วิปโปร (VipPro) เป็นผลิตภัณฑ์ที่พัฒนามาจากโปรตีน Vip3A (Vegetative insecticidal protein) ซึ่งเป็นโปรตีนฆ่าแมลงที่พบได้ในบีที (Bacillus thuringiensis) บางสายพันธุ์ โปรตีนชนิดนี้จะถูกสร้างและหลั่งออกนอกเซลล์ในระยะที่เซลล์กำลังเจริญก่อนเข้าสู่การสร้างสปอร์ บีทีต่างสายพันธุ์สามารถสร้างโปรตีน Vip3A ได้แตกต่างกันและออกฤทธิ์ต่อแมลงได้ต่างกัน โปรตีนกลุ่มนี้สามารถออกฤทธิ์ฆ่าหนอนแมลงในกลุ่มหนอนผีเสื้อและหนอนผีเสื้อกลางคืน (Lepidoptera) ซึ่งเป็นแมลงศัตรูหลักของพืชเกือบทุกชนิด โดยมีค่า LD50 ใกล้เคียงกับ Cry toxin ซึ่งเป็นโปรตีนผลึกสร้างโดยบีทีและมีใช้กันทั่วไปในปัจจุบัน โปรตีน Vip3A สามารถออกฤทธิ์ต่อหนอนแมลงที่ดื้อต่อ Cry toxin ได้อย่างดีเนื่องจากมีกลไกการออกฤทธิ์และการจดจำตัวรับ (receptor) ที่แตกต่างกัน จากการค้นหา Vip3A ตัวใหม่จากบีทีสายพันธุ์ที่คัดแยกได้ในประเทศไทยจำนวนมากกว่า 500 ตัวอย่าง เราได้โปรตีนที่ออกฤทธิ์ได้ดีต่อหนอนกระทู้หอม (Spodoptera exigua) และหนอนกระทู้ผัก (Spodoptera litura) ซึ่งเป็นแมลงศัตรูพืชที่สำคัญและก่อความเสียหายอย่างมากกับพืชเศรษฐกิจหลายชนิดของประเทศไทย
จุดเด่นของเทคโนโลยี (Innovation Statement)
จุดเด่นของชีวภัณฑ์ VipPro คือเป็นผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัย ไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ สัตว์ และสิ่งแวดล้อม ออกฤทธิ์ได้ค่อนข้างเร็ว (แมลงหยุดกินอาหารภายในหนึ่งชั่วโมง) ลดความสูญเสียและร่องรอยตำหนิบนใบพืช ออกฤทธิ์เสริม (synergism) กับชีวภัณฑ์อื่นๆ เช่น ไวรัสเอนพีวี (NPV) ราบิวเวอเรีย (Beauveria bassiana) และโปรตีนผลึกจากบีที (Cry toxins) ทำให้สามารถลดปริมาณการใช้ชีวภัณฑ์เหล่านั้นอย่างน้อยสิบเท่าเมื่อใช้ร่วมกับผลิตภัณฑ์ VipPro และสามารถใช้ได้กับแมลงที่ดื้อต่อสารเคมีหรือดื้อต่อโปรตีนผลึก ผลการทดสอบภาคสนามพบว่าผลิตภัณฑ์ VipPro สามารถควบคุมแมลงศัตรูพืชได้ดีมากในทุกแปลงทดสอบ ได้ผลผลิตเทียบเท่ากับการใช้สารเคมี
คุณสมบัติของต้นแบบผลิตภัณฑ์
- VipPro ออกฤทธิ์ต่อแมลงศัตรูพืชจำพวกหนอนผีเสื้อและผีเสื้อกลางคืนได้หลายชนิด ซึ่งแมลงเหล่านี้เป็นแมลงศัตรูพืชที่ก่อความเสียหายอย่างมากต่อพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทยและประเทศอื่นๆทั่วโลก
- VipPro สามารถออกฤทธิ์ต่อหนอนแมลงที่ดื้อต่อยาฆ่าแมลง และแมลงที่ดื้อต่อโปรตีนผลึกของบีที
- VipPro สามารถออกฤทธิ์เสริม (synergism) กับชีวภัณฑ์อื่นๆ เช่น ไวรัสเอนพีวี ราบิวเวอเรีย โปรตีนผลึกจากบีที ดังนั้นจึงเหมาะในการใช้ในโปรแกรมการจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน (Integrated pest management: IPM)
การประยุกต์ใช้งาน
ใช้ฉีดพ่นในแปลงพืชผักผลไม้ เพื่อป้องกันและกำจัดแมลงศัตรูพืชจำพวกหนอนผีเสื้อทั้งผีเสื้อกลางวันและผีเสื้อกลางคืนที่เป็นแมลงศัตรูพืชที่สำคัญของประเทศไทยและทั่วโลก เช่น หนอนกระทู้หอม หนอนกระทู้ผัก หนอนใยผัก หนอนคืบ เป็นต้น
กลุ่มลูกค้า / ผู้ใช้งานเทคโนโลยีเป้าหมาย
- ผู้ประกอบการด้านการเกษตร เช่น ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช
- เกษตรกรผู้ปลูกพืชที่เน้นการผลิตแบบปลอดภัยไร้สารพิษ และเกษตรอินทรีย์
กลุ่มนักลงทุนเป้าหมาย
ผู้ประกอบการด้านการเกษตร ที่ต้องการผลิตและจำหน่ายชีวภัณฑ์ป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช เพื่อส่งเสริมการเกษตรปลอดภัย ไร้สารพิษ และนักลงทุนที่สนใจ
สถานภาพทรัพย์สินทางปัญญา
- อนุสิทธิบัตรเลขที่ 12300 ชื่อ “กระบวนการเพาะเลี้ยงเชื้อบีที เพื่อผลิตโปรตีน Vip3A ในระดับห้องปฏิบัติการ”
- ความลับทางการค้า เรื่อง “สูตรอาหารและวิธีการเลี้ยงเซลล์บีทีเพื่อให้สร้างโปรตีน Vip3A”
สถานะการพัฒนาผลิตภัณฑ์
มีต้นแบบระดับห้องปฏิบัติการและระดับก่อนโรงงานต้นแบบ (Pre-pilot scale) รอผู้ร่วมลงทุนเพื่อพัฒนาเป็นระดับโรงงานต้นแบบและการผลิตเชิงพาณิชย์
ภาพรวมตลาด
มูลค่ารวมของสารชีวภาพที่ใช้กำจัดแมลงศัตรูพืชของประเทศไทยในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน แต่คาดว่าจะมีค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับสารเคมีฆ่าแมลง อย่างไรก็ตามการใช้สารชีวภาพมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆเนื่องจากผู้บริโภคเริ่มหันมาสนใจสุขภาพและความปลอดภัยของอาหารมากขึ้น ดังนั้นผู้ผลิตสินค้าต่างๆรวมทั้งผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรจึงมีความต้องการใช้สารชีวภาพมากขึ้นเพื่อทดแทนสารเคมีอันตราย ประเทศไทยมีการนำเข้าสารเคมีกำจัดแมลงปีละหลายพันล้านบาทและมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นหากสามารถผลิตชีวภัณฑ์กำจัดแมลงศัตรูพืชที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ก็จะสามารถทดแทนการใช้สารเคมีดังกล่าวได้
" วิปโปร ชีวภัณฑ์กำจัดแมลงศัตรูพืช "
ติดต่อขอรับข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
ดร.บุญเฮียง พรมดอนกอย
ห้องปฏิบัติการวิจัยการควบคุมทางชีวภาพ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ สวทช.
โทรศัพท์ 0-2564-6700 ต่อ 3343 E-mail : boonhiang@biotec.or.th
ดร.มงคล อุตมโท
ห้องปฏิบัติการวิจัยการควบคุมทางชีวภาพ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ สวทช.
โทรศัพท์ 0-2564-6700 ต่อ 3347 E-mail : mongkon@biotec.or.th
นางสาวชลลดา รุ่งอิทธิวงศ์
ฝ่ายพัฒนาธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ สวทช.
โทรศัพท์ 0-2564-6700 ต่อ 3393 E-mail : chonlada.run@biotec.or.th
นางสาวรัชวรรณ ฐานัตถวงศ์เจริญ
สำนักงานจัดการสิทธิเทคโนโลยี สวทช.
โทรศัพท์ 0-2564-7000 ต่อ 1357 E-mail : ratchawan.tanuttawongcharoen@nstda.or.th
ศูนย์ลงทุน
ฝ่ายบริการพัฒนาธุรกิจเทคโนโลยี สวทช.
โทรศัพท์ 0-2564-7000 ต่อ 1327, 1345 E-mail : nic@nstda.or.th