แนะนำโครงการ

ความเป็นมา

เด็กและเยาวชนผู้มีความสามารถพิเศษ เป็นทรัพยากรบุคคลที่ประมาณค่ามิได้ของประเทศชาติ หากได้รับ การส่งเสริมอย่างเต็มที่ และถูกวิธี เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ จะสามารถสร้างคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติได้อย่าง อเนกอนันต์

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในฐานะที่เป็น หน่วยงาน ที่มีหน้าที่โดยตรง ในการนำวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีมาใช้ ในการพัฒนา ประเทศ รวมถึง การส่งเสริมการพัฒนา กำลังคนทาง ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทั้งในภาครัฐและเอกชน จึงได้ดำเนินโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาตั้งแต่ปี 2540 โดยมีเป้าหมายที่จะค้นหา เด็กและเยาวชน ที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาให้การส่งเสริมและสนับสนุนด้วยวิธีการ และรูปแบบที่หลากหลาย ตามความถนัด และความสนใจของแต่ละคน เพื่อพัฒนาเด็ก และเยาวชน เหล่านี้ให้เพิ่มพูน ศักยภาพทางวิทยาศาสตร์อย่างถูกต้องและต่อเนื่อง จนสามารถก้าวเข้าสู่อาชีพ นักวิทยาศาสตร์/นักวิจัย ที่มีคุณภาพ ของประเทศ

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อปลูกฝังให้เด็กและเยาวชนสนใจทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยและเข้าใจถึงบทบาทของวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีต่อความเจริญก้าวหน้าของประเทศชาติและมนุษยชาติตลอดจนมีความเข้าใจและใฝ่รักวิชาชีพนักวิทยาศาสตร์ นักเทคโนโลยี และนักวิจัย
  2. เพื่อเพิ่มจำนวนนักวิทยาศาสตร์ นักเทคโนโลยีและนักวิจัยที่มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับในระดับประเทศและระดับนานาชาติ
  3. เพื่อสร้างกลไกและระบบในการเสาะหา คัดเลือก และบ่มเพาะ ผู้มีความสามารถพิเศษ และผู้มีอัจฉริยภาพ ทางวิทยาศาสร์และเทคโนโลยี ให้มีศักยภาพสูงสุด

เป้าหมาย แบ่งเป็น 2 ระดับ

  1. ระดับผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Gifted and Talented Children) ได้แก่ เด็กและเยาวชนไทยระดับมัธยมศึกษา จำนวนปีละประมาณ 50 คน ซึ่งเด็กและเยาวชนกลุ่มนี้จะอยู่ในกระบวนการส่งเสริมประสบการณ์และพัฒนาศักยภาพเป็นเวลาประมาณ 1 ปี โดยจะมีการสนับสนุนและติดตามความก้าวหน้า เพื่อให้เข้าสู่อาชีพ ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้มากที่สุดลักษณะของกิจกรรมสำหรับกลุ่มนี้ซึ่งอยู่ในสถานศึกษาต่างๆ จะประกอบไปด้วย ค่ายวิทยาศาสตร์โครงงานวิทยาศาสตร์การให้คำแนะนำโดยนักวิทยาศาสตร์พี่เลี้ยงและนักเทคโนโลยีพี่เลี้ยง
  2. ระดับผู้มีแววอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Genius) คัดเลือกจากกลุ่มแรกปีละประมาณ 7 คน ได้รับ การสนับสนุนจากโครงการในระยะยาว ได้รับทุนการศึกษาและการวิจัยจนกว่าจะสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก และเข้าสู่อาชีพ นักวิชาการและนักวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยมีนักวิทยาศาสตร์พี่เลี้ยงและนักเทคโนโลยีพี่เลี้ยง (Mentor) คอยดูแล และให้คำปรึกษา

คุณสมบัติผู้สมัคร

นักเรียนระดับมัธยมศึกษา ที่มีความสนใจทางด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐาน คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ประยุกต์ วิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์การแพทย์ คอมพิวเตอร์

ผู้ที่ได้รับทุนจากโครงการส่งเสริมและพัฒนาวิทยาศาสตร์อื่นๆ เช่น โครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษ ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (โครงการ พสวท.) โครงการจัดส่งผู้แทนประเทศไทยไปแข่งขันคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ โอลิมปิกระหว่างประเทศ โครงการชนะเลิศการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ ฯลฯ โดยจะได้รับสิทธิ์เพิ่มเติมจากทุนที่ได้รับอยู่แล้ว

ผู้ที่มีความสนใจและมีความมุ่งมั่นที่จะทำงานวิจัย ร่วมกับนักวิทยาศาสตร์พี่เลี้ยงได้ ในระหว่างที่ศึกษาอยู่ในหลักสูตร ของสถาบันตนเองได้ ทั้งนี้การปฏิบัติงานดังกล่าว สามารถทำได้นอกเหนือเวลาเรียนปกติ

โอกาสที่จะได้รับ

เด็กและเยาวชนไทยที่ได้รับการคัดเลือกเข้าโครงการ จะได้รับการส่งเสริมพัฒนาความสามารถทางวิทยาศาสตร์ โดยแบ่งเด็กและเยาวชนผู้เข้าร่วมโครงการเป็น 2 กลุ่ม คือ

1. กลุ่มผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Gifted and Talented Children)
เด็กและเยาวชนกลุ่มนี้จะอยู่ในโครงการเป็นรายปี จำนวนปีละประมาณ 50 คน ซึ่งจะได้รับการ
สนับสนุนและส่งเสริม ให้เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ดังนี้

ค่ายวิทยาศาสตร์ ประกอบด้วยกิจกรรมการทดลองด้านวิทยาศาสตร์ การบรรยายพิเศษ ทัศนศึกษานอกสถานที่ กิจกรรมสันทนาการ
โครงงานวิทยาศาสตร์ โดยเด็กและเยาชนแต่ละคนจะได้รับการสนับสนุนทุนในการทำ โครงงานวิทยาศาสตร์
การมีนักวิทยาศาสตร์พี่เลี้ยงและนักเทคโนโลยีพี่เลี้ยง (Mentor) คอยดูแลและให้คำปรึกษา

2. กลุ่มผู้มีแววอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Genius)
คัดเลือกจากเด็กและเยาวชนจากกลุ่มแรกปีละประมาณ 7 คน ได้รับการสนับสนุนจากโครงการในระยะยาว เพื่อการเตรียมตัวเข้าสู่อาชีพนักวิชาการ นักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ในประเทศไทยได้อย่างเหมาะสม โดยไม่มีเงื่อนไขผูกพันในการรับทุน ซึ่งจะมีโอกาสดังนี้

รับทุนการศึกษาระยะยาว ตั้งแต่ชั้นปีที่ได้เข้าร่วมโครงการ จนถึงปริญญาเอกในสถาบันการศึกษาของรัฐในประเทศ
ได้รับการดูแลและให้คำปรึกษาด้านงานวิจัยจากนักวิทยาศาสตร์พี่เลี้ยงหรือนักเทคโนโลยีพี่เลี้ยง (Mentor) ตลอดระยะเวลาที่อยู่ในโครงการ
เข้าร่วมกิจกรรมที่หลากหลาย เช่น การฝึกทักษะวิจัยกับนักวิจัย สวทช. การเข้าร่วมกิจกรรมนำเสนอผลงานวิชาการ (oral presentation) กิจกรรมเสริมประสบการณ์ต่างๆ เป็นต้น
ได้รับทุนสนับสนุนในการทำงานวิจัยร่วมกับนักวิทยาศาสตร์พี่เลี้ยง

ความคาดหวังของโครงการ

เป็นกลไกที่จะพัฒนา ผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีให้เป็นนักวิชาการ นักวิจัย และนักวิทยาศาสตร์ ที่มีคุณภาพ และทำประโยชน์ต่อประเทศชาติได้เต็มศักยภาพ
ปลูกฝังเด็กและเยาวชนให้มีใจรักวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้น
มีจำนวนนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ที่มีความสามารถของประเทศเพิ่มขึ้น
มีผลงานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้นทุกปี