|
เวทีเสวนาประเด็นสะท้อนยุทธศาสตร์ประเทศและยุทธศาสตร์อาเซียน ในหัวข้อ “ความพร้อมสู่ AEC ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในมุมมองของแต่ละภาคส่วน” โดยผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคธุรกิจเกษตร อุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เศรษฐศาสตร์และการค้าการลงทุน |
สัมมนาวิชาการและนิทรรศการแสดงผลงานที่สนับสนุนแผนบูรณาการ ว&ท และผลงานวิจัยและพัฒนาของ สวทช. |
สถานการณ์วิกฤตอาหาร พลังงานและสิ่งแวดล้อมของโลก จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาใช้ เพื่อตอบสนองความต้องการด้านดังกล่าวที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการนำผลผลิตทางการเกษตรมาใช้เป็นวัตถุดิบด้านอาหาร พลังงานและวัสดุชีวภาพ เป็นโอกาสทองของประเทศไทยที่จะสร้างความเข้มแข็งของสินค้าหลักในภาคเกษตรของไทย เช่น ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง อ้อย การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านอาหาร การกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมายในอนาคตที่เพิ่มมูลค่าของผลิตผลทางการเกษตร เพื่อรักษาการเติบโตของอุตสาหกรรม ในระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย เช่น อุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ อุตสาหกรรมไบโอดีเซล อุตสาหกรรมพลังงานและเคมีชีวภาพ เป็นต้น รวมถึงแนวทางการเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งหมดนี้เพื่อพร้อมสู่การเข้าร่วมเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ที่กำลังจะมาถึงในปี พ.ศ. 2558 นับเป็นการชูธง Value Chain ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างเป็นรูปธรรม |
• ปาล์มน้ำมัน เป็นพืชน้ำมันที่มีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในภาวะวิกฤติพลังงาน ส่งผลให้ปาล์มน้ำมันเป็นพืชเศรษฐกิจที่เกษตรกรไทยและผู้ประกอบการอุตสาหกรรมให้ความสนใจอย่างมาก สวทช. จัดสัมมนาเรื่อง “ปาล์มน้ำมัน สู่ น้ำมันปาล์ม : วิกฤตหรือโอกาส ในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” เพื่อให้ความรู้เรื่องปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม ตลอด Value Chain เริ่มตั้งแต่ การประเมินสถานการณ์และศักยภาพการแข่งขันในธุรกิจปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม ในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และผลงานวิจัยและพัฒนาด้านปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มของ สวทช. ที่พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับเกษตรกร ชุมชน และผู้ประกอบการอุตสาหกรรม |
• มันสำปะหลัง ปัจจุบันประเทศไทยส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังเป็นอันดับหนึ่งของโลก ทำให้มันสำปะหลังเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญและมีความพร้อมสูง ดังนั้น สวทช. จึงร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อ เพิ่มความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมมันสำปะหลัง ตลอดห่วงโซ่การผลิต ควบคู่ไปกับการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
สวทช. จัดสัมมนาเพื่อเผยแพร่ความรู้และเทคโนโลยีให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการ ครอบคลุมห่วงโซ่ดังกล่าว |
การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านอาหาร เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจแก่อุตสาหกรรมอาหารและสร้างความเชื่อมั่นกับอาหารของไทย เช่น สัมมนาหัวข้อความปลอดภัยของอาหาร หัวข้อด้านเทคโนโลยีการพัฒนาคุณภาพอาหารเพื่อถนอมรสชาติและเสริมสุขภาพ ฯลฯ |
การเพิ่มมูลค่าของผลิตผลทางการเกษตร เช่น มันสำปะหลัง และอ้อย ในขณะที่โลกปัจจุบันมีแนวโน้มที่ต้องการอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้อุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพเป็นอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตขยายตัวอย่างรวดเร็ว ดังนั้นการเตรียมพร้อมและการจัดการให้เกิดมาตรการที่สนับสนุนในทุกขั้นตอนของ Value Chain นี้ คือ กุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จสำหรับประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก สวทช. จัดการเสวนาเรื่อง อุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทยสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และนำเสนองานวิจัยของ สวทช. ที่จะต่อยอดความรู้และพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์ และการทดสอบมาตรฐานสากลของผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ |
แนวทางการเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนรูปแบบการบริโภค ดังนั้นภาคผลิตจึงต้องปรับตัวและพัฒนาการผลิตให้มีประสิทธิภาพ ลดการใช้พลังงานและการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ สวทช. จัดการสัมมนาเรื่อง “นวัตกรรมและแนวปฏิบัติสีเขียว” มุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และ สายโซ่การผลิตรักษ์สิ่งแวดล้อม : กุญแจสู่การผลิตอย่างยั่งยืน เพื่อนำเสนอการบริหารจัดการสายโซ่การผลิตรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Supply Chain Management: GSCM) ซึ่งเป็นทางออกหนึ่งที่จะทำให้ผู้ผลิตไทย สามารถใช้ประโยชน์จากการเปิดเสรีการค้าได้อย่างเต็มที่ |
เวทีเจรจาธุรกิจและการเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการของ สวทช. สำหรับภาคเอกชน |
พลาดไม่ได้ ! กับกิจกรรม Business Matching เปิดโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการภาคธุรกิจอุตสาหกรรม หากท่านสนใจรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี สวทช. มีเวทีเปิดเจรจาธุรกิจภายในงานครั้งนี้ และหากมีความต้องการที่จะพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันเพื่อการรับมือ AEC โดย สวทช. เปิดเวทีร่วมพูดคุยพร้อมกับเปิดให้เยี่ยมชมห้องปฏิบัติการกว่า 20 ห้องปฏิบัติการ ครอบคลุมอุตสาหกรรมสำคัญ ได้แก่ อาหาร การเกษตร อิเล็กทรอนิกส์ วิทยาศาสตร์เพื่อชีวิตและสุขภาพ |
S&T Job Fair 2013 ครั้งแรกในประเทศไทย |
มหกรรมรับสมัครงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โอกาสทองของผู้ที่ต้องการร่วมงานกับองค์กรชั้นนำระดับประเทศกว่า 20 บริษัท มากกว่า 500 อัตรา ในตำแหน่งนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย วิศวกร ผู้เชี่ยวชาญ และสาขาวิชาชีพอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง |
|