หน้าแรก คลังความรู้ คลังความรู้ นานาสาระน่ารู้ วารสารข่าวด้านการอุดมศึกษาและวิทยาศาสตร์จากกรุงบรัสเซลส์ ฉบับที่ 3 เดือน มีนาคม 2565
วารสารข่าวด้านการอุดมศึกษาและวิทยาศาสตร์จากกรุงบรัสเซลส์ ฉบับที่ 3 เดือน มีนาคม 2565
20 ก.ย. 2565
0
นานาสาระน่ารู้

วารสารข่าวด้านการอุดมศึกษาและวิทยาศาสตร์จากกรุงบรัสเซลส์
ฉบับที่ 3 เดือน มีนาคม 2565

งานสามัคคีวิชาการและอาชีพครั้งที่ 14 ณ กรุงลอนดอน

สามัคคีสมาคมได้จัดงานสามัคคีวิชาการและอาชีพขึ้นทุกปี เพื่อสร้างเสริมเครือข่ายทางวิชาการระหว่างนักศึกษา เป็นโอกาสแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นทางวิชาการทั้งในสหราชอาณาจักรและภูมิภาคยุโรป โดยปีแรกงานมีเพียงประชุมวิชาการและการประกวดบทคัดย่องานวิจัยเท่านั้น แต่ปี พ.ศ. 2564 ได้ปรับรูปแบบงานเป็นออนไลน์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์โรคระบาดของโรคโควิด-19 และให้นักเรียนไทยนอกสหราชอาณาจักรเข้าร่วมได้
งานปีนี้จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “The Remake of Thailand” กล่าวถึง อุปสรรคและผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 โดยมีวัตถุประสงค์การจัดงาน คือ
1. เพื่อส่งเสริมการสร้างเครือข่ายและความร่วมมือทางการศึกษาระหว่างนักศึกษาในสาขาที่แตกต่างกันเพื่อประโยชน์ของสังคมไทย
2. ส่งเสริมให้นักศึกษาสามารถบูรณาการงานวิจัยของตนเข้ากับประเด็นปัญหาในปัจจุบันในประเทศไทย และนำมาสู่การใช้งานวิจัยเพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน
3. สร้างเสริมโอกาสในอาชีพและการทำงานแก่นักศึกษาไทย

   กิจกรรมภายในงาน
งาน Samaggi Abstract Competition ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานครั้งที่ 14 ได้เปิดรับผลงานบทคัดย่อทางออนไลน์ การแข่งจันรอบสุดท้ายแต่ละสาขาประกอบด้วยการนำเสอนงานวิจัยผ่านวิดีโอ 10 นาที ต่อด้วยตอบคำถามสดอีก 10 นาที โดยมีทั้งหมด 6 สาขาวิชาดังนี้ ชีววิทยาและวิทยาศาสตร์การแพทย์ การวิเคราะห์ทางสังคม และมนุษยศาสตร์และศิลปะและวิศวกรรมและเทคโนโลยี เศรษฐศาสตร์และธุรกิจศึกษา คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์กายภาพ ผลการจัดงาน มีผู้ส่งบทคัดย่อทั้งหมด 104 ราย โดยมี 18 รายผ่านเข้ารอบนำเสนอหลัก (Oral Presentation) และอีก 14 รายเข้าร่วมรอบนำเสนอ E-Poster โดยผู้ชนะสามอันดับแรกในแต่ละสาขาจะได้รับรางวัลมูลค่ารวม 300 100 และ 50 ปอนด์สเตอร์ลิงตามลำดับ

งานประชุมวิชาการของนักเรียนไทยในฝรั่งเศสประจำปี 2565
เมื่อวันที่ 8-9 เมษายน 2565 สมาคมนักเรียนไทยในประเทศฝรั่งเสศ ได้จัดงานประชุมวิชาการประจำปี 2565 หัวข้อ “จุดประกายความคิดเชื่อมติดภูมิปัญญา นำพาสู่อนาคต สดใสด้วยนวัตกรรม” ณ กรุงปารีส โดยสำนักงานที่ปรึกษาด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ ได้หการสนับสนุนเพื่อส่งเสริมและพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการของนักเรียนไทยในภูมิภาคยุโรป

   ที่มาของการประชุม
ประเทศฝรั่งเศสเป็นประเทศที่นักเรียนไทยนิยมเดินทางไปศึกษาต่อโดยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐบาลไทย ปัจจุบันมีนักเรียนไทยกระจายอยู่ในมหาวิทยาลัยชั้นนำในสาขาต่างๆ เช่น วิทยาศาสตร์ มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ ภาษาและวรรณคดีฝรั่งเศส รวมถึงด้านธุรกิจ นักเรียนไทยกลุ่มนี้จะกลายเป็นกำลังสำคัญมีส่วนร่วมในการสนับสนุนและขับเคลื่อนประเทศไทย ผ่านการถ่ายทอดความรู้เทคโนโลยีทั้งทางตรงและทางอ้อม
งานประชุมวิชาการประจำปี 2565 ภายใต้หัวข้อ “จุดประกายความคิด เชื่อมติดภูมิปัญญา นำพาสู่อนาคต สดใสด้วยนวัตกรรม” นั้นมีที่มีจากความต้องการให้นักเรียนไทยในฝรั่งเศสจัดประกายความรู้ในตัวเองเพื่อขจัดความมืดบอดทางวิชาการเป็นลำดับแรก จากนั้นจุดประกายเพื่อสร้างและส่งต่อความรู้และแรงบันดาลใจให้ผู้อื่น โดยร่วมมือกันสร้างและส่งต่อความรู้ทางวิชาการและการบูรณาการศาสตร์ต่างๆ ส่งประกายแสงสว่างทางความคิดไปยังคนรุ่นใหม่ๆ

   องค์ประกอบของผู้เข้าร่วมงาน
ผู้เข้าร่วมงานประชุมวิชาการฯ มีจำนวนทั้งหมด 38 ท่าน แบ่งออกเป็นกรรมการสมาคมฯ 10 ท่าน วิทยากร 8 ท่าน พิธีกรรับเชิญ 1 ท่าน กรรมการการเลือกตั้ง 2 ท่าน และผู้สมัครเข้าร่วมงานอื่นๆ 17 ท่าน ในจำนวนผู้เข้าร่วมงาน 17 ท่าน มีผู้เข้าร่วมงานที่มีสถานภาพเป็นนักเรียนทุนจากแหล่งทุนนอกประเทศไทยจำนวน 6 ท่าน นักเรียนทุนจากหน่วยงานรัฐบาลไทยทั้งหมด 6 ท่าน ซึ่งในจำนวนนี้แบ่งออกเป็นทุนจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 1 ท่าน ทุนจากกองทัพบก 2 ท่าน ทุนจากมหาวิทยาลัยรัฐบาล 1 ท่าน และทุนจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน 2 ท่าน ผู้เข้าร่วมงานที่มีสถานภาพเป็นนักเรียนทุนส่วนตัว 3 ท่าน และผู้ที่สำเร็จการศึกษาแล้วจำนวน 2 ท่าน คิดเป็นร้อยละ ผู้เข้าร่วมงานประกอบด้วยนักเรียนทุนจากแหล่งทุนนอกประเทศไทยร้อยละ 356.29 นักเรียนทุนจากหน่วยงานรัฐบาลไทยร้อยละ 35.29 นักเรียนทุนส่วนตัวร้อยละ 17.65 และผู้ที่สำเร็จการศึกษาร้อยละ 11.77

   รูปแบบของงานประชุม
งานประชุมวิชาการประจำปี 2565 แบ่งออกเป็นสองส่วนคือ
1. กิจกรรมทางวิชาการ (Academic Storytelling)
2. กิจกรรมเพื่อสร้างเสริมความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลเพื่อพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือ (Networking)
รูปแบบของงานจัดในแบบ Storytelling โดยมีวิทยากร (speaker) จำนวน 9 ท่าน โดยเน้นการถ่ายทอดเข้าใจง่าย มีตัวอย่างชัดเจน ภายในระยะเวลาสั้น (ประมาณ 15-20 นาที) เพื่อสร้างความเข้าใจข้ามศาสตร์ โดยสามารถให้ผู้ฟังไม่มีความรู้พื้นฐานในเรื่องที่วิทยากรศึกษาวิจัยเข้าใจได้ง่าย และสามารถนำไปใช้ และมีผลตอบรับ (feedback) ได้ทันทีผ่านช่วงถาม-ตอบในช่วงท้ายของการบรรยาย อันเป็นทักษะการเล่าเรื่อง (storytelling) ที่จำเป็นสำหรับการทำงานและสร้างสรรค์ผลงานวิชาการในปัจจุบัน การนำเสนอหัวข้อหลากหลาย ครอบคลุมเรื่องภาษาศาสตร์ อุตสาหกรรมยา การป้องกันอาชญากรรมทางไซเบอร์ อุตสาหกรรมเคมี และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
ส่วนที่สอง เป็นกิจกรรมสร้างเสริมความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลเพื่อพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือ (networking) เพื่อให้ผู้เข้าร่วมการประชุมมีความรู้จักคุ้นเคยกัน และสร้างเสริมความสัมพันธ์ในทางวิชาการต่อไปภายหลังการประชุม

   สรุปสาระสำคัญของการบรรยายวิชาการ (Academic Storytelling) ในหัวข้อต่างๆ

1. “การใช้ประโยชน์ข้อมูลจากอวกาศ (Space-based Information” โดย นายปรเมศวร์ ธุวะคำ
ปัจจุบัน “ข้อมูลจากอวกาศ” เช่น ข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียม ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในการติดตามและบริหารงานหลายด้าน ทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น การเกษตรกรรม การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย การรักษาความมั่นคง ข้อมูลจากอวกาศเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่สามารถใช้ประกอบการตัดสินใจ และวางแผนกิจกรรมต่างๆ ให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ การใช้ประโยชน์ข้อมูลจากอวกาศของไทย

2. “อวกาศยุคใหม่ (new space) และความท้าทายของผู้เล่นใหม่ในอุตสาหกรรมอวกาศ” โดย นางสาวนภสร จงจิตตานนท์
ปัจจุบันเกิดการเปลี่ยนแปลงในวงการอุตสาหกรรมอวกาศ จากเดิมที่รัฐเป็นผู้ผูกขาดอุตสาหกรรมอวกาศ กลายเป็นเอกชนที่เป็น “ผู้เล่นใหม่” ทั้งด้านการสร้างดาวเทียมและจรวด ทำให้ต้นทุนการขนส่งขึ้นสู่อวกาศลดลง ส่งผลให้เกิด Business model ใหม่ๆ เป็นการลดกำแพงและเป็นช่วงเวลาที่ดีสำหรับผู้เล่นหน้าใหม่ในการเข้ามามีส่วนร่วมในอุตสาหกรรมอวกาศได้มากขึ้น

3. “การฟอกเขียว (greenwashing) ส่งผลต่อโลกและผู้บริโภคอย่างไร” โดย นางสาววนารี อังคณาพาณิช
ปัจจุบันมีสินค้าที่อ้างว่าไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม แต่แท้จริงอาจเป็นการ “ฟอกเขียว” เพื่อให้ภาพลักษณ์ของสินค้าดูดี ทั้งที่ยังมีกระบวนการการใช้สารเคมีที่ทำลายสิ่งแวดล้อมที่ผู้บริโภคไม่ทราบ จึงจำเป็นต้องสร้างความตระหนักรู้ว่าการฟอกเขียวคืออะไร มีที่มาอย่างไร ส่งผลกระทบต่อเราและโลกอย่างไร และเราในฐานะผู้บริโภคสามารถทำอย่างไรได้บ้างเพื่อไม่ให้ถูกหลอกจากการฟอกเขียว

4. “งานวิจัยขึ้นหิ้งมีจริงหรือ ? : นวัตกรรมใน cold chain Logistic” โดย นายธนเทพ เหลืองทองคำ
การทำวิจัยมีจุดประสงค์หลักคือค้นหาคำตอบของปัญหาต่างๆ และนำไปสู่การสร้างองค์ความรู้ใหม่ รวมถึงนวัตกรรมใหม่ๆ แต่ยังมีงานวิจัยหลายชิ้นที่ถูกมองว่าเป็น “งานวิจัยขึ้นหิ้ง” ไม่สามารถนำมาใช้ได้จริง ทว่า ถ้าเข้าใจงานวิจัยนั้นๆ อย่างถ่องแท้ ก็สามารถนำมาประยุกต์ใช้หรือต่อยอดได้ทั้งสิ้น โดยยกตัวอย่างการทำวิจัยในเรื่องกระบวนการเปลี่ยนแปลงต่างๆ สามารถนำมาต่อยอดในงานวิจัยเรื่องห่วงโซ่ความเย็นที่สามารถลดการเน่าเสียของผลิตภัณฑ์และสามารถเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ได้ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อทั้งผู้ประกอบการ ผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม

5. “The Charm of malfunction : ศิลปะในความสวยงามที่มีที่ติ” โดย นางสาวพิชญา คูวัฒนาถาวร
งานศิลปะเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา แม้กระทั่งในห้องแคบๆ ตลอดระยะเวลาการล็อกดาวน์ตามมาตรการของรัฐบาลฝรั่งเศสในการป้องกันโรคโควิด-19 The Charn of malfunction เป็นงานศิลปะที่เกิดขึ้นจากการพิจารณาสิ่งที่ไม่สมบูรณ์ ผุพัง หรือไม่สามารถทำงานได้แล้วที่ยังมีแง่มุมของความสวยงามอยู่

6. “นวนิยายไบเซ็กชวลร่วมสมัย : จากความกำกวมสู่ความหลากหลายและครอบคลุมทางเพศ” โดย นายปริวรรต์ สุขวิชัย

สังคมร่วมสมัย ชุมชนความหลากหลายทางเพศได้รับสิทธิ ความเท่าเทียม และความเข้าใจจากสังคมมากขึ้นกว่าแต่ก่อน ผ่านการต่อสู้เรียกร้องยาวนาน ภาพแทนกลุ่มคนหลากหลายทางเพศที่มีมากขึ้นในสื่อต่างๆ จึงปฏิเสธไม่ได้ว่ากลุ่มคนเหล่านี้ส่วนมากคือกลุ่มรักร่วมเพศ ในขณะที่เพศหลากหลายอื่นๆ ถูกเบียดขับไปยังชายขอบและได้รับการกล่าวถึงน้อยกว่ามาก หนึ่งในนั้นคือกลุ่มไบเซ็กชวลหรือรักร่วมสองเพศ อาจเป็นผลมากจากการประกอบสร้างทฤษฎีและวาทกรรมทางเพศที่ตั้งอยู่บน “ฐานคิดแบบทวิภาค” หรือคู่ตรงข้ามระหว่างรักต่างเพศและรักร่วมเพศที่กลุ่มนักเคลื่อนไหวเพศหลากหลายยุคแรกใช้เพื่อเรียกร้องสิทธิและความเท่าเทียม ไบเซ็กชวลเป็นกลุ่มเพศชายขอบนี้ซึ่งเป็นผลมาจากความกำกวมของอัตลักษณ์ดังกล่าวที่ควบรวมรักต่างเพศและรักร่วมเพศเอาไว้ในปัจเจกเดียว ความกำกวมนี้จึงทำให้ไบเซ็กชวลถูกเลี่ยงในการประกอบสร้างทฤษฎีและวาทกรรมทางเพศแบบคู่ตรงข้ามที่ต้องการความชัดเจนเพื่อที่จะพัฒนาองค์ความรู้ทางเพศในกลุ่มตน

7. “ตั๋วร่วม เป็นไปได้หรือไม่ในประเทศไทย” โดย นางสาววิภาดา บุญเลิศ

กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีระบบขนส่งสาธารณะมากมาย แต่ปัญหาสำคัญของการใช้งานระบบขนส่งเหล่านี้คือ “ขาดการร่วมกันของระบบ” ซึ่งการขาดการร่วมกันในระบบ ไม่ได้ส่งผลแค่เพียงความสะดวกของการเดินทาง แต่ยังส่งผลต่อภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนอย่างหนัก เพราะการขาดตั๋วร่วม จึงส่งผลให้การเกิดค่าโดยสารร่วมยากขึ้น ซึ่งปัญหาสำคัญเกิดจากสัญญาสัมปทาน ที่กำหนดค่าโดยสาร รวมถึงการกำหนดระบบการบริหารจัดการของรถไฟฟ้า และการขาดหน่วยงานผู้กำกับดูแลการขนส่งทางราง

8. “Lost skill ใน ศตวรรษที่ 21 vs การเรียนการสอบบนฐาน Studio-based Learning” โดย นายพชรพล ศรีสนธิ
ปัจจุบันเกิดปัญหาและอุปสรรคกับตัวนักเรียนและครูผู้สอนในระหว่างการเรียนการสอนแบบออนไลน์ และส่งผลกระทบต่อทักษะจำเป็นในศตวรรษที่ 21 ของเด็ก วิทยากรได้บรรยายถึงแนวการเรียนการสอนแบบ Studio-based learning และ Experiential learning เป็นเครื่องมือที่สำคัญในการจัดการเรียนการสอนแบบ Studio-based learning วิทยากรสรุปว่า การศึกษาไทยมีอนาคตแน่นอนถ้าครูและบุคลากรทางการศึกษามองเห็นอนาคต ปฏิเสธไม่ได้ว่าโลกกำลังเปลี่ยนไป นักเรียนเช่นกัน ซึ่งเป็นข้อดีที่ครูจะเอาทักษะพิเศษของเด็กยุคนี้ มาเจียระไน ผ่านการจัดการเรียนการสอนที่เปิดกว้างและทำให้นักเรียนค้นพบตัวเองและเข้าใจชีวิตจริง

9. “รัฐธรรมนูญและปัญหาโครงสร้างพื้นฐานและนวัตกรรมของสังคมไทย” โดย นายสิรวิชญ์ ทีวะกุล
ไม่ว่าเรื่องใดที่มีปัญหาในเชิงโครงสร้างและการพัฒนา ท้ายที่สุดก็จะวนมาที่ปัญหาทางรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายพื้นฐานที่สุดซึ่งวางบทบาทระหว่างรัฐและเอกชน และคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน เราจึงจำเป็นต้องเข้าใจถึงรัฐธรรมนูญและปัญหาทางรัฐธรรมนูญ เพื่อนำไปสู่แก้ไขปัญหาโครงสร้างพื้นฐานและนวันกรรม

   ผลลัพธ์ของการจัดประชุม
การนำเสนองานของวิทยากรและนักเรียนไทยในประเทศฝรั่งเศสในหลากหลายสาขาย่อย ทั้งสายมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สายวิทยาศาสตร์สุขภาพและเทคโนโลยี รวมทั้งกิจกรรม My Work in 180 seconds ทำให้นักเรียนไทยได้แลกเปลี่ยนความรู้แบ่งปันประสบการณ์แนวคิดและวิธีการศึกษาวิจัยผ่านการแสดงความคิดเห็นและถาม-ตอบ เพื่อเป็นแนวทางนำกลับไปประยุกต์ใช้ในการทำงานอย่างเหมาะสม

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : https://waa.inter.nstda.or.th/stks/pub/2022/20220915-newsletter-brussels-no03-mar65.pdf

 

 

 

 

แชร์หน้านี้: