หน้าแรก เอ็มเทค จับมือ 3 สถาบันการศึกษา มทร. ธัญบุรี จุฬาฯ และ มจธ. ร่วมวิจัยพัฒนาระบบก่อสร้างอาคารโครงสร้างเหล็กสำเร็จรูปด้วยดิจิทัลแพลตฟอร์ม
เอ็มเทค จับมือ 3 สถาบันการศึกษา มทร. ธัญบุรี จุฬาฯ และ มจธ. ร่วมวิจัยพัฒนาระบบก่อสร้างอาคารโครงสร้างเหล็กสำเร็จรูปด้วยดิจิทัลแพลตฟอร์ม
6 ธ.ค. 2565
0
ข่าวประชาสัมพันธ์

For English-version news, please visit : https://www.nstda.or.th/en/news/news-years-2022/mtec-and-universities-present-a-modular-steel-construction-system-designed-with-a-digital-platform.html

(วันที่ 6 ธันวาคม 2565) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) และ บริษัท แอธเลติก โซลูชั่น จำกัด ร่วมกับ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เปิดผลสำเร็จงานวิจัยพัฒนาระบบก่อสร้างอาคารโครงสร้างเหล็กสำเร็จรูปด้วยดิจิทัลแพลตฟอร์ม เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)

ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. กล่าวว่า การจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อผลการศึกษา (Public Hearing) ในหัวข้อในวันนี้ เป็นกิจกรรมหนึ่งภายใต้ โครงการ “การพัฒนาระบบก่อสร้างอาคารโครงสร้างเหล็กสำเร็จรูปด้วยดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน”

การก่อสร้างแบบโครงสร้างเหล็กสำเร็จรูป (modular steel construction) เป็นรูปแบบการก่อสร้างที่ความสอดคล้องกับหลักการพื้นฐานของระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) ทั้งในเรื่องการออกแบบและการก่อสร้างประกอบติดตั้งที่รวดเร็วและมีคุณภาพ ความสามารถในการนำวัสดุก่อสร้างมาใช้ซ้ำหรือการหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่หลังจากการรื้อถอน อันจะนําไปสู่การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคมคาร์บอนต่ำ สอดคล้องตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๓ (พ.ศ. ๒๕๖๖ – ๒๕๗๐)

ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. ในฐานะหน่วยงานผู้แทนของทีมวิจัยอีกทั้งเป็นหน่วยงานหลักด้านการวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมสนับสนุนในทุกภาคส่วนที่จะช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมผ่าน BCG model ที่สนับสนุนแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนประยุกต์ใช้กับกลุ่มอุตสาหกรรมก่อสร้างทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อเตรียมความพร้อมและถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่การใช้ประโยชน์รองรับต่อการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลกในอนาคต ให้เกิดผลดีต่อประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงการพัฒนากำลังคนและโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ อันจะนําไปสู่การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม

ตัวแทนภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจ ได้แก่ คุณวิกรม วัชระคุปต์ ประธานคลัสเตอร์วัสดุก่อสร้าง  สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย คุณวิชัย รายรัตน์ Sustainable Development Director บริษัทเอสซีจี ซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด คุณวีรกร สายเทพ Board of Directors  บริษัท บิมอ็อบเจ็คท์ (ไทยแลนด์) จำกัด และคุณบุญชัย ทรัพย์อุดมกุล Head of Project Engineering & Innovation (S&A) บริษัท เซ็นทรัล พัฒนา จํากัด (มหาชน) ร่วมเสวนาเสวนาแลกเปลี่ยนความรู้ หัวข้อ “แนวโน้มและการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบก่อสร้างมอดูลาร์ในอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย” โดยมุ่งเน้นในเรื่องของบทบาทและการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียน รวมทั้งปัญหาและอุปสรรค กลไกหรือการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน และความเป็นไปได้ในการร่วมมือหรือการดำเนินงานร่วมกันของทุกภาคส่วนภายในอุตสาหกรรมก่อสร้างของไทยเพื่อขับเคลื่อนความยั่งยืน

ดร. นงนุช พูลสวัสดิ์ นักวิจัย เอ็มเทค หัวหน้าชุดโครงการวิจัย กล่าวว่า ชุดโครงการนี้จะพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อออกแบบการก่อสร้างอาคารสำเร็จรูปด้วยการจำลองสารสนเทศอาคาร (Building Information Modeling, BIM) เพื่อใช้ในการจัดการห่วงโซ่อุปทานที่เหมาะสมที่สุดของการก่อสร้างและพัฒนาระบบตรวจสอบคุณภาพวัสดุ รวมทั้งนำไปสู่การประเมินค่าการหมุนเวียนของอาคารสำเร็จรูป ซึ่งพิจารณาถึงทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้ คุณภาพและอายุการใช้งาน ความสามารถในการนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่ เพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนซึ่งเหมาะสมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

โครงการนี้สำเร็จลุล่วงได้ จากการสนับสนุนงบประมาณจาก บพข. สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) และ บริษัท แอธเลติก โซลูชั่น จำกัด ที่ให้ความสำคัญในการต่อยอดอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์และวางรากฐานการพัฒนาเศรษฐกิจภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG Economy) และสิ่งที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ มุมมองของผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ที่ไม่ได้มองเพียงผลตอบแทนทางธุรกิจเพียงอย่างเดียว แต่มีวิสัยทัศน์ในเรื่องของความยั่งยืนผ่านมุมมองของ BCG Economy อีกด้วย

 

/////////////////////////

แชร์หน้านี้: