จากการอบรมขยายผลสู่กิจกรรมในหลักสูตร “สนุกคิดพิชิตยานยนต์ล้อเดียว”
เพื่อนำไปใช้ในชั้นเรียนระดับมัธยมศึกษา ภายใต้โครงการโรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม (Fabrication Lab)
เพื่อพัฒนาทักษะความเป็นนวัตกรแก่เด็กและเยาวชนไทย
เป็นที่ทราบกันดีว่า โครงการโรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม (Fabrication Lab หรือ FabLab) เป็นส่วนหนึ่งในโครงการขนาดใหญ่ที่มีผลกระทบต่อภาคสังคมอย่างกว้างขวาง (Big Rock Project) จากภาครัฐ โดยส่งเสริมให้มีการจัดพื้นที่การเรียนรู้ห้อง FabLab ในสถานศึกษา 150 แห่ง กระจายอยู่ 68 จังหวัด (ดูรายชื่อสถานศึกษาในโครงการฯ) และพัฒนากิจกรรมสำหรับนักเรียนและครูให้มีทักษะสะเต็มศึกษา (STEM Education) ด้านวิศวกรรมศาสตร์ มีความคิดสร้างสรรค์ สามารถออกแบบและสร้างชิ้นงานโดยการใช้เครื่องมือและพื้นที่ส่งเสริมการเรียนรู้ในห้อง FabLab ได้
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ฝ่ายวิชาการ หลักสูตร และสื่อการเรียนรู้ สวทช. จึงได้ออกแบบ หลักสูตรกิจกรรมการอบรมครูในรูปแบบออนไลน์ หลักสูตร “สนุกคิดพิชิตยานยนต์ล้อเดียว” เพื่อนำไปใช้ในชั้นเรียนระดับมัธยมศึกษา โดยจัดการอบรมเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา เพื่อเสริมศักยภาพให้ครูทั้งในและนอกโครงการฯ จำนวน 35 คน จาก 24 โรงเรียน
ดูกำหนดการกิจกรรม คลิกที่นี่
วัตถุประสงค์การอบรม
บทสัมภาษณ์คุณครูในโครงการฯ ที่ร่วมเข้ารับการอบรมออนไลน์
คุณครูกิตติมา สุวรรณภา
โรงเรียนชิตใจชื่น จังหวัดปราจีนบุรี
ดิฉันมีความรู้สึกว่าโครงการ FabLab เป็นโครงการที่มีประโยชน์และสำคัญอย่างยิ่งต่อการศึกษาไทยในปัจจุบัน โครงการ FabLab ทำให้โรงเรียนชิตใจชื่น จังหวัดปราจีนบุรี ได้มีห้องปฏิบัติการ FabLab ที่มีความพร้อมในการเรียนรู้ เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้ขั้นตอน วิธีการ และมีประสบการณ์ สามารถออกแบบและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆให้มีคุณค่าที่เรียกว่า นวัตกรรม เป็นห้องที่ทำให้นักเรียนเกิดแรงบันดาลใจที่มีอาชีพวิศวกรและอาชีพนวัตกรในอนาคต
การใช้งานหรือการให้บริการของห้อง FabLab ในโรงเรียนชิตใจชื่นนั้น มีการใช้งานในการเรียนการศึกษาค้นคว้าและสร้างองค์ความรู้ (IS) เดิมอยู่แล้ว และในเวลาว่างของนักเรียนที่สนใจนอกเหนือจากเวลาเรียน ก็สามารถเข้ามาเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง ภายในห้อง FabLab จะมีครูผู้ดูแล และให้คำแนะนำนักเรียนตลอดเวลา แต่เนื่องจากปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบในการเรียนรู้ของนักเรียนเป็นอย่างมาก ครูผู้ดูแลห้อง FabLab จึงเพิ่มมาตรการการเข้าใช้ห้อง อาทิ สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆด้วยเจลแอลกอฮอล์ เว้นระยะห่างทางสังคม เป็นต้น เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และเพื่อให้นักเรียนสามารถเข้าใช้งานส่งเสริมการพัฒนาทักษะของนักเรียนได้ทุกช่วงเวลา
สำหรับการเข้ารับการอบรมออนไลน์ “สนุกคิดพิชิตยานยนต์ล้อเดียว” ที่ผ่านมานี้ องค์ความรู้ที่ได้รับดิฉันได้รู้และเข้าใจในหลักการทำงานของยานยนต์ล้อเดียว ใช้หลักการการเคลื่อนที่แบบการกลิ้ง (Rolling) และ การเคลื่อนที่ (Translation) ซึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อการเคลื่อนที่แบบกลิ้งของ ยานยนต์ล้อเดียว มีอยู่หลายปัจจัย แต่ปัจจัย ที่มีความสำคัญมากคือเรื่องของแรงบิด (Torque) และโมเมนต์ของแรง (Moment of force) โดยมีรายละเอียด ของหลักการเคลื่อนที่แบบหมุนและเข้าใจถึงปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลต่อการเคลื่อนที่ การเรียนรู้วงจรไฟฟ้าอย่างง่าย
ดิฉันจะนำความรู้ที่ได้ไปใช้ในการจัดการเรียนรู้ภายในห้องเรียน และห้องปฏิบัติการ FabLab เพื่อพัฒนาทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และทักษะด้านการออกแบบทางวิศวกรรม ตัวอย่างการจัดการเรียนรู้ เช่น เรื่องการเรียนรู้วงจรไฟฟ้าอย่างง่าย ดิฉันจะนักเรียนฝึกทำวงจรอย่างง่าย สามารถต่อวงจรและบัดกรีวงจรได้ สามารถปฏิบัติการประกอบ การสร้าง และการทดลองใช้งานยานยนต์ล้อเดียวได้ ด้วย โปรแกรม 123D Design แล้วนำแบบที่ได้มาสร้างชิ้นงานด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ เครื่องตัดเลเซอร์ เพื่อนักเรียนได้พัฒนาทักษะสำคัญในศตวรรษที่ 21 ได้แก่ ความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบ การทำงานเป็นทีม การรู้จักการนำเสนอและสื่อสารให้น่าสนใจ ความคิดขั้นสูงในการแก้ไขปัญหา สรุปท้ายด้วยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อให้เกิดการนำไปใช้ได้จริงในชั้นเรียน ทำให้มีประสิทธิภาพและก่อประโยชน์สูงสุดต่อผู้เรียน
จากกิจกรรมในการอบรม ส่วนตัวได้วางแนวทางการนำกิจกรรมไปจัดการเรียนการสอนในสถานศึกษาของดิฉัน คือ จัดการเรียนการสอนในรายวิชา การศึกษาค้นคว้าและสร้างองค์ความรู้ (IS) เป็นวิชาที่เน้นให้ผู้เรียน คิด วิเคราะห์ ตั้งประเด็นปัญหา หาคำตอบ และรายงานผลการศึกษาของตัวเองผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งจากการอบรมยานยนต์ล้อเดียว ดิฉันจะนำหลักการเคลื่อนที่ และวงจรไฟฟ้ามาต่อยอดให้เรียนเกิดแรงบันดาลใจในการสร้างนวัตกรรมต่อไปในอนาคต เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียน และจะนำเข้าสู่กิจกรรม ชุมนุม CJC Maker Club ที่จัดตั้งขึ้นภายใต้โครงการโรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม (Fabrication Lab) ดิฉันจะนำองค์ความรู้ด้านการออกแบบทางวิศวกรรมมาเข้าสู่ภายในกิจกรรม เพื่อให้ผู้เรียนได้มีทักษะในด้านการออกแบบและการทำงานเป็นทีม สามารถนำเสนอชิ้นงานและสื่อสารให้มีความน่าสนใจยิ่งขึ้น เพื่อที่จะทำให้ ชุมนุม CJC Maker Club สามารถเป็นแนวทางที่จะส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถสร้างนวัตกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพและก่อประโยชน์สูงสุดในอนาคตต่อไป
ส่งท้ายนี้ดิฉันอยากให้ทุกคนเห็นคุณค่าและความสำคัญของห้อง FabLab และ โครงการโรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม (Fabrication Lab) เพราะดิฉันเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการนี้จะสามารถพัฒนาทักษะ Innovator ให้แก่เด็กและเยาวชน สู่การเป็นนวัตกรในอนาคตค่ะ
//////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////
คุณครูพิชญะ โชคพล
โรงเรียนอุทัยวิทยาคม จังหวัดอุทัยธานี
จากที่ผมได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ FabLab และได้ทำหน้าที่เป็นครูผู้ประสานงานโครงงานฯ นั้น อย่างแรกผมมีความรู้สึกดีใจมาก เพราะเป็นโครงการฯ ที่ให้ความรู้ในการนำหลักการทางด้านวิศวกรรม ไปใช้ในการจัดการเรียนการสอน รวมถึงโครงการฯ สนับสนุนอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมากในปัจจุบัน ที่ครูผู้สอนจะสอนให้นักเรียนในโรงเรียน ได้เป็นผู้สร้างนวัตกรรม และฝึกกระบวนการคิดอย่างเป็นระบบและมีเหตุมีผล แต่ด้วยทางโครงการฯ มีการดูแลและให้คำแนะนำโดยมหาวิทยาลัยพี่เลี้ยงมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการจัดอบรมเสริมความรู้ และการเปิดพื้นที่ในการนำเสนอผลงานของนักเรียน ทำให้มั่นใจได้ว่าครูผ้สอนสามารถนำความรู้ที่ได้นำมาถ่ายทอดแก่นักเรียนในโรงเรียนได้อย่างเป็นกระบวนการและมีประสิทธิภาพแน่นอน
โรงเรียนอุทัยวิทยาคม จังหวัดอุทัยธานี เข้าร่วมโครงการ FabLab จนถึงปัจจุบัน โรงเรียนก็ได้มีการให้บริการ และพัฒนาห้องปฏิบัติการ FabLab อย่างต่อเนื่อง โดยโรงเรียนได้มีการจัดตั้ง ชุมนุมโรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม ขึ้นเพื่อส่งเสริมนักเรียนที่มีความสนใจและชื่นชอบในการสร้างนวัตกรรม ให้ได้มีพื้นที่ในการสร้างผลงานและผลิตชิ้นงานต่างๆ รวมถึงชุมมนุมฯ ยังบริการให้คำปรึกษาและให้คำแนะนำการใช้อุปกรณ์เครื่องมือ FabLab แก่นักเรียนและครูผู้สอนในรายวิชาอื่นๆ ที่สนใจอีกด้วย นอกจากนี้ยังเกิดการบูรณาการความรู้ร่วมกัน พร้อมกันนี้โรงเรียนยังให้คำแนะนำและจัดเป็นสถานที่ศึกษาดูงาน ทั้งหน่วยงาน โรงเรียน และนักเรียนในสถานศึกษาอื่น ๆ เพื่อเข้ามาเยี่ยมชมในห้องปฏิบัติการนี้ด้วย
จากที่ผมได้เข้าร่วมโครงการ FabLab และได้เข้าร่วมการอบรมในหลายๆ ครั้ง ส่วนตัวมีความประทับใจในทุกกิจกรรม แต่ด้วยสถานการณ์การระบาดของไวรัส COVID-19 ทาง สวทช. จึงได้ปรับรูปแบบการอบรมมาเป็นการอบรมในรูปแบบออนไลน์ ส่วนตัวในใจแรกๆ ก็ยังคิดว่าจะได้ประโยชน์มากกว่าการอบรม แบบเดิมๆ หรือไม่ แต่พอผมได้เข้าร่วมการอบรมออนไลน์แล้ว ทำให้รู้สึกเลยได้ว่ากิจกรรมที่ทางโครงการฯ จัดให้นั้นมีคุณภาพ เป็นการจัดกิจกรรมที่ดีมาก มีกิจกรรมที่เน้นการปฏิบัติ ได้ฝึกคิด วิเคราะห์ อีกทั้งทางโครงการยังให้คำปรึกษา ตอบข้อสงสัยและใส่ใจผู้เข้าอบรมทุกคน ทำให้การอบรมนั้นมีประโยชน์ต่อการนำไปขยายผลต่อเพื่อนครูและนักเรียนได้ต่อไป สามารถนำกิจกรรมบูรณาการกับความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ นำไปสู่การขยายผลไปถึงเรื่องหลักการต่าง ๆ ได้อีกด้วย และจาก การอบรมออนไลน์ กิจกรรมสนุกคิดพิชิตยานยนต์ล้อเดียว ในรูปแบบออนไลน์ ผมได้รับองค์ความรู้แบ่งออกประเด็นได้ดังนี้
สำหรับแนวทางการนำกิจกรรมฯ ไปจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนนั้น ด้วยทาง โรงเรียนอุทัยวิทยาคม ได้มีการจัด กิจกรรมชุมนุมโรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม ได้นำกิจกรรมดังกล่าวมาใช้ในการจัดการเรียนการสอน โดยให้นักเรียนได้ประกอบอุปกรณ์ และทดสอบการเคลื่อนที่ในรูปแบบที่น้ำหนักของดินน้ำมันที่แตกต่างกัน พร้อมทั้งจดบันทึกผลการทดลองลักษณะการเคลื่อนที่ ตามรูปแบบใบงานที่ได้รับการอบรม พร้อมทั้งป้อนคำถามให้นักเรียนได้คิด วิเคราะห์ และสร้างแรงจูงใจให้นักเรียนคิดพัฒนาชิ้นงานจากห้องปฏิบัติการ FabLab โดยจะพัฒนาลักษณะของยานยนต์ล้อเดียวเพิ่มเติมอย่างไรบ้าง ในครั้งต่อไปมีแนวทางจะฝึกปฏิบัตินักเรียน ใช้การออกแบบผ่านโปรแกรม และพิมพ์ชิ้นงาน 3D Printer ในการออกแบบ และพัฒนาเพิ่มเติมในรูปแบบต่าง ๆ
ท้ายนี้ ผมอยากขอส่งกำลังใจให้แก่เพื่อนครูทุกท่าน ที่เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการศึกษาของประเทศ อยากให้ทุกท่านได้นำความรู้ที่ได้รับจากการอบรม หรือที่ได้ศึกษามา นำมาร่วมช่วยกันพัฒนานักเรียนของเรา ที่จะเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพในอนาคต ให้พวกเขาได้มีความรู้ และมีทักษะทางด้านการพัฒนา สร้างนวัตกรรม และมีคุณธรรมจริยธรรมในการสร้างสรรค์ผลงานต่อไปครับ
//////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////
ท่านสามารถติดตามกิจกรรมต่างๆ ในโครงการได้ที่ https://www.nstda.or.th/fablab
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อศึกษาวิจัยและพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไรหากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร Sirindhorn Science Home (SSH)
132 อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ถ.พหลโยธิน ต.คลองหนึ่ง
อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี 12120
โทรศัพท์ 0 2529 7100