หน้าแรก นวัตกรรมยกระดับ ‘การนำส่งสารสกัด CBD ในกัญชา’ สร้างจุดขายเวชสำอางและท่องเที่ยวไทย
นวัตกรรมยกระดับ ‘การนำส่งสารสกัด CBD ในกัญชา’ สร้างจุดขายเวชสำอางและท่องเที่ยวไทย
18 พ.ค. 2566
0
BCG
ข่าวประชาสัมพันธ์
บทความ
ผลงานวิจัยเด่น

นวัตกรรมยกระดับ ‘การนำส่งสารสกัด CBD ในกัญชา’ สร้างจุดขายเวชสำอางและท่องเที่ยวไทย

 

แม้ประเทศไทยจะอนุญาตให้นำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ได้ถูกต้องตามกฎหมายตั้งแต่ปี 2562 แต่ปัจจุบันตลาดกัญชายังคง มีมูลค่าต่ำเหตุจากยังไม่สามารถแปรรูปและใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมมูลค่าสูง

ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พัฒนา อนุภาคนาโนสำหรับนำส่งสารสกัด Cannabidiol (CBD) ในกัญชาและกัญชง (Cannabis sativa L.)’ เพื่อลดข้อจำกัดในการใช้สารสกัด ทั้งในด้านการนำส่งสารเข้าสู่ร่างกายและการไม่ทนทานต่อสภาพแวดล้อม ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญที่ขวางกั้นการพัฒนาสารสกัด CBD สู่สารสำคัญมูลค่าสูงสำหรับประยุกต์ใช้ในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เชิงพาณิชย์

 

นวัตกรรมยกระดับ ‘การนำส่งสารสกัด CBD ในกัญชา’ สร้างจุดขายเวชสำอางและท่องเที่ยวไทย
ดร.คทาวุธ นามดี นักวิจัยทีมวิจัยเวชศาสตร์นาโน กลุ่มวิจัยการห่อหุ้มระดับนาโน นาโนเทค สวทช.

 

ดร.คทาวุธ​ นามดี นักวิจัยทีมวิจัยเวชศาสตร์นาโน กลุ่มวิจัยการห่อหุ้มระดับนาโน นาโนเทค สวทช. อธิบายถึงการพัฒนาอนุภาคนาโนสำหรับนำส่งสารว่า ทีมวิจัยได้พัฒนากระบวนการห่อหุ้มอนุภาคของสารสกัด CBD ด้วยอนุภาคไขมันผ่านเทคโนโลยีนาโนเอนแคปซูเลชัน (Nanoencapsulation) เพื่อลดจุดอ่อนของสารสกัด CBD ใน 2 ด้านหลัก ด้านแรกคือ การนำส่งสาร ที่ยังมีประสิทธิผลต่ำ เนื่องจากสารสกัด CBD ละลายน้ำได้น้อย ซึมผ่านผิวหนังได้ไม่ดี จึงมักสะสมอยู่ที่หนังกำพร้าชั้นนอก การห่อหุ้มด้วยอนุภาคไขมันจะช่วยให้สาร CBD ซึมผ่านชั้นผิวหนังของมนุษย์ได้ดีขึ้น สามารถละลายหรือนำส่งสารออกฤทธิ์ไปยังเป้าหมายที่ต้องการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้านที่สอง คือ ลดการเสื่อมสภาพของสาร การห่อหุ้มด้วยอนุภาคระดับนาโนจะช่วยลดการโดนแสง ค่าความเป็นกรด-ด่าง ที่ไม่เหมาะสม รวมถึงออกซิเจนในอากาศที่ทำให้คุณสมบัติแอนติออกซิแดนต์ (Antioxidant) ของสารเสื่อมสภาพ

“การลดข้อจำกัดของสารสกัด CBD ทั้ง 2 ด้านนี้ได้สำเร็จ จะทำให้สารสกัด CBD ออกฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยลดปริมาณการใช้สารสกัด CBD ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง และยังลดอัตราเสี่ยงให้แก่ผู้ใช้งานที่อาจต้องสัมผัสสารปริมาณมากจนเกิดการระคายเคือง ซึ่งจะเป็นประโยชน์หากจำเป็นต้องใช้สารสกัด CBD ในปริมาณสูงเพื่อพัฒนายารักษาโรคในอนาคต”

 

นวัตกรรมยกระดับ ‘การนำส่งสารสกัด CBD ในกัญชา’ สร้างจุดขายเวชสำอางและท่องเที่ยวไทย
ตัวอย่างการนำสารสกัด CBD ในกัญชาไปใช้เป็นสารสำคัญในผลิตภัณฑ์ประเภทต่าง ๆ

 

ปัจจุบันประเทศไทยเริ่มนำสารสกัด CBD มาใช้เป็นสารสำคัญในผลิตภัณฑ์เวชสำอางบ้างแล้ว แต่ส่วนใหญ่ยังจำกัดอยู่ในรูปแบบของผลิตภัณฑ์ประเภทน้ำมันเท่านั้น เพราะสาร CBD ละลายได้ดีในน้ำมัน แต่จะแยกชั้นหรือตกตะกอนในน้ำการวิจัยและพัฒนาอนุภาคนาโนสำหรับนำส่งสารสกัดนับเป็นโอกาสที่ช่วยให้คนไทยได้ใช้ผลิตภัณฑ์จากสารสกัด CBD รูปแบบใหม่ ๆ มากยิ่งขึ้น

ดร.คทาวุธ อธิบายว่า การห่อหุ้มด้วยอนุภาคไขมันจะช่วย เพิ่มสมบัติการละลายน้ำให้แก่สารสกัด CBD ทำให้ผู้ประกอบการหรือนักพัฒนาผลิตภัณฑ์สามารถ ‘ใช้สาร CBD ในเวชสำอางประเภทซีรัมหรือน้ำตบซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์เนื้อบางเบา ซึมเข้าผิวได้รวดเร็ว ให้ความรู้สึกเบาสบายผิว เหมาะแก่การใช้เป็นประจำทุกวันมากกว่าผลิตภัณฑ์ที่มีเนื้อหนักซึมเข้าผิวช้าได้ โดยสารสกัด CBD เป็นสารสำคัญที่มีจุดเด่นทั้งในด้านการเป็นสารแอนติออกซิแดนต์ประสิทธิภาพสูง ช่วยชะลอการเสื่อมสภาพของเซลล์หรือการเกิดริ้วรอยเหี่ยวย่น และยังช่วยลดการอักเสบ สมานแผล รวมถึงเพิ่มคอลลาเจนไฟเบอร์ (Collagen fiber) ให้แก่ผิวได้เป็นอย่างดี

“อีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่สารสกัด CBD มีแนวโน้มเติบได้สูง คือ กลุ่มการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ (Health and wellness travel) เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าประเทศไทยอนุญาตให้ใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ได้อย่างถูกกฎหมาย ทำให้มีนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศจำนวนมากที่มองหากิจกรรมการท่องเที่ยวประเภทสปาที่มีการนำสารสกัด CBD มาใช้เป็นสารสำคัญในผลิตภัณฑ์เพื่อให้บริการแก่ลูกค้า ดังนั้นหากผู้ประกอบการมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นสูตรเฉพาะซึ่งออกฤทธิ์ได้ดีก็จะเป็นจุดแข็งที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาใช้บริการในช่วงที่การท่องเที่ยวไทยกำลังกลับมาคึกคักได้”

 

นวัตกรรมยกระดับ ‘การนำส่งสารสกัด CBD ในกัญชา’ สร้างจุดขายเวชสำอางและท่องเที่ยวไทย

 

The global cannabis report โดย Prohibition partners ผู้ให้บริการข้อมูลเชิงลึกและที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์ชั้นนำระดับโลกคาดว่าในปี 2567 ตลาดกัญชาด้านสุขภาพและการแพทย์จะมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 60 และมีแนวโน้มว่าภาพรวมตลาดกัญชาจะมีมูลค่าสูงกว่าแสนล้านดอลลาร์สหรัฐและยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง ผลงานวิจัยชิ้นนี้ถือเป็นฟันเฟืองสำคัญที่จะช่วยผลักดันผู้ประกอบการไทยให้คว้าส่วนแบ่งการตลาดนี้มาครองได้สำเร็จ

ผู้ประกอบการที่สนใจวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางด้านสุขภาพและการแพทย์ หรือขอรับถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต ติดต่อได้ที่ ดร.คทาวุธ นามดี นักวิจัยทีมวิจัยเวชศาสตร์นาโน ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ อีเมล katawut@nanotec.or.th

 

BCG Economy Model

 

 

แชร์หน้านี้: