การประชุมการดำเนินโครงการโรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม (Fabrication Lab)

การประชุมการดำเนินโครงการโรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม (Fabrication Lab) เพื่อพัฒนาทักษะความเป็นนวัตกรแก่เด็กและเยาวชนไทย 

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 17 มีนาคม 2565  เวลา 13.00 – 16.00 น.  สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดการประชุมการดำเนินโครงการโรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม (Fabrication Lab) เพื่อพัฒนาทักษะความเป็นนวัตกรแก่เด็กและเยาวชนไทย ในรูปแบบออนไลน์ผ่านโปรแกรม Zoom โดยมี ดร. ชฎามาศ ธุวะเศรษฐกุล รองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เป็นประธานการประชุม ร่วมกับผู้แทนจากหน่วยงานมหาวิทยาลัยพี่เลี้ยง จำนวน 10 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และผู้แทนจากหน่วยงานพันธมิตรที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ และสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ เพื่อร่วมกันหารือทิศทางและแนวทางการดำเนินงานโครงการฯ

ในที่ประชุม ดร.อ้อมใจ ไทรเมฆ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ได้รายงานให้ผู้เข้าร่วมการประชุมทราบถึงความเป็นมาและผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของโครงการฯ

จากนั้นในที่ประชุมได้มีการนำเสนอตัวอย่างผลการดำเนินงานจากมหาวิทยาลัยพี่เลี้ยง จำนวน 3 แห่ง คือ 1) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง นำเสนอข้อมูลโดย รศ.ดร.ธีรวัฒน์ ประกอบผล 2) มหาวิทยาลัยบูรพา นำเสนอข้อมูลโดย ดร.ชินวุธ พิพัฒน์ภานุกูล และ 3) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำเสนอข้อมูลโดย ดร.อานันท์ สีห์พิทักษ์เกียรติ และคุณอัฐพันธ์ จันทร์อินทร์ ตามลำดับ

  

  

นอกจากนี้ อาจารย์นลิน ตุติยาพึงประเสริฐ ผู้ช่วยผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยและพัฒนา ดรุณสิกขาลัย โรงเรียนนวัตกรรมแห่งการเรียนรู้  หนึ่งในคณะกรรมการประเมินผลโครงการ FabLab ได้มาเล่าภาพรวมการประเมินผลการดำเนินโครงการฯ ปีงบประมาณ 2561 – 2563 พร้อมข้อเสนอแนะต่อการปรับปรุงการบริหารจัดการโครงการฯ 

สวทช. โดยฝ่ายวิชาการ หลักสูตร และสื่อการเรียนรู้ นำเสนอตัวอย่างแผนการดำเนินงานในปี 2565 ในหัวข้อ 1) การผลักดันให้เกิดการใช้ห้อง FabLab เข้าไปอยู่ในหลักสูตร/การเรียนการสอน โดยนำร่องกับกลุ่มโรงเรียน 2) การขยายหรือต่อยอดโครงการไปสู่ระดับชั้นประถมศึกษา และ ฝ่ายบริหารบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร นำเสนอตัวอย่างกิจกรรมชุดสื่อการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เรื่อง โคมไฟแถบแสง LED จากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณการดำเนินงานจากหน่วยงานภายนอก แก่ที่ประชุมทราบ

    

ตลอดการประชุม ผู้เข้าร่วมประชุมจากหน่วยงานต่างๆ ได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินโครงการโรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม (Fabrication Lab) เพื่อพัฒนาทักษะความเป็นนวัตกรแก่เด็กและเยาวชนไทยในอนาคตด้วย

   

Post Views: 252