ความคืบหน้าในการพัฒนาเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi)

นับแต่ก่อตั้งจนถึงสิ้นปีงบประมาณ 2564 เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) โดยมีสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) รับผิดชอบในฐานะผู้จัดการโครงการ เพื่อเดินหน้าพัฒนา EECi ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร

โดยได้แบ่งการพัฒนาออกเป็น 4 ระยะ ระยะละ 5 ปี ซึ่งในระยะที่ 1 (พ.ศ. 2561-2565) มีเป้าหมายในการเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม และกำลังคนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงมุ่งดำเนินการร่วมกับชุมชนในพื้นที่เพื่อนำเทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่มายกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของเกษตรกร ขอนำเสนอสรุปความก้าวหน้าในการดำเนินงาน นับแต่ก่อตั้งจนถึงสิ้นปีงบประมาณ 2564 ดังนี้

 

1. ความคืบหน้าการก่อสร้าง

“กลุ่มอาคารสำนักงานใหญ่ EECi ระยะที่ 1”
ซึ่งประกอบด้วย พื้นที่สำหรับการทำวิจัยขยายผล อาทิ โรงงานต้นแบบ พื้นที่ทดสอบนวัตกรรม รวมทั้งยังมีพื้นที่สนับสนุนการทำงาน เช่น ศูนย์จัดแสดงนิทรรศการ Co-Working Space พื้นที่รวมกว่า 40,000 แล้วเสร็จ จะเสร็จพร้อมดำเนินการในเดือนมิถุนายน 2565

2. ความคืบหน้าด้านการพัฒนาโครงสร้าง พื้นฐานและเตรียมความพร้อมเทคโนโลยี
เพื่อรองรับการเติบโตของภาคอุตสาหกรรม และการขยายผลงานวิจัยไปสู่เชิงพาณิชย์ ประกอบด้วย 

“ศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (Sustainable Manufacturing Center : SMC)”
เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมของประเทศ โดยเป็นแหล่งทดสอบความเข้ากันได้ของอุปกรณ์และระบบต่างๆ เพื่อปรับแต่งในระหว่างการออกแบบและก่อนการนำไปใช้งานจริงในอุตสาหกรรม รวมถึงการสาธิตสายการผลิต 4.0 พัฒนาทักษะของกำลังคน และให้คำปรึกษาเชิงเทคนิคแก่ภาคอุตสาหกรรม

“โรงเรือนปลูกพืชอัจฉริยะ (Smart Greenhouse)”
เพื่อทดลองปลูกพืชสมุนไพรในสภาพแวดล้อมที่มีการควบคุม

“โรงเรือนปลูกพืชฟีโนมิกส์ (Phenomics Greenhouse)”
เพื่อใช้ในการศึกษาการเจริญเติบโตและการตอบสนองของพืชต่อสภาวะแวดล้อมต่างๆ เพื่อให้ได้พันธุ์พืชที่มีคุณสมบัติตามต้องการ

“โรงงานผลิตพืช (Plant Factory)”
เทคโนโลยีการปลูกพืชในระบบปิด เพื่อสนับสนุนการผลิตพืชเศรษฐกิจและพืชสมุนไพรในเชิงอุตสาหกรรม

“โรงงานต้นแบบไบโอรีไฟเนอรี (Biorefinery Pilot Plant)”
ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญในการสร้างขีดความสามารถของประเทศด้านเทคโนโลยีการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ชีวมวลและวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรที่มีมูลค่าต่ำ ไปสู่สารสกัดที่มีมูลค่าสูงนำไปใช้ในอุตสาหกรรมชีวภัณฑ์ อุตสาหกรรมยา อาหารเสริม เครื่องสำอาง และวัสดุชีวภาพ พัฒนานวัตกรรมและการทดสอบมาตรฐานยานยนต์อัตโนมัติของไทยให้ได้มาตรฐาน

“สนามทดสอบยานยนต์ขับขี่อัตโนมัติ (Connected and Autonomous Vehicle (CAV) Proving Ground)”
โดยได้ดำเนินการร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์บริการ เพื่อพัฒนานวัตกรรมและการทดสอบมาตรฐานยานยนต์อัตโนมัติของไทยให้ได้มาตรฐาน

“โรงงานต้นแบบแบตเตอรีทางเลือก”
ผลิตต้นแบบแบตเตอรีปลอดภัยสำหรับใช้ในระบบกักเก็บพลังงาน หรืออุปกรณ์ที่ต้องการความปลอดภัยสูง

“เครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน ระดับพลังงาน 3 GeV”
ซึ่งเปรียบเสมือนกล้องจุลทรรศน์ขนาดใหญ่ที่สามารถมองเห็นโครงสร้างระดับอะตอมของวัสดุ ทําให้สามารถสนับสนุนการออกแบบวัสดุสมัยใหม่ เช่น การออกแบบโมเลกุลยา อาหารโปรตีนสูง โลหะทนความร้อนสูงเพื่อใช้ในอากาศยาน หรือวัสดุกําลังสูงน้ำหนักเบา

 

3. ความคืบหน้าด้านการสนับสนุนอุตสาหกรรม

สวทช. ได้ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรในการพัฒนา ดัชนีชี้วัดความพร้อมอุตสาหกรรม 4.0 ของประเทศไทย (Thailand i4.0 Index) โดยได้จัดทำระบบฐานข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูลอุตสาหกรรม 4.0 เพื่อสนับสนุนการการยกระดับอุตสาหกรรมไทยสู่อุตสาหกรรม 4.0

นอกจากนี้ ยังได้ร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน และบริษัทผู้ผลิตระบบและอุปกรณ์ด้านอุตสาหกรรม 4.0 ในการพัฒนาแพลตฟอร์มไอโอทีและระบบวิเคราะห์ข้อมูลอุตสาหกรรม (Industrial IoT and Data Analytic Platform, IDA Platform) เพื่อยกระดับภาคการผลิตสู่อุตสาหกรรม 4.0 ในด้านการอนุรักษ์พลังงาน การเพิ่มประสิทธิภาพของเครื่องจักร รวมถึงการดำเนินการบำรุงรักษาเชิงพยากรณ์ รวมทั้งยังมีการดำเนินงานเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมในพื้นที่ EEC เพื่อเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการและยกระดับขีดความสามารถในการปรับใช้เทคโนโลยีได้อย่างเหมาะสม

4. ความคืบหน้าด้านการพัฒนากำลังคนและเตรียมความพร้อมบุคลากร

สวทช. ได้ดำเนินงานร่วมกับพันธมิตร อาทิ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เป็นต้น ส่งเสริมการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งการสร้างบุคลากรผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมต่างๆ ผ่านการให้ทุนและการอบรมเชิงปฏิบัติการ เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมในพื้นที่

นอกจากนี้ เพื่อสนับสนุนให้องค์กรทุกภาคส่วนของไทยสามารถเตรียมความพร้อมให้กับบุคลากร EECi ได้จัดตั้ง “RUNs Academy (Reskill-Upskill-New skill Academy)” เพื่อเพิ่มทักษะขั้นสูงและทักษะที่จำเป็นต่อการทำงานสมัยใหม่ให้กับกำลังคนอุตสาหกรรมทั้งจาก SMEs และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และได้พัฒนา “Innovation Launch Pad” ให้เป็น Platform ที่ช่วยผลักดันผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม (Startup) วิสาหกิจฐานนวัตกรรม (IDEs) ให้สามารถก้าวข้าม Valley of Death ประสบความสำเร็จในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่นำไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์

5. ความคืบหน้าด้านการสนับสนุนชุมชนและเกษตรกร

สวทช. ได้ร่วมกับพันธมิตรในการถ่ายทอดเทคโนโลยีทางการเกษตร โดยใช้รูปแบบในการถ่ายทอดเทคโนโลยีและเลือกใช้เทคโนโลยีที่หลากหลายสอดคล้องตามความต้องการของพื้นที่เป็นหลัก ทำให้เกิดผลผลิตเชิงปริมาณและคุณภาพที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดการลดปริมาณการใช้น้ำ การลดการใช้แรงงาน ส่งเสริมคุณภาพชีวิตของเกษตรกร และช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น

 

การพัฒนา EECi ซึ่งจะพร้อมเปิดอย่างเป็นทางการในเดือนพฤศจิกายน 2565 นับเป็นก้าวสำคัญในการผลักดันประเทศไทยสู่ “ศูนย์กลางนวัตกรรมชั้นนำระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” เป็นพื้นที่ต้นแบบในการนำนวัตกรรมเข้าไปผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และปรับฐานอุตสาหกรรมเดิมในพื้นที่ให้เป็นอุตสาหกรรมที่มีฐานนวัตกรรม รวมถึงการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ตลอดจนนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต

เอกสารประกอบการบรรยาย

รวมรายการวิดิโอนิทรรศการ

ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม:

เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi)

นิทรรศการอื่นๆ :