(16th NSTDA Annual Conference: NAC2021)
BCG เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
(Bio-Circular-Green)
ในฐานะวาระเเห่งชาติ
ตามที่นายกรัฐมนตรีได้ประกาศให้ระบบเศรษฐกิจแบบ BCG (Bio-Circular-Green Economy Model หรือเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว) เป็นวาระแห่งชาติของไทยเมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา โดยประกาศเป้าหมายให้ BCG เป็นหนึ่งในเครื่องจักรสำคัญช่วยผลักดันเศรษฐกิจไทยให้มีรายได้สูงขึ้นโดยอาศัยจุดเด่นของประเทศไทย 3 ด้าน คือ เกษตร สาธารณสุขและการท่องเที่ยว ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศไทยด้วย BCG เป็น ระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2564-2569 ประกอบด้วย 4 แผนยุทธศาสตร์ ได้แก่
ยุทธศาสตร์ที่ 1:
สร้างความยั่งยืนของฐานทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพ
ปรับจาก “Nature as Resource” เป็น “Nature as Source”
ยุทธศาสตร์ที่ 2:
พัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง
เดินหน้าไปด้วยกันและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
ยุทธศาสตร์ที่ 3:
ยกระดับอุตสาหกรรม BCG ให้แข่งขันได้อย่างยั่งยืน
สร้างสรรค์นวัตกรรมพรีเมียม ของเสียเป็นศูนย์
ยุทธศาสตร์ที่ 4:
สร้างความสามารถในการตอบสนองต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก
พึ่งตนเอง มีภูมิคุ้มกัน ฟื้นตัวเร็ว
ในโอกาสก้าวเข้าสู่ปีที่ 30 แห่งการจัดตั้ง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ตามพระราชบัญญัติพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งได้ประกาศ ให้มีผล ณ วันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2534 จากพันธกิจที่มุ่งเน้นการสร้างเสริมการวิจัย พัฒนา ออกแบบ และวิศวกรรม (Research Development Design and Engineering) จนสามารถถ่ายทอดไปสู่การใช้ประโยชน์ (Technology Transfer) พร้อมส่งเสริมด้านการพัฒนากำลังคน (Human Resource Development) และโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่จำเป็น เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันและพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน และได้ปรับปรุงแผนบริหารงานภายในให้ส่งเสริมแผนการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG ของประเทศอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ได้ประกาศความมุ่งเน้นในการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศไทยด้วย BCG Model
สวทช. ภายใต้การกำกับของกระทรวง อว. จึงจัดงานประชุมวิชาการประจำปี ครั้งที่ 16 หรือ 16th NSTDA Annual Conference: NAC2021 ขึ้น ระหว่างวันที่ 25 – 30 มีนาคม พ.ศ. 2564 ภายใต้ธีมงาน “30 ปี สวทช. ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (STI Driving BCG Economy for Sustainability)” ผ่านช่องทางออนไลน์ตามรูปแบบวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) ในเว็บไซต์ www.nstda.or.th/nac/2021
โดยนำเสนอองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG ในรูปแบบต่าง ๆ ได้แก่ การจัดสัมมนาวิชาการ การจัดแสดงผลงานในรูปแบบนิทรรศการ การเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการวิจัยและทดสอบของสวทช. และบริษัทผู้เช่าในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย กิจกรรมวิทยาศาสตร์สำหรับเยาวชน กิจกรรมรับสมัครงานด้าน ว. และ ท. ควบคู่กับสัมมนาอบรมเพื่อติดอาวุธให้ผู้สมัครงาน ซึ่งทุกกิจกรรมจัดในรูปแบบวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) แต่ยังคงไว้ซึ่งสาระเนื้อหาครบถ้วน และผู้เข้าร่วมสัมมนาสามารถสื่อสารปฏิสัมพันธ์กับวิทยากรได้ โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางมาเข้าร่วมงานที่สวทช. สามารถประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย และยังเข้าชมย้อนหลังได้อีกด้วย