โครงการบ่มเพาะเยาวชนในชนบทเป็นผู้ประกอบการรุ่นเยาว์ด้านนวัตกรรมอาหาร

โครงการบ่มเพาะเยาวชนในชนบทเป็นผู้ประกอบการรุ่นเยาว์ด้านนวัตกรรมอาหาร

“เมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis)”

สวทช. สนองพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในด้านการพัฒนาการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้แก่เด็กและเยาวชนในโรงเรียนชนบท ตลอดจนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารหรือไอซีทีเพื่อพัฒนาการเรียนรู้และงานอาชีพให้แก่ผู้ด้อยโอกาส
สวทช. เป็นหน่วยงานที่มีศูนย์วิจัยแห่งชาติที่มีความเชี่ยวชาญการวิจัยทางด้านอาหาร และร่วมเป็นเครือข่ายดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อน “เมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis)”

ทั้งนี้ สวทช. ร่วมกับมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ร่วมกับ และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี  ดำเนินงาน “โครงการบ่มเพาะเยาวชนในชนบทเป็นผู้ประกอบการรุ่นเยาว์ด้านนวัตกรรมอาหาร”  โดยจะพัฒนาครูและเยาวชนในชนบทที่ให้มีความรู้และความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ตลอดจนความรู้ทางธุรกิจ เพื่อนำมาบูรณาการสร้างเป็นผลิตภัณฑ์นวัตกรรมอาหารที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค สร้างนวัตกรรมที่พัฒนาต่อยอดจากภูมิปัญญาท้องถิ่นโดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นำนวัตกรรมมาผลิตเป็นสินค้าของโรงเรียน ตลอดจนเปิดโอกาสให้นักเรียนมีโอกาสเข้าร่วมเวทีแข่งขันด้านอาหาร  ด้านการเป็นผู้ประกอบการ และสามารถใช้ผลงานที่ทำ เป็น Portfolio ในการสมัครเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาในสาขาที่เกี่ยวข้องด้านอาหาร เช่น  Food Science / Food Technology / Food Engineering ด้วยรอบ Portfolio หรือโควตาพิเศษ  เพื่อให้เกิดการพัฒนาเยาวชนในชนบทและบ่มเพาะเยาวชนให้มีความสามารถและทักษะที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาประเทศต่อไป

วัตถุประสงค์
  1. พัฒนาครูและนักเรียนให้มีความรู้ด้านนวัตกรรมอาหารและการเป็นผู้ประกอบการ โดยใช้กระบวนการสะเต็มศึกษา
  2. ส่งเสริมให้ครูและนักเรียนสร้างสรรค์นวัตกรรมอาหาร และส่งเสริมให้โรงเรียนนำนวัตกรรมดังกล่าวมาผลิตเป็นสินค้าของโรงเรียนจำหน่ายผ่านช่องทางต่างๆ
  3. ส่งเสริมนักเรียนที่เข้าโครงการฯ เข้าร่วมเวทีการแข่งขันโครงงานวิทยาศาสตร์อาหาร และ/หรือ การเป็นผู้ประกอบการ  (Entrepreneur) ต่างๆ เพื่อส่งเสริมเกิดการเรียนรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติจริง
  4. ส่งเสริมให้นักเรียนที่เข้าร่วมโครงการที่มีผลงานการประกวดในเวทีต่างๆ  ได้นำผลงานไปใช้ประกอบการสมัครเข้าศึกษาต่อมหาวิทยาลัย ในสาขาที่เกี่ยวข้องกับด้านอาหาร เช่น  Food Science / Food Technology / Food Engineering เป็นต้น
กิจกรรม
ค่าย 1

พัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร

สนับสนุน

สนับสนุนทุนทำโครงงาน
และจัดคลินิกให้คำปรึกษาในการทำโครงงาน

ค่าย 2

การต่อยอดด้านบรรจุภัณฑ์อาหารและการประกอบกิจการอาหาร

ผลลัพท์

นักเรียนส่งผลงานประกวดในเวทีต่างๆ
จำหน่ายสินค้าที่ผลิตผ่านช่องทางต่างๆ

ผลการดำเนินงาน
  • นักเรียนได้รับรางวัลจากการประกวดผลงานนวัตกรรมอาหาร Food Innopolis Innovation Contest 2022 – 2023  ดังนี้

ผลงาน “Crispy-FU” (ผลิตภัณฑ์เต้าหู้ทอดจากถั่วลันเตา) โรงเรียนขุนยวมวิทยา จ.แม่ฮ่องสอน  ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย  ประเภท Food Heritage

ผลงาน “ฮุยคังไก” (ผลิตภัณฑ์ผงโรยข้าวโปรตีนสูงจากปลากดคังและสาหร่ายไก)  โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 56 จ.น่าน  ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย  ประเภท Future Lifestyle

ผลงาน “คุ้กกี้ถั่วโอ่ชีส” ร.ร.ขุนยวมวิทยา จ.แม่ฮ่องสอน ได้รับรางวัลชมเชย ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ในหัวข้อนวัตกรรมอาหารหมักท้องถิ่น (Local Fermented Foo d Innovation)

  • นักเรียนในโครงการได้เข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ประจำปีการศึกษา 2565  ในสาขาที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีการอาหาร/การพัฒนาผลิตภัณฑ์ จำนวน 3 คน ดังนี้

นายเสวก นามแก้ว

ขุนยวมวิทยา จ.แม่ฮ่องสอน


สาขาวิทยาศาสตร์และการจัดการเทคโนโลยีอาหารคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี

นางสาวจรรยวรรรน์ เกษมโสภณพาณิชย์

ขุนยวมวิทยา จ.แม่ฮ่องสอน


สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร 
คณะอุตสาหกรรมเกษตร

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

นางสาวสุรัสวดี ศรวรนันท์

ขุนยวมวิทยา จ.แม่ฮ่องสอน


วท.บ.สาขาวิชาพัฒนาผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเกษตร คณะอุตสาหกรรมเกษตร

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

  • นักเรียนได้นำสินค้าที่ผลิต มาจัดจำหน่ายช่องทางการจำหน่ายสินค้า เช่น สหกรณ์โรงเรียน รับทำให้งานประชุม ออกร้านงานวิชาการ ขายผ่านเพจเฟสบุค เป็นต้น โดยในปี 2565 มียอดจำหน่ายสินค้ารวมเป็นเงิน 138,140 บาท