(วันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ.2567) ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ อาคารวิจัยโยธี ถนนพระราม 6 แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ: กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย ดร.สมบุญ สหสิทธิวัฒน์ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พร้อมด้วย นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)
ร่วมลงนามใน “บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การยกระดับผู้ประกอบการ SMEs เข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0″ ผ่านแพลตฟอร์มประเมินความพร้อมด้านนวัตกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ แพลตฟอร์ม บสย. SMEs Gateway ตรวจสุขภาพทางการเงิน และประเมินโอกาสธุรกิจ การเข้าถึงสินเชื่อ ผ่าน LINE OA @ tcgfirst ช่วยให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมมีความรู้ความเข้าใจ และมีแนวทางในการลงทุนยกระดับสู่อุตสาหกรรม 4.0 ได้อย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพสูงสุด
นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.) กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้จะเป็นปรากฏการณ์ครั้งสำคัญ ระหว่าง บสย. และ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยใช้จุดแข็งและความพร้อมด้านแพลตฟอร์มการวิเคราะห์และประเมินผู้ประกอบการ SMEs ที่กำลังจะก้าวสู่อุตสาหกรรม 4.0 ได้ประเมินความพร้อมตัวเอง โดย บสย. มีเครื่องมือการตรวจเช็คสุขภาพทางการเงิน ธุรกิจ พร้อมผู้เชี่ยวชาญประเมินความสามารถในการเข้าถึงสินเชื่อ รวมทั้งการเตรียมความพร้อมการขอสินเชื่อ ภายใต้กลยุทธ์องค์กร สู่การเป็น Digital SMEs Gateway บสย. จะเชื่อมโยง มิติการประเมินความสามารถทางการเงิน ร่วมกันสนับสนุน การแลกเปลี่ยนข้อมูล เพื่อใช้ร่วมกับการวิเคราะห์การค้ำประกันสินเชื่อในกลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม พร้อมผลักดันให้เกิดกลไกการพัฒนาต่อยอด Thaland i4.0 Index ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจในยุคดิจิทัล มาตรการทางการค้า ข้อกฎหมายใหม่ ๆ และเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ขณะนี้ บสย. พร้อมให้การค้ำประกันสินเชื่อ โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลโดยกระทรวงการคลัง ในโครงการ “บสย. SMEs ยั่งยืน” หรือ PGS 11 วงเงิน 50,000 ล้านบาท ซึ่งเปิดให้บริการแล้ว ร่วมกับ 18 สถาบันการเงิน ซึ่ง บสย. ให้การค้ำประกันสินเชื่อธุรกิจกลุ่ม Green ด้วยวงเงินค้ำประกันสูงสุด 40 ล้านบาทต่อราย และ ฟรีค่าธรรมเนียมค้ำประกันสินเชื่อ 2-4 ปีแรก ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ดีเยี่ยมของทั้ง 2 หน่วยงานที่จะเข้าไปช่วยยกระดับ SMEs สู่อุตสาหกรรม 4.0 ได้อย่างยั่งยืน คาดว่าจะมีผู้ประกอบการกว่า 600 โรงงาน ที่เตรียมตัวยกระดับเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 จะมีความต้องการสินเชื่อและค้ำประกันสินเชื่อ คิดเป็นเม็ดเงินค้ำประกันสินเชื่อกว่า 3,000 ล้านบาท (เฉลี่ย 5.0 ล้านบาทต่อราย) ก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบกว่า 3,600 ล้านบาทต่อปี สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ได้มากกว่า 14,000 ล้านบาท
ดร.สมบุญ สหสิทธิวัฒน์ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า สวทช. มีความมุ่งมั่นที่จะตอบโจทย์การสนับสนุนผู้ประกอบการโดยเฉพาะ จึงได้จัดตั้งกลุ่มแพลตฟอร์มสนับสนุนอุตสาหกรรม 4.0 (NSTDA Core Business – Industry 4.0) ขึ้นในปี 2566 เพื่อให้ผู้ประกอบการเข้ามาใช้บริการสนับสนุนการพัฒนายกระดับสถานประกอบการเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 การดำเนินงานที่ผ่านมามีการประเมินระดับอุตสาหกรรมที่สายการผลิต โดยผู้ประเมิน Thailand i4.0 Index ไปแล้วกว่า 200 โรงงาน ล่าสุดในปี 2567 กลุ่มแพลตฟอร์มสนับสนุนอุตสาหกรรม 4.0 ได้พัฒนาเว็บไซต์ i4Platform ที่มีระบบการประเมินแบบออนไลน์ซึ่งผู้ประกอบการสามารถทำได้ด้วยตนเอง (Online Interactive Self-assessment) ที่มีชื่อว่า “Thailand i4.0 Checkup” การประเมินรูปแบบนี้เข้าถึงได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และสามารถรู้ผลได้ทันที โดยทราบแนวทางเบื้องต้นในการปรับปรุงยกระดับองค์กรสู่อุตสาหกรรม 4.0 ก่อนตัดสินใจเลือกใช้บริการสนับสนุนต่าง ๆ อาทิ บริการประเมินระดับอุตสาหกรรมที่สายการผลิตโดยผู้ประเมิน Thailand i4.0 Index บริการทำแผนลงทุนสำหรับยื่นขอสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุน บริการที่ปรึกษาทางด้านเทคนิค บริการรับจ้างวิจัย บริการถ่ายทอดเทคโนโลยีพร้อมใช้ ตลอดจนบริการอื่น ๆ ผ่านแคมเปญที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการ เพื่อให้เกิดการลงมือปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม
อย่างไรก็ตามปัจจัยที่มีส่วนช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถปรับปรุงองค์กรสู่อุตสาหกรรม 4.0 ได้อย่างรวดเร็วนั้น คือ เงินทุน ซึ่งทาง สวทช. มีความยินดีที่ทางบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม เล็งเห็นถึงความสำคัญของการประเมิน Thailand i4.0 Index โดยนำผลการประเมินดังกล่าว มาเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องมือที่ใช้ในการประเมินศักยภาพทางการเงินของผู้ประกอบการ SMEs ที่ต้องการค้ำประกันสินเชื่อ ทำให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อใช้ในการดำเนินการได้ รวมถึงยังมีความร่วมมือในการพัฒนาแพลตฟอร์ม โดยการเพิ่มทักษะ แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางด้านเทคโนโลยีและด้านการเงินที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs ที่จะเข้ามาใช้บริการในอนาคต และเป็นแนวทางในการกำหนดกลยุทธ์เพื่อการพัฒนาองค์กรสู่อุตสาหกรรม 4.0 เพื่อใช้ผลการประเมินเพื่อประกอบการขอรับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ จากภาครัฐ เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทย