ปูนา เป็นสัตว์เศรษฐกิจที่อยู่ในวัฒนธรรมอาหารพื้นถิ่น มีรสชาติและกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ มักพบในเมนูท้องถิ่นของชุมชนภาคเหนือ ภาคอีสาน และขยายไปยังชุมชนเมืองเกือบทั่วประเทศ ในอดีตชาวบ้านขุดหาปูตามทุ่งนาที่เป็นแหล่งอาศัยตามธรรมชาติ แต่เมื่อชาวนาปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตข้าวเน้นใช้ปุ๋ยและสารเคมีสูงขึ้นเพื่อเพิ่มผลผลิต ทำให้ระบบนิเวศในนาข้าวเปลี่ยนแปลงไป สิ่งมีชีวิตน้อยใหญ่ที่อาศัยในระบบนิเวศนาข้าวได้รับผลกระทบ
ส่งผลให้ปูนามีจำนวนลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด ในขณะที่ปูนายังคงได้รับความนิยมในการบริโภคและมีความต้องการในตลาดสูง ทำให้เกิดธุรกิจนำเข้าปูนาจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยไม่ทราบแหล่งที่มาที่ชัดเจน และหลายชุมชนเริ่มสนใจจับปูนามาขังเพื่อเลี้ยงไว้จำหน่าย โดยเฉพาะในสถานการณ์การระบาดของไวรัส COVID-19 หลายคนตกงานและย้ายกลับมายังถิ่นฐานบ้านเกิด จึงมีผู้สนใจเลี้ยงปูนาจำหน่ายเป็นอาชีพสร้างรายได้เพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การเลี้ยงปูนายังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากชุมชนยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบนิเวศที่เหมาะสมกับการเลี้ยงปูนา การอนุบาลลูกปูวัยอ่อน อาหารที่เหมาะสมแต่ละช่วงวัย จึงไม่สามารถผลิตเพิ่มจำนวนได้อย่างยั่งยืน
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) และมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีการเลี้ยงปูนาด้วยวิธีเลียนแบบธรรมชาติ โดยใช้กลไกการสนับสนุนให้ชุมชนนำความรู้ตามภูมิปัญญาท้องถิ่น มาประยุกต์ใช้ร่วมกับองค์ความรู้ทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับชนิดพันธุ์ วงจรชีวิต สูตรอาหารธรรมชาติ การจัดการระบบนิเวศและสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมอย่างเป็นระบบ สอดคล้องกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามแนวทาง BCG ให้ชุมชนใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพของชุมชน สนับสนุนให้เกิดการส่งต่อภูมิปัญญาและองค์ความรู้จากผู้เฒ่าผู้แก่ไปสู่คนรุ่นใหม่ (Bio-economy) สนับสนุนการใช้วัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรเป็นอาหารเลี้ยงปูนา นำน้ำในบ่อเพาะเลี้ยงปล่อยกลับหมุนเวียนไปในแปลงนา เพิ่มปุ๋ยชีวภาพและธาตุอาหารในดิน (Circular economy) ส่งเสริมให้สร้างสมดุลระบบนิเวศ สร้างความตระหนักลดการใช้สารเคมีในบริเวณรอบบ่อเลี้ยง (Green Economy) ปัจจุบัน เกิดเครือข่ายจุดเรียนรู้ต้นแบบการเลี้ยงปูนาด้วยวิธีเลียนแบบธรรมชาติ สร้างเศรษฐกิจรายได้ในชุมชน จำนวน 3 แห่ง ได้แก่
- สถานีศึกษาการเลี้ยงปูนากลุ่มชุมชนเมืองบัว อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด
- สถานีการเลี้ยงปูนาเลียนแบบธรรมชาติ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนธนาคารปูนาตำบลเมืองลีง อ.จอมพระ จ.สุรินทร์
- สถานีการเลี้ยงปูนาเลียนแบบธรรมชาติ อภิชาฟาร์ม ต.หนองเหล็ก อ.ศรีขรภูมิ จ. สุรินทร์ โดยมีแกนนำเกษตรกรหรือนวัตกรชุมชน เป็นผู้ส่งต่อความรู้ โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษา และภาคประชาสังคม ในการขยายผลความรู้ไปยังพื้นที่ชุมชนต่างๆ ในจังหวัดสุรินทร์