หน้าแรก สำรวจ “นก” ใน “พื้นที่ชุ่มน้ำบึงขุนทะเล” พัฒนาสู่แหล่งเรียนรู้-แหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
สำรวจ “นก” ใน “พื้นที่ชุ่มน้ำบึงขุนทะเล” พัฒนาสู่แหล่งเรียนรู้-แหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
31 ม.ค. 2566
0
ข่าวประชาสัมพันธ์
บทความ

สำรวจ “นก” ใน “พื้นที่ชุ่มน้ำบึงขุนทะเล” พัฒนาสู่แหล่งเรียนรู้-แหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์

 

วันที่ 2 กุมภาพันธ์ของทุกปีถูกกำหนดให้เป็น “วันพื้นที่ชุ่มน้ำโลก” (World Wetlands Day) เพื่อตระหนักถึงคุณค่าและร่วมกันอนุรักษ์ระบบนิเวศที่มีความอุดมสมบูรณ์และมีความหลากหลายของทรัพยากรมากที่สุด โดยพื้นที่ชุ่มน้ำมีความสำคัญต่อวิถีชีวิตของมนุษย์ เป็นแหล่งรวบรวมพันธุ์พืชและสัตว์นานาชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นแหล่งของผู้ผลิตที่สำคัญในห่วงโซ่อาหาร มีทรัพยากรมากมายให้มนุษย์เข้าไปเก็บเกี่ยวใช้ประโยชน์ ทั้งยังเป็นปราการสำคัญที่ช่วยป้องกันไม่ให้น้ำเค็มรุกล้ำเข้าสู่แผ่นดินและช่วยบรรเทาภัยธรรมชาติต่าง ๆ ทว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมทำให้พื้นที่ชุ่มน้ำหลายแห่งทั่วโลกถูกคุกคาม การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับพื้นที่ชุ่มน้ำจะช่วยให้เรามีองค์ความรู้ที่สามารถนำไปใช้วางแผนบริหารจัดการและอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ดังเช่น “พื้นที่ชุ่มน้ำบึงขุนทะเล” จังหวัดสุราษฎร์ธานี

 

อาจารย์กนกอร ทองใหญ่ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี
อาจารย์กนกอร ทองใหญ่ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี

 

อาจารย์กนกอร ทองใหญ่ สาขาวิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า บึงขุนทะเลเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำขนาดใหญ่ที่สุดของจังหวัดสุราษฎร์ธานีที่อยู่ใกล้ชิดชุมชนเมือง ครอบคลุมพื้นที่มากกว่า 1,000 ไร่ มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง มีทรัพยากรสัตว์ป่าเด่น เช่น นกน้ำ นกสวน โดยพื้นที่นี้พบเป็นทั้งแหล่งอาศัยของนกประจำถิ่นหลากชนิด และเป็นแหล่งพักพิงชั่วคราวของนกอพยพในช่วงฤดูอพยพ

ต่อมาบริเวณรอบบึงพัฒนาเป็นสวนสาธารณะและพื้นที่สำหรับออกกำลังกาย ทำให้พื้นที่บึงขุนทะเลบางส่วนถูกปรับเปลี่ยนและมีสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลต่อระบบนิเวศและแหล่งที่อยู่อาศัยของประชากรนก ทีมวิจัยจึงได้ริเริ่มจัดทำโครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้นิเวศวิทยาของนกในพื้นที่ชุ่มน้ำบึงขุนทะเล เพื่อสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพของนกในพื้นที่ชุ่มน้ำบึงขุนทะเล และผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนกระบวนการเรียนรู้และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยทีมวิจัยทำงานร่วมกับคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี กลุ่มประมงพื้นบ้านและการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ กลุ่มรักษ์บึงขุนทะเล มูลนิธินิเวศวิถี และศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าเขาท่าเพชร สุราษฎร์ธานี

“จากการสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพของนกในพื้นที่ชุ่มน้ำบึงขุนทะเล พบว่ามีชนิดพันธุ์นกทั้งหมด 142 ชนิด ทั้งนกประจำถิ่นและนกอพยพ เป็นนกที่อยู่ในบัญชีแดงของ IUCN 3 ชนิด หนึ่งในนั้นอยู่ในสถานภาพมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (VU) คือ นกเงือกกรามช้างปากเรียบ (Rhyticeros subruficollis) ส่วนอีก 2 ชนิดมีสถานภาพใกล้ถูกคุกคาม (NT) ได้แก่ นกกาบบัว (Mycteria leucocephala) และนกอ้ายงั่ว (Anhinga melanogaster) นอกจากนี้ พื้นที่ชุ่มน้ำบึงขุนทะเลยังมีชนิดนกน้ำเด่น เช่น นกอีโก้ง นกอีแจว นกพริก นกอีล้ำ นกอัญชันคิ้วขาว นกกาน้ำเล็ก เป็ดแดง เป็ดคับแค นกเป็ดผีเล็ก นกกระสาแดง ฯลฯ ในการสำรวจพบนกอีโก้ง นกพริก และเป็ดแดง ในวัยอ่อน บ่งชี้ได้ว่าพื้นที่ชุ่มน้ำบึงขุนทะเลมีความสำคัญในด้านการใช้เป็นแหล่งผสมพันธุ์ ทำรัง วางไข่ และเลี้ยงดูลูกอ่อน โดยองค์ความรู้ที่ได้นี้จะนำไปจัดทำหนังสือนกในพื้นที่ชุ่มน้ำบึงขุนทะเล และป้ายสื่อความหมายในแนวเส้นทางจักรยานของบึงขุนทะเลส่งมอบให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานีและเทศบาลนครสุราษฎร์ธานี เพื่อใช้ในการบริหารจัดการพื้นที่สำหรับเป็นท่องเที่ยวเชิงนิเวศของจังหวัด”

 

สำรวจ “นก” ใน “พื้นที่ชุ่มน้ำบึงขุนทะเล” พัฒนาสู่แหล่งเรียนรู้-แหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
นกเงือกกรามช้างปากเรียบ สถานภาพมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (VU) – ภาพโดย อภิชาติ มากมูล

 

สำรวจ “นก” ใน “พื้นที่ชุ่มน้ำบึงขุนทะเล” พัฒนาสู่แหล่งเรียนรู้-แหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
นกกาบบัว สถานภาพใกล้ถูกคุกคาม (NT) – ภาพโดย อัศวิน โนนเมืองนอก

 

สำรวจ “นก” ใน “พื้นที่ชุ่มน้ำบึงขุนทะเล” พัฒนาสู่แหล่งเรียนรู้-แหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
นกอ้ายงั่ว สถานภาพใกล้ถูกคุกคาม (NT) – ภาพโดย ปรีดามน คำวชิรพิทักษ์

 

สำรวจ “นก” ใน “พื้นที่ชุ่มน้ำบึงขุนทะเล” พัฒนาสู่แหล่งเรียนรู้-แหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
นกอ้ายงั่ว สถานภาพใกล้ถูกคุกคาม (NT) – ภาพโดย กนกอร ทองใหญ่

 

นอกจากนี้ทีมวิจัยยังได้สำรวจเพื่อจัดทำเส้นทางท่องเที่ยวชมนกในพื้นที่ชุ่มน้ำบึงขุนทะเล 3 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางหาดเลนบริเวณรอบเกาะกลางบึง (ตรงข้ามศาลพ่อตาขุนทะเล), เส้นทางสวนสาธารณะ และเส้นทางบริเวณแนวต้นไทร โดยร่วมกับผู้นำชุมชนกลุ่มประมงพื้นบ้านและการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ที่จะจัดทำโปรแกรมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในรูปแบบวันเดย์ทริป (one day trip) สำหรับผู้ที่สนใจ เพื่อส่งเสริมให้พื้นที่ชุ่มน้ำบึงขุนทะเลเป็นแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติและระบบนิเวศที่สำคัญของจังหวัดสุราษฎร์ธานี รวมถึงกระตุ้นให้เกิดความตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของพื้นที่ชุ่มน้ำ ลดการบุกรุกทำลายหรือการทำกิจกรรมที่จะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในพื้นที่ดังกล่าว

 

สำรวจ “นก” ใน “พื้นที่ชุ่มน้ำบึงขุนทะเล” พัฒนาสู่แหล่งเรียนรู้-แหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
พื้นที่ชุ่มน้ำบึงขุนทะเล ถิ่นที่อยู่อาศัยของนกนานาพันธุ์ ในภาพประกอบด้วย นกยางเปีย นกตีนเทียน นกอีโก้ง นกเอี้ยงหงอน และนกกระแตแต้แว้ด และพบนกอีโก้งฟอร์มสีขาวในพื้นที่ – ภาพโดย กนกอร ทองใหญ่

 

“เมื่อเรามีองค์ความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ นิเวศวิทยา และชีววิทยาของนกในพื้นที่ชุ่มน้ำบึงขุนทะเล ทำให้เราสามารถวางแผนบริหารจัดการทรัพยากรในท้องถิ่น เพื่อสงวนรักษาพื้นที่ผสมพันธุ์ ทำรัง วางไข่ตามธรรมชาติของนก หรือใช้เป็นแผนแม่บทหรือข้อบัญญัติของท้องถิ่นในการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์ป่า อนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำให้เป็นแหล่งทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์และเกิดการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน”

สามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เฟซบุ๊ก แหล่งเรียนรู้นิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำบึงขุนทะเล

 

สำรวจ “นก” ใน “พื้นที่ชุ่มน้ำบึงขุนทะเล” พัฒนาสู่แหล่งเรียนรู้-แหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
นกอีแจว ราชินีนกน้ำเมืองไทย พบได้ที่บึงขุนทะเล – ภาพโดย กนกอร ทองใหญ่

 

สำรวจ “นก” ใน “พื้นที่ชุ่มน้ำบึงขุนทะเล” พัฒนาสู่แหล่งเรียนรู้-แหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
นกแซงแซวหางปลา พบได้ตลอดทั้งปีที่บึงขุนทะเล – ภาพโดย กนกอร ทองใหญ่

 

สำรวจ “นก” ใน “พื้นที่ชุ่มน้ำบึงขุนทะเล” พัฒนาสู่แหล่งเรียนรู้-แหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
นกอัญชันคิ้วขาว นกประจำถิ่นในบึงขุนทะเล แต่พบได้ไม่บ่อยนัก – ภาพโดย กนกอร ทองใหญ่

 

สำรวจ “นก” ใน “พื้นที่ชุ่มน้ำบึงขุนทะเล” พัฒนาสู่แหล่งเรียนรู้-แหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
นกกระแตหัวเทา นกอพยพที่พบได้ทุกปีช่วงฤดูอพยพในพื้นที่บึงขุนทะเล – ภาพโดย กนกอร ทองใหญ่

 

สำรวจ “นก” ใน “พื้นที่ชุ่มน้ำบึงขุนทะเล” พัฒนาสู่แหล่งเรียนรู้-แหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
นกกระจิบคอดำ ตัวเล็ก นิสัยปราดเปรียว พบได้บ่อยในบึงขุนทะเล – ภาพโดย กนกอร ทองใหญ่

 

สำรวจ “นก” ใน “พื้นที่ชุ่มน้ำบึงขุนทะเล” พัฒนาสู่แหล่งเรียนรู้-แหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
กาฝากท้องสีส้ม นกน้อยในบึงขุนทะเล พบได้บ่อยในพื้นที่สวนผลไม้ – ภาพโดย กนกอร ทองใหญ่

 

สำรวจ “นก” ใน “พื้นที่ชุ่มน้ำบึงขุนทะเล” พัฒนาสู่แหล่งเรียนรู้-แหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
นกอีโก้ง ฉายาอัญมณีแห่งขุนทะเล – ภาพโดย กนกอร ทองใหญ่

 

สำรวจ “นก” ใน “พื้นที่ชุ่มน้ำบึงขุนทะเล” พัฒนาสู่แหล่งเรียนรู้-แหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
นกนางแอ่นแปซิฟิก – ภาพโดย กนกอร ทองใหญ่

 

สำรวจ “นก” ใน “พื้นที่ชุ่มน้ำบึงขุนทะเล” พัฒนาสู่แหล่งเรียนรู้-แหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
นกคัคคูสีทองแดง นกประจำถิ่นและนกหายากในพื้นที่ชุ่มน้ำบึงขุนทะเล – ภาพโดย กนกอร ทองใหญ่

 

สำรวจ “นก” ใน “พื้นที่ชุ่มน้ำบึงขุนทะเล” พัฒนาสู่แหล่งเรียนรู้-แหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
นกตีนเทียน พบได้บ่อยในพื้นที่ชุ่มน้ำบึงขุนทะเลช่วงฤดูอพยพ – ภาพโดย กนกอร ทองใหญ่

 

สำรวจ “นก” ใน “พื้นที่ชุ่มน้ำบึงขุนทะเล” พัฒนาสู่แหล่งเรียนรู้-แหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
นกอินทรีทะเลท้องขาว นกนักล่าในพื้นที่บึงขุนทะเล – ภาพโดย กนกอร ทองใหญ่

 

สำรวจ “นก” ใน “พื้นที่ชุ่มน้ำบึงขุนทะเล” พัฒนาสู่แหล่งเรียนรู้-แหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
เหยี่ยวขาว นกนักล่าในพื้นที่บึงขุนทะเล – ภาพโดย รพีพัฒน์ อรรคพันธ์

 

สำรวจ “นก” ใน “พื้นที่ชุ่มน้ำบึงขุนทะเล” พัฒนาสู่แหล่งเรียนรู้-แหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
เป็ดแดง นกน้ำอีกชนิดหนึ่งที่เป็นดาวเด่นแห่งพื้นที่ชุ่มน้ำบึงขุนทะเล – ภาพโดย กนกอร ทองใหญ่

 

สำรวจ “นก” ใน “พื้นที่ชุ่มน้ำบึงขุนทะเล” พัฒนาสู่แหล่งเรียนรู้-แหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
นกเด้าดิน หนึ่งในนกอพยพที่มาอาศัยบึงขุนทะเลเป็นแหล่งพักพิงในช่วงฤดูอพยพของทุกปี – ภาพโดย ปรีดามน คำวชิรพิทักษ์

 

สำรวจ “นก” ใน “พื้นที่ชุ่มน้ำบึงขุนทะเล” พัฒนาสู่แหล่งเรียนรู้-แหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
เยาวชนร่วมกิจกรรมสำรวจธรรมชาติ ณ แหล่งเรียนรู้นิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำบึงขุนทะเล – ภาพจากเฟซบุ๊ก สาขาวิชาชีววิทยา มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี

 

สำรวจ “นก” ใน “พื้นที่ชุ่มน้ำบึงขุนทะเล” พัฒนาสู่แหล่งเรียนรู้-แหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
บัญชีรายการชนิดพันธุ์นกที่พบได้บ่อย ในพื้นที่ชุ่มน้ำบึงขุนทะเล จัดทำโดย อาจารย์กนกอร ทองใหญ่ และทีมวิจัย
แชร์หน้านี้: