สวทช. จัดสัมมนา “ถอดบทเรียนการดำเนินงานโครงการ Fabrication Lab โดยมหาวิทยาลัยพี่เลี้ยง”
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยฝ่ายวิชาการ หลักสูตร และสื่อการเรียนรู้ จัดสัมมนาออนไลน์ หัวข้อ “ถอดบทเรียนการดำเนินงานโครงการ Fabrication Lab โดยมหาวิทยาลัยพี่เลี้ยง” ในวันพุธที่ 29 มิถุนายน 2565 เวลา 09.00 – 12.30 น. ผ่านระบบออนไลน์ด้วยโปรแกรม Zoom
โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานมหาวิทยาลัยพี่เลี้ยง จำนวน 10 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และผู้แทนจากหน่วยงานพันธมิตรที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ร่วมบรรยายแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์ และถอดบทเรียนการดำเนินงานโครงการ Fabrication Lab เพื่อหาแนวทางการดำเนินงานต่อในอนาคตเพื่อให้เกิดความยั่งยืน และงานสัมมนาในครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก ดร.ชฎามาศ ธุวะเศรษฐกุล รองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สายงานพัฒนากำลังคนทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวต้อนรับและกล่าวเปิดงาน
การสัมมนาบรรยายการถอดบทเรียนการดำเนินงานโครงการ Fabrication Lab ในหัวข้อ
“แนวทางการจัดการหลักสูตรการเรียนการสอนอย่างมีประสิทริภาพ และปัญหาและการแก้ปัญหาให้กับสถานศึกษาในโครงการ” โดย
“แนวทางในการพัฒนาทักษะและความสามารถของครูผู้สอน และแนวทางการพัฒนาสถานศึกษาในกลุ่มที่ขาดความพร้อม” โดย
📝 10 ข้อคิดเห็นดีๆ จากมหาวิทยาลัยพี่เลี้ยง ในงานสัมมนา “ถอดบทเรียนการดำเนินงานโครงการ Fabrication Lab เพื่อการดำเนินงานต่อในอนาคตให้เกิดความยั่งยืน
1. ให้ตามหาครูที่มี Passion มีใจรักงานด้านนี้จริงๆ พบว่า ในแต่โรงเรียนแม้จะมีครูแบบนี้แค่หนึ่งคน เขาจะมีพลังจากข้างในจริงๆ เป็นผู้ขับเคลื่อนสำคัญในโรงเรียน ฝ่าฟันอุปสรรค ผลักดันสิ่งต่างๆ ไม่ย่อท้อ และพัฒนางานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรม หลักสูตร การพัฒนาห้อง FabLab ให้มีชีวิต และต่อยอดจนได้ผลงานของนักเรียนรับรางวัลหรือมีผลงานเชิงประจักษ์
2. ควรนำความคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) มาใช้ในการสอนโครงงานและสิ่งประดิษฐ์ในสถานศึกษา เพื่อพัฒนานักเรียนให้เข้าใจได้ลึกซึ้ง และสร้างชิ้นงานที่ตอบโจทย์ต่อผู้ใช้หรือสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3. การปิดช่องว่างเพื่อให้เกิดการพัฒนาโครงการอย่างต่อเนื่อง คือ การสร้างสมรรถนะผู้บริหารสถานศึกษาให้เข้มแข็ง มีความรู้ความเข้าใจและสนับสนุนโครงการอย่างจริงจัง เพราะผู้บริหารสถานศึกษา คือ ผู้อยู่ตรงกลางระหว่างภาคส่วนนโยบายระดับกระทรวงและโครงการ กับกลุ่มระดับปฏิบัติการ เช่น ครูอาจารย์ วิศวกรโครงการ
4. FabLab จะเป็นผู้ช่วยครูให้จัดการเรียนการสอนที่รับผิดชอบได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยไม่เป็นภาระเพิ่ม โดยครูสามารถจัดการสอนตามหลักสูตรที่รับผิดชอบ โดยครูต้องวิเคราะห์ตัวชี้วัดว่า กิจกรรม FabLab จะอยู่ในส่วนไหน จะช่วยครูได้อย่างไร
5. การเชื่อมโยงกับชุมชนและปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตและท้องถิ่นจริงๆ ทำให้สร้างสรรค์โครงงานที่น่าสนใจและมีคุณค่า ดังนั้น ควรส่งเสริมเด็กๆ ได้ออกไปทำความเข้าใจปัญหาและชุมชนมากกว่าอยู่แค่ในโรงเรียน
6. ควรส่งเสริมและสร้างพื้นที่ให้นักเรียนได้ประกวดแข่งขัน เพื่อกระตุ้นส่งเสริมการพัฒนาชิ้นงาน และให้ความสำคัญในการพัฒนาศักยภาพและความสามารถของเด็กที่เพิ่มขึ้นจากการทำโครงงานมากกว่าวัดผลจากรางวัล
7. หลักสูตรควรมีการปรับปรุงให้ทันสมัยทุกปี สถานศึกษานำ FabLab ไปใช้ในการจัดการเรียนการสอน วิชาออกแบบและเทคโนโลยี โครงงานวิทยาศาสตร์ สะเต็มศึกษา แล้ว ยังสามารถนำ FabLab ในเป็นผู้ช่วยในการออกแบบสิ่งประดิษฐ์ที่ฝังอยู่ในทุกวิชาของการเรียนการสอนได้ เช่น ฟิสิกส์ ชีววิทยา เคมี การงานพื้นฐานอาชีพ
8. การพัฒนาและส่งเสริมสถานศึกษาแต่ละแห่ง ควรคำนึงถึงบริบทเฉพาะแต่ละแห่งด้วย เช่น โรงเรียนขนาดเล็กอยู่ห่างไกล โรงเรียนขนาดใหญ่ วิทยาลัยเทคนิค ความสนใจและความพร้อมของเด็กแต่ละที่ไม่เหมือนกัน
9. การให้ความรู้ผ่านระบบออนไลน์ เป็นอีกหนึ่งรูปแบบที่ทำได้ดี ประหยัด และลดเวลาการเดินทาง ปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยและหลายหน่วยงานจากทั่วโลกพัฒนาสื่อการให้ความรู้ด้านนี้ได้อย่างน่าสนใจ ตั้งแต่การใช้เครื่องมือ คู่มือการผลิตชิ้นงาน ตัวอย่างกิจกรรมที่น่าสนใจ เช่น มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ พิพิธภัณฑ์ต่างๆ
10. การนำ FabLab พัฒนาเด็กเพื่อก้าวเข้าสู่สังคมยุคดิจิทัล เพื่อเตรียมความพร้อมด้านอาชีพในอนาคต เช่น Data Science, Fourth Industrial Revolution
***************************************************
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อศึกษาวิจัยและพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไรหากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร Sirindhorn Science Home (SSH)
132 อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ถ.พหลโยธิน ต.คลองหนึ่ง
อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี 12120
โทรศัพท์ 0 2529 7100