สวทช. ประกาศผลโครงการประกวดทักษะการพัฒนาต้นแบบทางวิศวกรรมระดับประเทศ FabLab Thailand Student Design and Engineering Project Competition 2020

สวทช. ประกาศผลโครงการประกวดทักษะการพัฒนาต้นแบบทางวิศวกรรมระดับประเทศ FabLab Thailand Student Design and Engineering Project Competition 2020

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ประกาศผลโครงการประกวดทักษะการพัฒนาต้นแบบทางวิศวกรรมระดับประเทศ (FabLab Thailand Student Design and Engineering Project Competition 2020) ตอน “ประลองความคิด ประดิษฐ์นวัตกรรม เพื่อชุมชน” ภายใต้โครงการโรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม (Fabrication Lab) เพื่อพัฒนาทักษะความเป็นนวัตกรแก่เด็กและเยาวชนไทย เมื่อวันพุธที่ 30 กันยายน 2563 ณ ห้องออดิทอเรียม อาคารบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จังหวัดปทุมธานี โดยมี ดร.ชฏามาศ ธุวะเศรษฐกุล รองผู้อำนวยการ สวทช. เป็นประธาน และมี ดร.อ้อมใจ ไทรเมฆ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. (สายงานพัฒนากำลังคนทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี) พร้อมผู้แทนจากบริษัท เอ็กซ์วายแซดพริ้นติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้นำทีมคณะกรรมการในการตัดสินผลการประกวด

ดร.ชฏามาศ ธุวะเศรษฐกุล รองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า จากที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2561 อนุมัติงบประมาณสนับสนุนโครงการขนาดใหญ่ที่มีผลกระทบต่อภาคสังคมอย่างกว้างขวาง (Big Rock Project) สวทช. ได้รับมอบหมายดำเนินการ โครงการโรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม (Fabrication Lab) เพื่อพัฒนาทักษะความเป็นนวัตกรแก่เด็กและเยาวชนไทย โดยโครงการประกวดทักษะการพัฒนาต้นแบบทางวิศวกรรมระดับประเทศในครั้งนี้เป็นโครงการภายใต้โครงการโรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม (Fabrication Lab) ที่จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมและสร้างแรงบันดาลใจให้นักเรียน นักศึกษา ให้ได้มีโอกาสคิดค้น สร้างสรรค์ พัฒนาต่อยอดผลงาน ด้วยการออกแบบเชิงวิศวกรรม โดยใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ในโครงการฯ รวมถึงเข้าใจและเห็นถึงปัญหาในบริบทชุมชนโดยรอบของสถานศึกษาของตนเอง จนนำไปสู่ความร่วมมือ ในการวางแผนร่วมกันแก้ไขปัญหา โดยใช้ทักษะการประดิษฐ์จากห้องปฏิบัติการ FabLab เป็นการผลักดันให้เกิด การสร้างนวัตกร สร้างอาชีพ และสร้างชาติต่อไป โดยทีมที่ส่งผลงานประกวด เป็นนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือนักศึกษาระดับ ปวช. ในสังกัดสถานศึกษา ซึ่งในโครงการฯ มีผลงานที่สมัครเข้ามา จำนวน 177 โครงงานจาก 75 สถานศึกษา และได้คัดเลือกผลงานผ่านเข้าสู่รอบสุดท้าย เหลือจำนวน 12 โครงงาน เพื่อตัดสินหาทีมที่ชนะเลิศ จำนวน 3 ทีม โดยแบ่งเป็นสาขา 3 สาขา ได้แก่ สาขาการเกษตรแบบยั่งยืน สาขาพลิกฟื้นคืนวิถีชุมชน และสาขาสร้างสังคมแห่งอนาคต โดยในวันนี้ได้เห็นจากผลงานที่มานำเสนอแล้วว่า มีความสร้างสรรค์ และมีศักยภาพที่จะนำมาให้เกิดประโยชน์กับชุมชนได้

นายวรกร บุญประสิทธิ์ผล ผู้จัดการฝ่ายขาย ผู้แทนบริษัท เอ็กซ์วายแซดพริ้นติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ ได้ตระหนักถึงคุณค่าด้านการส่งเสริมการศึกษาให้แก่นักเรียน นักศึกษาในประเทศไทย ที่ผ่านมาได้ทราบว่า สวทช. ดำเนินการจัดซื้อเครื่องพิมพ์สามมิติ เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ให้แก่ 150 สถานศึกษา ใน 68 จังหวัดทั่วประเทศ ผ่านโครงการโรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม (Fabrication Lab) เพื่อพัฒนาทักษะความเป็นนวัตกรแก่เด็กและเยาวชนไทย และได้ถูกนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์แก่สถานศึกษาและชุมชนใกล้เคียง อีกทั้งในช่วงเวลาสภาวะปกติ และในช่วงที่เกิดสถานการณ์ COVID-19 ทำให้เห็นถึงประโยชน์ของเทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติมากยิ่งขึ้น ในการจัดประกวดครั้งนี้ ทางบริษัทฯ ได้สนับสนุนทุน รวมถึงของรางวัล อันได้แก่ เครื่องพิมพ์สามมิติขนาดการพิมพ์ 20x20x20 เซนติเมตร และทุนสนับสนุนกิจกรรมฝึกปฏิบัติการทักษะเชิงวิศวกรรมและการเยี่ยมชมหน่วยงานนวัตกรรมและเทคโนโลยี ณ ไต้หวัน โดยมอบให้แก่สถานศึกษาที่ชนะเลิศในแต่ละสาขา รวม 3 รางวัล ทั้งนี้ ขอแสดงความยินดีกับทีมที่ชนะเลิศทั้ง 3 ทีม และทางบริษัทฯ ยังคงยืนยันที่จะมุ่งมั่นส่งเสริมกิจกรรมต่าง ๆ ให้แก่เยาวชนในด้านการศึกษาไทยต่อไป

 

โดยรางวัลชนะเลิศ สาขาการเกษตรแบบยั่งยืน ได้แก่ โรงเรียนแม่สะเรียง “บริพัตรศึกษา” ในผลงาน “โรงเรือนเอื้องแซะ” เป็นโรงเรือนอัจฉริยะที่ทำการทดลองปลูกกล้วยไม้เอื้องแซะ ซึ่งเป็นพันธุ์กล้วยไม้พื้นเมืองที่สำคัญของภาคเหนือที่มีมูลค่าสูงสามารถนำไปสกัดเป็นน้ำหอมกลิ่นธรรมชาติได้ “โรงเรือนเอื้องแซะ” สามารถควบคุมอุณหภูมิ ความชื้น แสงสว่าง รวมถึงปริมาณการให้ปุ๋ยที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโต โดยมีการแสดงผลต่างๆ เชื่อมโยงกับระบบ Internet of Things (IoT) ผ่านสมาร์ทโฟน จึงทำให้โรงเรือนฯ ดังกล่าว สามารถปลูกกล้วยไม้เอื้องแซะในต่างพื้นที่ได้ อีกทั้งยังช่วยยืดระยะการออกดอกให้นานขึ้นมากกว่าเดิมถึง 2 เท่า

 

รางวัลชนะเลิศ สาขาพลิกฟื้นคืนวิถีชุมชน ได้แก่ โรงเรียนส่วนบุญโญปถัมภ์ ลำพูน ในผลงาน “ตักบาตรเติมบุญ” เป็นผลงานสิ่งประดิษฐ์ที่นำเอาอุปกรณ์ ALMS-Tracking จัดเก็บพิกัด GPS ของพระภิกษุขณะบิณฑบาต โดยใช้งานร่วมกับแอปพลิเคชันตักบาตรเติมบุญ ที่ผู้พัฒนาเขียนขึ้นเอง เพื่อรายงานตําแหน่งพิกัดของพระภิกษุบนแผนที่ ช่วยให้ผู้ใส่บาตรทราบถึงพิกัดของพระภิกษุขณะบิณฑบาตฯ ทำให้ไม่ต้องรอใส่บาตรนานและใช้เวลาไปทำกิจกรรมอื่น ๆ ได้

 

รางวัลชนะเลิศ สาขาสร้างสังคมแห่งอนาคต ได้แก่ โรงเรียนวิสุทธรังษี จังหวัดกาญจนบุรี ในผลงาน “อุปกรณ์ช่วยต่อลมหายใจฉุกเฉิน” เป็นอุปกรณ์สําหรับการเลื่อนกระจกรถยนต์ลงในกรณีที่อุณหภูมิภายในห้องโดยสารสูงเกิน 40 องศาเซลเซียส หรือปริมาณแก๊สคาร์บอนมอนอกไซด์สูงเกิน 50 ppm ชุดควบคุมจะสั่งให้มอเตอร์กระจกไฟฟ้ารถยนต์ลดกระจกลงตามค่าที่กําหนดไว้ เพื่อระบายความร้อนและลดปริมาณแก๊สคาร์บอนมอนอกไซด์สะสม ช่วยลดความเสี่ยงในการเสียชีวิตในรถยนต์ได้

ดูภาพบรรยากาศเพิ่มเติม คลิกที่นี่ 

ผลงานสิ่งประดิษฐ์ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ใน สาขาการเกษตรแบบยั่งยืน สาขาพลิกฟื้นคืนวิถีชุมชน และ สาขาสร้างสังคมแห่งอนาคต ตามลำดับ

     

ดูผลงานสิ่งประดิษฐ์ที่ผ่านเข้ารอบ 12 ทีม คลิกที่นี่

Post Views: 402