i4.0 Maturity

i4.0 Maturity

Readiness Assessment by Experts


การประเมินระดับความพร้อมองค์กรโดยผู้เชี่ยวชาญ เพื่อพัฒนาแนวทางและแผนงาน   ในการก้าวสู่อุตสาหกรรม 4.0 ตามลำดับที่เหมาะสมกับบริบทของแต่ละองค์กรอย่างแท้จริง

ดัชนีชี้วัดความพร้อมอุตสาหกรรม 4.0 สำหรับประเทศไทย หรือ Thailand i4.0 Index (อ่านว่า ไทยแลนด์ ไอโฟ อินเด็กซ์) ได้ถูกพัฒนาขึ้นโดยอ้างอิงจากมาตรฐานสากล ซึ่งมีความเหมาะสมกับบริบทการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2567 ให้เป็นเป็นเครื่องมือกลางของประเทศไทยในการชี้วัดระดับความพร้อมของอุตสาหกรรมไทย

Thailand i4.0 Index จึงเป็นที่ยอมรับในวงการอุตสาหกรรมไทย จากการที่ได้ถูกใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาสิทธิประโยชน์ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้รับการบรรจุให้เป็นรายวิชาในการฝึกอบรมนักวิเคราะห์ระบบอัตโนมัติ (System Analyst: SA) ของกระทรวงอุตสาหกรรม และเป็นวิชาบังคับในหลักสูตรวิศวกรรมบูรณาการระบบการผลิต กระทรวง อว.

Thailand i4.0 Index เป็นเครื่องมือสำหรับการยกระดับความพร้อมของอุตสาหกรรมไทยสู่อุตสาหกรรม 4.0 อย่างเป็นระบบและเป็นขั้นเป็นตอน โดยพิจารณาประเด็นที่สำคัญต่อการทำ Digital Transformation ของอุตสาหกรรมอย่างรอบด้านเพื่อการยกระดับมาตรฐานของอุตสาหกรรมไทย ทำให้โรงงานอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการมีองค์ความรู้เรื่องการปรับปรุงองค์กรให้เป็นมาตรฐานก้าวไปสู่องค์กรแห่งยุคอุตสาหกรรม 4.0 ได้ทราบว่าจะต้องปรับปรุงองค์กรของตนในด้านใด สามารถจัดลำดับความสำคัญและเป็นแนวทางในการปรับปรุงองค์กรอย่างยั่งยืน โดยดัชนีชี้วัดระดับความพร้อมแบ่งเป็น 6 มิติหลัก ได้แก่

  1. เทคโนโลยี (Technology) : การนำเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการผลิตแบบอัตโนมัติ ตั้งแต่การควบคุมการผลิต การจัดการสถานที่และองค์กร และเชื่อมต่อทุกภาคส่วนเข้าด้วยกัน
  2. การดำเนินงานที่ชาญฉลาด (Smart Operation) : การประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูลอย่างชาญฉลาดเพื่อใช้ในการบริหารการผลิต การดำเนินงานขององค์กร อุปกรณ์และสถานที่ผลิตที่ดำเนินแบบแผนไปในทางเดียวกันอย่างคล่องตัว
  3. ระบบไอทีและธุรกรรมข้อมูล (IT System and Data Transaction) : การบูรณาการระบบและการจัดการภายในองค์กร โดยเชื่อมต่อกระบวนการต่างๆ แบบแนวตั้งหรือแบบปิรามิด (ปิรามิดอัตโนมัติในอุตสาหกรรม ตามมาตรฐาน ISA-95) และการเชื่อมต่อกันระหว่างห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain)
  4. ตลาดและลูกค้า (Market and Customers) : การรวบรวมและจัดการข้อมูลเชิงพฤติกรรมของผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายและสภาพตลาดเพื่อการกำหนดกลยุทธ์ทางธุรกิจ การออกแบบ และวางแผนวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์
  5. กลยุทธ์และองค์กร (Strategy & Organization) : กระบวนการทำงานและการนำพาองค์กรจากผู้บริหารไปสู่พนักงาน การวางแผนและพัฒนาขององค์กรสู่อุตสาหกรรม 4.0 โดยวิสัยทัศน์ของผู้บริหารและการร่วมมือกับพันธมิตรภายนอก
  6. ทุนมนุษย์ (Human Capital) : การพัฒนาขีดความสามารถของบุคคลากรโดยการฝึกอบรมให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาสู่อุตสาหกรรม 4.0 ขององค์กร

จาก 6 มิติหลัก ได้ถูกแบ่งออกเป็น 17 มิติย่อย เพื่อให้การวัดระดับความพร้อมขององค์กร มีความชัดเจนเพียงพอในการพิจารณา ซึ่งรายละเอียดและคำอธิบายรายมิติย่อย สามารถศึกษาได้จาก  สมุดปกขาวเครื่องมือชุดดัชนีชี้วัดอุตสาหกรรม 4.0 สำหรับประเทศไทย   และแต่ละมิติย่อยจะมีการกำหนดระดับความพร้อมออกเป็น 6 ระดับ โดยสามารถไล่เรียงจากคุณลักษณะของอุตสาหกรรม 1.0 ถึง อุตสาหกรรม 4.0

กระบวนการประเมิน

      ขั้นตอนที่ 1 : ประชุมทำความเข้าใจ (Briefing Call) แบบออนไลน์ (1 ชม.) 
                            ผู้ประเมินจะทำการอธิบายข้อมูลต่างๆ ที่โรงงานจำเป็นต้องทราบสำหรับการเตรียมความพร้อมก่อนที่ผู้เข้าประเมินจะเข้าปฏิบัติงานที่โรงงาน
                           ไฟล์นำเสนอ Briefing Call

       ขั้นตอนที่ 2 : ผู้ประเมินเข้าปฏิบัติงานที่โรงงาน (1 วัน = 8 ชม.)
                             หลังจาก Briefing call ประมาณ 2 สัปดาห์ ผู้ประเมินและทีมงานจะเข้าปฏิบัติงานที่โรงงาน โดยใช้เวลา 1 วัน ตั้งแต่ 09:00-17:00 ซึ่งผู้ประสานงานของ                               โรงงานจำเป็นต้องเตรียมสถานที่ ข้อมูล และผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมโดยพร้อมเพรียงกัน

        ขั้นตอนที่ 3 : ประชุมส่งมอบงาน อธิบายผลการประเมิน และให้คำแนะนำเบื้องต้น แบบออนไลน์ (1 ชม.)

        หลังจากวันประเมินประมาณ 2 สัปดาห์ ผู้ประเมินจะสรุปผลการประเมินให้แก่ผู้บริหารของโรงงานได้รับทราบ พร้อมทั้งให้คำแนะนำในการยกระดับความพร้อมด้านที่สำคัญก่อน และส่งมอบรายงานในรูปแบบตารางแสดงผลการประเมินในแต่ละมิติโดยละเอียด พร้อมกราฟสรุปที่ให้ข้อมูลเทียบกับค่าเฉลียในอุตสาหกรรมของผู้ประกอบการที่เข้ารับการประเมินด้วย