมีนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกจำนวนกว่า 3,400 คน เข้ามาปฏิบัติการทดลอง ณ สถาบันเดซี โดยมีการทำวิจัย ทางด้านอนุภาค มูลฐาน ที่เน้นการใช้เครื่องเร่งอนุภาค เพื่อที่จะค้นหาอนุภาคมูลฐาน ที่เกิดจากการ ชนกัน ของอนุภาคอิเล็กตรอนและอนุภาคโปรตรอน และงานวิจัยทางด้านแสง ซินโครตรอน ซึ่งเป็นการนำเอาแสงซินโครตรอน ที่ผลิตจากวงแหวนกักเก็บอนุภาค พลังงานสูง ไปใช้ประโยชน์ ในงานวิจัยพื้นฐาน และงานวิจัยประยุกต์ในสาขาฟิสิกส์ ชีววิทยา เคมี วัสดุศาสตร์ธรณีวิทยาและแพทยศาสตร์
ในแต่ละภาคฤดูร้อน สถาบันเดซีได้เปิดโอกาสให้นักศึกษาที่ผ่านการคัดเลือก ในสาขาฟิสิกส์ และวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ สาขาต่างๆ เข้าร่วมกิจกรรม วิจัยในห้องปฏิบัติการ ณ เมืองแฮมเบิร์ก หรือเมืองซอยเธย์ ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน โดยสามารถเลือกกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่ง ดังต่อไปนี้
กิจกรรมที่ 1 การทดลองในสาขาฟิสิกส์ของอนุภาคมูลฐาน (Experiments in Elementary Particle Physics)
นักศึกษาจะได้เข้าร่วมกลุ่มวิจัยในโครงการวิจัย H1, HERA-B, HERMES หรือ ZEUS ณ ห้องปฏิบัติการของสถาบันเดซี ในการค้นหาและศึกษาคุณสมบัติของอนุภาคมูลฐาน นักศึกษาอาจจะเลือกเข้าร่วมกลุ่มวิจัยในสาขา Neutrino-Astrophysics ลักษณะของกิจกรรมวิจัยแบ่งได้เป็น 3 รูปแบบ 1) งานวิเคราะห์เชิงฟิสิกส์ 2) งานพัฒนาอุปกรณ์การทดลอง และ 3) งานประมวลข้อมูล
กิจกรรมที่ 2 การทดลองที่ใช้แสงซินโครตรอน (Experiments with Synchrotron Radiation)
นักศึกษาจะได้เข้าร่วมกลุ่มวิจัยของห้องปฏิบัติการเฮซ่แล็บ (HASYLAB) ณ เมืองแฮมเบิร์ก สัมผัสกับงานวิจัยพื้นฐานและงานวิจัยประยุกต์ในสาขาฟิสิกส์ ชีววิทยา เคมี วัสดุศาสตร์ ธรณีวิทยาและแพทยศาสตร์ นักศึกษาจะมีโอกาสในการร่วมเตรียมการทดลอง ทำการทดลองโดยอาศัยเทคนิคการวัดที่ใช้แสงซินโครตรอน ตลอดจนการวิเคราะห์ข้อมูล หรือเข้าร่วมงานพัฒนาเครื่องมือที่ใช้ในการทดลอง
กิจกรรมที่ 3 งานวิจัยเกี่ยวกับเครื่องเร่งอนุภาค (Research on Accelerators)
นักศึกษาได้เข้าร่วมกลุ่มวิจัยที่ทำงานพัฒนาเครื่องเร่งอนุภาค กิจกรรมวิจัยครอบคลุมโครงการต้นแบบของเครื่องสำหรับการชนกันของอนุภาคในแนวตรงที่มีชื่อว่า เทสลา (TESLA) และงานวิจัยในสาขาที่เกี่ยวกับแม่เหล็กตัวนำยิ่งยวด และห้องเร่งอนุภาคตัวนำยิ่งยวด
กิจกรรมที่ 4 ทฤษฎีของอนุภาคมูลฐาน (Theory of Elementary Particles)
นักศึกษาจะต้องเลือกเข้ากลุ่มวิจัยทางทฤษฎี กิจกรรมที่นักศึกษาจะทำขึ้นอยู่กับความรู้พื้นของนักศึกษา กิจกรรมโดยส่วนใหญ่จะเป็นการอ่านเอกสารวิจัยเพิ่มเติม และอภิปรายเกี่ยวกับ วิธีการวิจัยและนิยามทางทฤษฎีต่างๆ หรือการเข้าร่วมงานวิจัยง่ายๆ
กิจกรรมที่ 5 งานเกี่ยวกับการคำนวณ (Computing in High Energy Physics)
นักศึกษาจะได้เข้าร่วมงานเกี่ยวกับการคำนวณในสาขาฟิสิกส์พลังงานสูงในห้องปฏิบัติการ ณ เมืองซอยเธย์ โดยนักศึกษาจะมีโอกาสเข้าร่วมทดสอบ และพัฒนาชอฟท์แวร์ สำหรับคอมพิวเตอร์งานขนาน