หน้าแรก  สวทช. แชร์ความสำเร็จโครงการ TAIST-Tokyo Tech ผลิตกำลังคน 632 ราย เสริมความเลิศด้านการวิจัย หนุนภาคอุตสาหกรรมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
 สวทช. แชร์ความสำเร็จโครงการ TAIST-Tokyo Tech ผลิตกำลังคน 632 ราย เสริมความเลิศด้านการวิจัย หนุนภาคอุตสาหกรรมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
30 ส.ค. 2567
0
ข่าว
ข่าวประชาสัมพันธ์

(วันที่ 30 สิงหาคม 2567) : กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นประธานกล่าวเปิดในงานเสวนา “TAIST-Tokyo Tech Human Resource Development Program For Future Industry” โดยมี ดร.สมบุญ สหสิทธิวัฒน์ รองผู้อำนวยการ สวทช. บรรยายในหัวข้อ TAIST Tokyo Tech Model กับการพัฒนาบุคลากรเพื่ออนาคตของประเทศ และยังมีการเสวนาพิเศษ หัวข้อ HRD for Future world & Future Technology: เปิดมุมมอง ประสานแนวคิด ผู้แทนภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรมและคนรุ่นใหม่ เพื่อพัฒนาบุคลากร สำหรับอุตสาหกรรมในโลกแห่งอนาคต โดยมีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย ดร.พัชร์ลิตา ฉัตรวริศพงศ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. ,ดร.สัมพันธ์ ศิลปนาฎ นายกสมาคมนายจ้างอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ ,ดร.กอบกฤตย์ วิริยะยุทธกร นายกสมาคมผู้ประกอบการปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย ,ดร.อัศวิน สาลี อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ดร.พัชรณัฐ แก้วมี ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจและบริหารการลงทุน บริษัท ไพร์ม โรด เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ร่วมเสวนา ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ

ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์

ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า สวทช. มีบทบาทสำคัญด้านการพัฒนางานวิจัยของประเทศ และอีกภารกิจสำคัญคือการส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรวิจัยสำหรับประเทศ โดยจัดทำโครงการสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูงแห่งประเทศไทย หรือ TAIST Tokyo Tech ร่วมกับ สถาบันเทคโนโลยีแห่งโตเกียวและ สถาบันการศึกษาในประเทศไทย เพื่อพัฒนานักวิจัยที่มีทักษะสูงและทรัพยากรมนุษย์ในประเทศไทยเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมและความท้าทายใหม่ ๆ ซึ่งโครงการนี้ได้รับทุนสนับสนุนจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ หรือ วช. ด้วย โดยตลอด 17 ปีของโครงการดังกล่าว สวทช. สามารถผลิตบันฑิตได้จำนวน 632ท่านแล้ว โดยบันฑิตเหล่านี้ได้เข้าทำงานต่อในหลายอุตสาหกรรม และ ได้เข้าไปอยู่ในระบบนิเวศอุตสาหกรรมต่าง ๆ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งในกลไกในการใช้วิทยาศาสตร์และนวัตกรรมเพื่อการขับเคลื่อนและเร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งนี้ สวทช.ขอขอบคุณพันธมิตรทุกภาคส่วนที่มีความร่วมมือช่วยกันผลักดันพัฒนาบุคลากรเพื่อการพัฒนาประเทศ ทั้งนี้ความสำเร็จของโครงการ TAIST Tokyo Tech ถือเป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นเศรษฐกิจฐานความรู้ ด้วยการบ่มเพาะผู้มีความสามารถระดับสูง ส่งเสริมความเป็นเลิศด้านการวิจัย และส่งเสริมความร่วมมือในอุตสาหกรรมการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ

ดร.สมบุญ สหสิทธิวัฒน์

ดร.สมบุญ สหสิทธิวัฒน์ รองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวในการสัมมนา หัวข้อ TAIST Tokyo Tech Model กับการพัฒนาบุคลากรเพื่ออนาคตของประเทศ ตอนหนึ่งว่า โครงการ TAIST-Tokyo Tech เป็นความร่วมมือและใช้ความเชี่ยวชาญระดับนานาชาติระหว่างสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สถาบันเทคโนโลยีแห่งโตเกียว (Tokyo Tech) และมหาวิทยาลัยชั้นนำของไทยหลายแห่ง โดยความร่วมมือเป็นการรวมตัวกันของคณาจารย์ นักวิจัย และผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมระดับโลกจากญี่ปุ่นและไทย ซึ่งผลกระทบที่สำคัญของโครงการนี้จะทำให้นักศึกษาและนักวิจัยไทยได้สัมผัสกับมาตรฐานการวิจัยและการศึกษาระดับสากลเพื่อเพิ่มทักษะและความรู้ นอกจากนี้ยังอำนวยความสะดวกในการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและวิชาการ ขยายมุมมองระดับโลก

สำหรับตัวอย่างความสำเร็จของโครงการ TAIST Tokyo Tech ที่เกิดผลลัพธ์ที่ดีต่อประเทศไทย ได้แก่ 1.การพัฒนาทุนมนุษย์โดยปลูกฝังวิศวกรและนักวิจัยที่มีทักษะสูงรุ่นใหม่ที่มีความรู้ขั้นสูงและประสบการณ์เชิงปฏิบัติ โดยผู้สำเร็จการศึกษาเหล่านี้มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมของประเทศไทย 2.ความเป็นเลิศด้านการวิจัย ด้วยการร่วมมือกับ Tokyo Tech ทำให้ TAIST ได้ยกระดับมาตรฐานการวิจัยในประเทศไทย นำไปสู่การค้นพบและนวัตกรรมใหม่ ๆ 3.ความร่วมมือในอุตสาหกรรม โดยส่งเสริมความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างนักวิชาการและอุตสาหกรรม อำนวยความสะดวกในการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการพัฒนาแนวทางแก้ไขปัญหาในโลกแห่งความเป็นจริง และ 4.เกิดการยอมรับในระดับสากล โดยความร่วมมือของ TAIST กับ Tokyo Tech ช่วยเพิ่มชื่อเสียงของประเทศไทยในฐานะศูนย์กลางการศึกษาระดับอุดมศึกษาและการวิจัย ดึงดูดนักศึกษาต่างชาติและความร่วมมือในด้าน

“โครงการ TAIST Tokyo Tech ถือเป็นแนวทางที่ครอบคลุมในการพัฒนานักวิจัยและทรัพยากรมนุษย์ในประเทศไทย ด้วยการรวมการศึกษาขั้นสูง ความร่วมมือในอุตสาหกรรม การวิจัยแบบสหวิทยาการ และความเชี่ยวชาญระดับนานาชาติ โครงการฯ นี้จะช่วยให้ผู้เข้าร่วมมีทักษะและความรู้ที่จำเป็นในการรับมือกับความท้าทายด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทั้งในปัจจุบันและอนาคต” รองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวทิ้งท้าย


ทั้งนี้การเสวนาพิเศษ หัวข้อ HRD for Future world & Future Technology: เปิดมุมมอง ประสานแนวคิด ผู้แทนภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรมและคนรุ่นใหม่ เพื่อพัฒนาบุคลากร สำหรับอุตสาหกรรมในโลกแห่งอนาคต ผู้ร่วมเสวนาได้สะท้อนมุมมองความสำเร็จของโครงการ TAIST-Tokyo Tech ได้อย่างน่าสนใจ ได้แก่

ดร.พัชร์ลิตา ฉัตรวริศพงศ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า TAIST-Tokyo Tech พยายามที่จะตอบโจทย์ความต้องการบุคลากรของประเทศ ด้วยการพัฒนาหลักสูตรที่มีการประเมินคุณภาพการศึกษาระดับหลักสูตรตามเกณฑ์ AUN-QA ซึ่งจะมีการวัดผลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียว่านิสิตนักศึกษาที่เราผลิตต้องมีคุณภาพอย่างไร นอกจากนี้เราได้นำผลการคาดการณ์ความต้องการกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาวิเคราะห์ เพื่อวางแผนการผลิตกำลังคน การจัดสรรทุน และพัฒนาหลักสูตรเพื่อให้ TAIST-Tokyo Tech ตอบโจทย์การผลิตบุคลากรให้กับอุตสาหกรรมของประเทศได้

ดร.สัมพันธ์ ศิลปนาฎ นายกสมาคมนายจ้างอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์  กล่าวว่า รู้จักและได้เห็นการพัฒนารวมถึงผลผลิตจากโครงการ TAIST-Tokyo Tech มานาน นับเป็นโครงการที่สร้างแพลตฟอร์มการพัฒนากำลังคนคุณภาพสูง โดยนักศึกษาในโครงการนี้ได้รับโอกาสสำคัญ คือ การสัมผัสสิ่งแวดล้อมการเรียนรู้ที่หลากหลาย โอกาสในการเรียนรู้ข้ามหลักสูตร ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญต่อการเป็นพลเมืองของโลก หากมีโมเดลลักษณะนี้เกิดขึ้นในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอีกจะช่วยให้เราสามารถผลิตกำลังคนที่มีคุณภาพได้มากขึ้น

ดร.กอบกฤตย์ วิริยะยุทธกร นายกสมาคมผู้ประกอบการปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย กล่าวว่า ปัจุบัน 3 ประเด็นที่ทั้งโลกให้ความสำคัญ คือ 1) ปัญญาประดิษฐ์  2)ยานยนต์ไฟฟ้า 3)ความยั่งยืน ซึ่ง  TAIST-Tokyo Tech มีหลักสูตรที่ตอบโจทย์ประเด็นที่โลกให้ความสำคัญทั้งหมด  TAIST-Tokyo Tech จึงเป็นเหมือนโอกาสในการเรียนเรื่องที่ตรงกับความต้องการของโลกกับอาจารย์ระดับ world class เป็นแพลตฟอร์มการเรียนรู้ที่ทำให้เราเติบโตอย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังได้ลงมือทำจริงซึ่งถือเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ดีที่สุด

ดร.อัศวิน สาลี อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า TAIST-Tokyo Tech เป็นหลักสูตรที่ให้ชีวิตผ่านการมอบโอกาส เนื่องจากพื้นฐานไม่ได้จบด้านวิศวกรรมเครื่องกล แต่มีความชื่้นชอบเรื่องยานยนต์ และเป็นบันไดไปสู่โอกาสในการเรียนต่อปริญญาเอก และกลับมาพัฒนาคน สร้างคน ในฐานะอาจารย์ในปัจจุบัน

ดร.พัชรณัฐ แก้วมี ผู้จัดการ Renewable Energy Business Development, Prime Road Power Public Company Limited กล่าวว่า TAIST-Tokyo Tech เป็นบันไดก้าวสำคัญของชีวิต ส่วนตัวจบด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยไม่มีพื้นฐานความรู้ด้านวิศวกรรม TAIST-Tokyo Tech ทำให้  สามารถพัฒนาศักยภาพในตัวเอง รวมถึงความสามารถด้านภาษาอังกฤษ ทำให้รู้จักตัวเองมากขึ้น นำไปสู่โอกาสการทำงานในปัจจุบัน

แชร์หน้านี้: