หัวข้อสัมมนาวิชาการ
|
|
โอกาสและความท้าทายในการก้าวเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 ด้วยอุตสาหกรรมใหม่
การผลิตสารอาหารที่ให้ประโยชน์เชิงหน้าที่
(Opportunities, Challenges, and Driving Mechanisms for Thailand 4.0
Build up New Industry: Production of Functional Ingredients)
วันที่ 30 มีนาคม 2560 เวลา 13.30-16.30 น.
ห้องประชุม CC-auditorium อาคารศูนย์ประชุมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย (CC) อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย
|
|
|
ประเทศไทยประสบกับภาวะติดกับดักรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) มาเป็นเวลาเกือบ 20 ปี การเติบโตของเศรษฐกิจและการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยที่ผ่านมา อาศัยปัจจัยภายนอก ทั้งในเรื่องการลงทุนและความเชี่ยวชาญจากต่างประเทศเป็นหลัก ไทยแลนด์ 4.0 เป็นแนวทางการพัฒนาประเทศของรัฐบาล มุ่งเน้นการสร้างความเข้มแข็งจากภายใน โดยการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่ “เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม” โดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย 10 อุตสาหกรรม (New Engine of Growth) โดยอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหารเป็น 1 ใน 10 ของอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจของไทยให้มีการขยายตัวและเติบโตสูง อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาอุตสาหกรรมอาหารของประเทศเป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มค่อนข้างต่ำ การส่งออกส่วนใหญ่เป็นสินค้าทางการเกษตรหรือการแปรรูปโดยไม่ได้ใช้นวัตกรรมหรือเทคโนโลยีขั้นสูง
|
|
การพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของประเทศโดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เป็นโอกาสและความท้าทายในการเพิ่มการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ อาหารฟังก์ชัน (Functional Food) เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์นวัตกรรมอาหารที่ได้รับความนิยมสูงทั้งในปัจจุบันและมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในอนาคต มีการประเมินมูลค่าตลาดอาหารฟังก์ชัน ในปี ค.ศ. 2014 ไว้ที่ 9.06 ล้านล้านบาท และคาดการณ์ว่าในปี ค.ศ. 2020 จะมีมูลค่าสูงถึง 13.22 ล้านล้านบาท และมีการประเมินมูลค่าตลาดสารให้ประโยชน์เชิงหน้าที่ (Functional Ingredient) ที่มีการประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารในปี 2014 ถึง 2.32 ล้านล้านบาท และคาดการณ์ว่าจะมีอัตราการเจริญเติบโตต่อปี (CAGR) อยู่ที่ 5.5% จากปี 2015 ถึง 2020 โดยจะมีมูลค่าประมาณ 3.2 ล้านล้านบาท ในปี 2020 และหากมีการประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น อุตสาหกรรมเภสัชภัณฑ์ เครื่องสำอาง และอาหารสัตว์ จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึง 4.93 ล้านล้านบาท ซึ่งอุตสาหกรรมการผลิตสารอาหารที่ให้ประโยชน์เชิงหน้าที่ เป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ในประเทศ หากได้รับการสนับสนุนและการผลักดันที่เหมาะสม |
|
จากการคาดการณ์ดังกล่าว จะเห็นได้ว่าอุตสาหกรรมการผลิตสารให้ประโยชน์เชิงหน้าที่เป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่มีโอกาสทางการตลาดสูงและมีความต้องการเพิ่มมากขึ้นในอนาคต ประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศเกษตรกรรมมีการผลิตผลิตผลทางการเกษตร เช่น ข้าว มันสำปะหลัง อ้อย เป็นจำนวนมาก ซึ่งผลิตผลทางการเกษตรเหล่านี้ เป็นวัตถุดิบตั้งต้นที่สำคัญ ในการผลิตสารให้ประโยชน์เชิงหน้าที่ชนิดต่างๆ โดยใช้วิธีทางเทคโนโลยีชีวภาพและเทคโนโลยีขั้นสูงอื่นๆ นอกจากนี้ประเทศไทย ยังอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรชีวภาพที่หลากหลาย เช่น สมุนไพร จุลินทรีย์สายพันธุ์ต่างๆ ซึ่งมีศักยภาพในการนำมาผลิตสารให้ประโยชน์เชิงหน้าที่ที่มีมูลค่าสูง ซึ่งแนวทางการดำเนินงานเหล่านี้ สอดรับและช่วยสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล ในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานชีวภาพ (Bioeconomy) เพื่อการขับเคลื่อนประเทศไปสู่ ประเทศไทย 4.0 |
|
อย่างไรก็ตาม ในการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ในการผลิตสารให้ประโยชน์เชิงหน้าที่ ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือและประสานการทำงานอย่างมีระบบ ทั้งภาครัฐ ภาคผู้ประกอบการ ภาคประชาชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่นๆ โดยภาคผู้ประกอบการในประเทศจะต้องปรับตัว ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม พัฒนาและยกระดับอุตสาหกรรม ในการสร้างผลิตภัณฑ์สารให้ประโยชน์เชิงหน้าที่ที่มีเอกลักษณ์ มีมูลค่าสูงขึ้น เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ |
|
นอกจากนโยบายอุตสาหกรรมเป้าหมาย 10 อุตสาหกรรม รัฐบาลได้เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของประเทศ มีการก่อตั้งเมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) เพื่อการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารของประเทศ มีการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เชื่อมโยงกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยต่างๆ หน่วยงานภาครัฐอื่นๆที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งร่วมมือกับภาคเอกชน โดยมีเป้าหมายเพื่อเป็นศูนย์กลางด้านการวิจัย พัฒนาและนวัตกรรมสำหรับอุตสาหกรรมอาหาร เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของภาคอุตสาหกรรม โดยมีสาขาเป้าหมาย อาทิ อาหารฟังก์ชั่นและสุขภาพ อาหารคุณภาพที่มีมูลค่าเพิ่ม การสนับสนุนธุรกิจสำหรับนวัตกรรมอาหาร เป็นต้น เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหาร เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ |
|
สวทช.เห็นความสำคัญของการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ คือ อุตสาหกรรมการผลิตสารอาหารที่ให้ประโยชน์เชิงหน้าที่ให้เกิดขึ้นในประเทศไทยดังกล่าว จึงได้จัดสัมมนาขึ้น เพื่อให้ผู้ประกอบการทราบถึง สถานการณ์และแนวโน้มอุตสาหกรรมอาหาร โอกาสทางธุรกิจในการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม รวมถึงโอกาส ความท้าทาย กลไกและปัจจัยสู่ความสำเร็จในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมใหม่: อุตสาหกรรมการผลิตสารอาหารที่ให้ประโยชน์เชิงหน้าที่ (Functional Food Ingredient) ที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ในประเทศไทยในอนาคต |
|
ดาวน์โหลดไฟล์ประกอบการสัมมนา |
|
|
|
กำหนดการ |
13.30-14.15 น. |
เจาะลึกทิศทางธุรกิจและการตลาดของผลิตภัณฑ์นวัตกรรมอาหาร:
อาหารฟังก์ชัน (Functional Food) และ สารเติมแต่งและสารสกัดจากอาหาร (Food Ingredients)
โดย
คุณสิทธิเดช ศรีประเทศ
กรรมการผู้จัดการบริษัท ดูปองท์ (ประเทศไทย) จำกัด |
14.15-15.00 น. |
สถานการณ์และแนวโน้มอุตสาหกรรมอาหาร
โดย
ผศ.ดร. ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์
รองผู้อำนวยการสถาบันอาหาร
นโยบายภาครัฐและการสนับสนุนนวัตกรรมอาหาร
นโยบายภาครัฐและการสนับสนุนนวัตกรรมอาหาร
โดย
ผศ.ดร.อัครวิทย์ กาญจนโอภาษ
รองเลขาธิการ
สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) |
15.00-15.15 น. |
พักรับประทานอาหารว่าง |
15.15-16.45 น. |
เสวนาเรื่อง โอกาส ความท้าทาย และกลไกการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมใหม่:
อุตสาหกรรมการผลิตสารอาหารที่ให้ประโยชน์เชิงหน้าที่
โดย
ภก.ดร. พิสุทธิ์ เลิศวิไล
กรรมการสมาคมอาหารเสริมสุขภาพ และรองกรรมการผู้จัดการ
บริษัท มัลติแบกซ์ จำกัด (มหาชน)
ภก.ดร. สุรเดช เอกปัญญาสกุล
บริษัท นิวทรีชั่น เอสซี จำกัด
ดร. วรรณพ วิเศษสงวน
ผู้อำนวยการหน่วยวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพอาหาร
ศูนย์พันธุวิศวรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ
รศ.ดร.สิรี ชัยเสรี
รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ผู้ดำเนินรายการ
ผศ.ดร.อัครวิทย์ กาญจนโอภาษ
รองเลขาธิการ
สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ(สวทน.) |
|
|
|