โครงการผลักดันวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมสู่การใช้ประโยชน์ในชุมชนอย่างยั่งยืน

“โครงการผลักดันวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม สู่การใช้ประโยชน์ในชุมชุมอย่างยั่งยืน”

เป็นความร่วมมือระหว่าง บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC และ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
โดยการดำเนินงานของศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) มีวัตถุประสงค์ในการผลักดันผลงานวิจัยและนวัตกรรมสู่การใช้ประโยชน์จริงในพื้นที่ชุมชน
เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนจากการสร้างอาชีพและรายได้ ภายใต้บันทึกข้อตกลงด้านการดำเนินงาน “โครงการผลักดันวิทยาศาสตร์
เทคโนโลยีและนวัตกรรมสู่การใช้ประโยชน์ในชุมชนอย่างยั่งยืน” ซึ่งมีกรอบการดำเนินงานภายในระยะเวลา 3 ปี (ตุลาคม 2564 – ตุลาคม 2567)

ภายใต้ความร่วมมือนี้ ทั้งสองหน่วยงานได้ร่วมกันบูรณาการเพื่อนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และนวัตกรรม ในกลุ่มเทคโนโลยีด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม การเกษตร ตลอดจนการแพทย์และสาธารณสุข ไปขยายผลให้เกิดประโยชน์ในพื้นที่ชุมชนเป้าหมาย หรือชุมชนในพื้นที่ห่างไกลที่ขาดแคลนด้านสาธารณูปโภค สู่การประยุกต์ใช้นวัตกรรมเพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมตลอดจนส่งเสริมอาชีพแก่คนในชุมชนเพื่อสร้างเศรษฐกิจชุมชนที่เข้มแข็ง

ภาพงานแถลงข่าวการลงนามบันทึกข้อตกลงด้านการดำเนินงาน “โครงการผลักดันวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมสู่การใช้ประโยชน์ในชุมชนอย่างยั่งยืน” เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2565

การดำเนินงานที่ผ่านมา สวทช. และ GPSC ได้ร่วมกันผลักดันเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ หรือ Smart Farming ในพื้นที่หลัก (Base Area) จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ ชุมชนบ้านห้วยขาบ Smart Farming อ.บ่อเกลือ จ.น่าน และบริเวณพื้นที่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก จ.ระยอง เพื่อการยกระดับเศรษฐกิจชุมชนด้วยองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่สามารถนำปรับใช้เข้ากับเกษตรกรรมในพื้นที่ สร้างอาชีพและรายได้กับคนในชุมชน ตลอดจนการสนับสนุนและต่อยอดเทคโนโลยีด้านอื่นๆ จนเกิดเป็นโครงการดังนี้

1) โครงการการขยายผลและถ่ายทอดเทคโนโลยี smart farming ด้านการเกษตร ในพื้นที่บ้านห้วยขาบ จ.น่าน

ส่งเสริมการปลูกพืชในระบบเกษตรอินทรีย์ ขยายผลเทคโนโลยี smart farm แก่กลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ ให้สามารถเข้าถึงองค์ความรู้ทางด้านการเกษตรและได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยนำปรับใช้ในพื้นที่ต้นแบบของชุมชน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเพาะปลูก มีผลผลิตต่อเนื่องและสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้อย่างยั่งยืน รวมทั้งเกิดเป็นจุดสาธิตการใช้ประโยชน์เทคโนโลยีด้านเกษตรและเทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่ในพื้นที่ชุมชนอีกด้วย

เทคโนโลยีโรงเรือนเกษตรอัจริยะ (smart farming)

การขยายผลเทคโนโลยีโรงเรือนอัจฉริยะ (smart farming) ให้แก่กลุ่มเกษตรกรบ้านห้วยขาบ โดยปรับปรุงโรงเรือนเดิมให้เป็นต้นแบบระบบโรงเรือนอัจฉริยะ มีการติดตั้งระบบควบคุมอัจฉริยะต่างๆ เช่น

  1. ระบบแสงสว่างในโรงเรือนแบบ LED
  2. ระบบให้น้ำหยดแบบ gravity
  3. สถานีตรวจวัดอากาศที่มีระบบเซ็นเซอร์เพื่อติดตามสภาวะแวดล้อมแบบ realtime
  4. นวัตกรรมสารเคลือบนาโนเพื่อระบบพลังงานแสงอาทิตย์ ขนาด 3 กิโลวัตต์ และระบบกักเก็บพลังงานขนาด 5 กิโลวัตต์ เพื่อลดค่าใช้จ่ายจากค่าไฟฟ้าที่เกิดขึ้นจากอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ และสำรองการใช้ไฟฟ้าในตอนกลางคืนสำหรับระบบแสงสว่าง LED
องค์ความรู้ด้านพันธุ์พืชและการเพาะปลูก

การถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านพันธุ์พืชที่จากงานวิจัยและพัฒนาของสวทช. มาประยุกต์ในพื้นที่เพาะปลูกที่มีอยู่ดั้งเดิม โดยคัดเลือกสายพันธุ์ที่เหมาะสมกับพื้นที่ ตลอดจนองค์ความรู้ด้านการเพาะปลูก อาทิ การเพาะกล้า การปรับปรุงดิน การวางแผนการปลูกพืช ไปจนถึงการเก็บเกี่ยว เพื่อให้ได้ผลผลิตที่สม่ำเสมอ มีคุณภาพดีและเป็นที่ต้องการของตลาด สามารถนำไปจำหน่ายได้ตลอดทั้งปี จนสร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน เช่น การวางแผนปลูกผักสลัด แตงกวาญี่ปุ่น และการคัดเลือกสายพันธุ์มะเขือเทศและเมล่อนที่มีราคาสูง

เทคโนโลยีการจัดการโรคและแมลง

การถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องโรคพืชและแมลงศัตรูพืชอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกษตรกรในพื้นที่ได้เข้าใจวงจรแมลงศัตรูพืช และสามารถเลือกใช้ชีวภัณฑ์ได้อย่างเหมาะสม ผ่านการอบรมเกษตรกรผู้เพาะปลูกเมล็ดพันธุ์กาแฟในพื้นที่ นอกจากนี้ ยังส่งเสริมเทคโนโลยีการใช้ปุ๋ยคีเลตธาตุอาหารรอง-เสริม สำหรับการฉีดพ่นทางใบ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมการปลูกกาแฟซึ่งเป็นอาชีพดั้งเดิมของคนในพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพ จากการเพิ่มจำนวนผลผลิตกาแฟต่อปีให้มีปริมาณมากขึ้น

ตัวอย่างผลผลิตในโรงเรือน smart farming ที่ห้วยขาบ หลังจากที่ สวทช. นำเทคโนโลยีไปประยุกต์ใช้งาน
ก่อนเริ่มกิจกรรมโครงการฯ
หลังรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี

ภาพโต๊ะปลูกผักในโรงเรือนที่ 1 และตัวอย่างการจัดการปลูกในปัจจุบัน

ตัวอย่างผลผลิตที่เลือกนำมาปลูกในโรงเรือน

แตงกวาญี่ปุ่น :ปัจจุบันเกษตรกรสามารถปลูกแตงกวาญี่ปุ่นในระดับที่สร้างรายได้ให้แก่กลุ่มแล้ว และเป็นสินค้าที่ตลาดในบ่อเกลือมีความต้องการสูง
ดังนั้นจึงได้วางแผนร่วมกันที่จะนำแตงกวาญี่ปุ่นออกมาปลูกในแปลงเปิดนอกโรงเรือนเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของตลาด

ภาพผลผลิตแตงกวาญี่ปุ่น

เมล่อน : เกษตรทดลองได้มีการทดลองปลูกเมล่อนมาตลอดระยะเวลา 1 ปี (2 ฤดูกาล)

ต้องใช้ระยะเวลาในการถ่ายทอดองค์ความรู้ในการปลูกเมล่อนพอสมควร เพื่อให้เกษตรกรมีความรู้และเข้าใจและสามารถปฏิบัติตามปลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนปัจจุบันทำการปลูกฤดูกาลที่ 3 พบว่าเกษตรกรสามารถปลูกเมล่อนได้ดี ต้นกล้าที่ย้ายปลูกมีความสมบูรณ์และได้รับการดูแลสม่ำเสมอมากขึ้น และคาดว่าจะได้ผลผลิต เมล่อนที่สามารถสร้างรายได้ที่พึงพอใจให้แก่กลุ่มเกษตรกร

ภาพโต๊ะปลูกผักในโรงเรือนที่ 1 และตัวอย่างการจัดการปลูกในปัจจุบัน

2) โครงการพัฒนาการปลูกเห็ดเยี่อไผ่ ระบบ smart farming ในพื้นที่ EECi สำหรับเป็นวัตถุดิบร่วมกับสารสกัดสมุนไพรไทย เพื่อประยุกต์ใช้ในกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและเวชสำอาง

การผลักดันให้เกิดโครงการโรงเรือนต้นแบบปลูกเห็ดเยี่อไผ่ระบบด้วย smart farming ในพื้นที่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EECi จ.ระยอง สำหรับเป็นวัตถุดิบในกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและเวชสำอาง โดยเริ่มตั้งแต่การส่งเสริมการปลูกเห็ดเยื่อไผ่ด้วยระบบ smart farming อย่างง่าย ในบริเวณพื้นที่ อ.วังจันทร์ จ.ระยอง สู่การพัฒนาสารสกัดจากเห็ดเยื่อไผ่เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบร่วมกับสารสกัดสมุนไพรไทย และต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง/อาหารเสริม/ยาสมุนไพร ที่ได้มาตรฐาน หรือเป็นผลิตภัณฑ์ระดับวิสาหกิจชุมชน เพิ่มโอกาสการสร้างรายได้ให้กับชุมชนอีกทางหนึ่ง
ปัจจุบันมีการสร้างพื้นที่การเรียนรู้ต้นแบบ (Demo site) โดยมีวิสาหกิจชุมชน ผักปลอดภัยบ้านคลองหวายโสม ต.ป่ายุบใน อ.วังจันทร์ จ.ระยอง เป็นชุมชนต้นแบบในการเพาะปลูกพืชสมุนไพรและพืชมูลค่าสูง เพื่อนำไปสู่การสร้างรายได้ ด้วยการขายวัตถุดิบ และแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ จากโรงเรือนอัจฉริยะสำหรับเพาะปลูกเห็ดเยื่อไผ่

ระบบโรงเรือนอัจฉริยะสำหรับเพาะปลูกเห็ดเยื่อไผ่ บริเวณหลังที่ว่าการอำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง และภาพหลังจากเพาะปลูกเป็นระยะเวลา 3 เดือน

กิจกรรมการอบรมเพื่อสร้างพื้นที่การเรียนรู้ต้นแบบ (Demo site) สำหรับปลูกเห็ดเยื่อไผ่

3) โครงการต่อยอดการพัฒนาสารสกัดและผลิตภัณฑ์จากเห็ดเยื่อไผ่และสมุนไพร ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) สู่การใช้ประโยชน์ในชุมชนอย่างยั่งยืน

การจัดเตรียมโรงเรือนต้นแบบการสกัดและผลิตผลิตภัณฑ์จากสารสกัดเห็ดเยื่อไผ่ ที่ได้จากการปลูกในโรงเรือนระบบ smart farming และพืชท้องถิ่นต่างๆ เช่น สมุนไพรไทย โดยนำเอางานวิจัยและความรู้ความเชี่ยวชาญของทีมวิจัย สวทช. มาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับความต้องการของชุมชน พร้อมทั้งผลักดันให้สามารถต่อยอดเป็นศูนย์กลางของชุมชน เพื่อจัดอบรมการถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่นวัตกรในพื้นที่ชุมชนจังหวัดระยองได้อย่างยั่งยืน

4) โครงการการต่อยอดนวัตกรรมสารสกัดจากธรรมชาติ (สารสกัดเห็ดเยื่อไผ่) สู่การพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เวชสำอางในท้องถิ่น เพื่อสร้างอาชีพอย่างยั่งยืน

การต่อยอดผลงานการประกวดนวัตกรรมเยาวชนภายใต้โครงการ GPSC Young Social Innovator (2021) ที่มีศักยภาพ ผลงาน “เซรั่มเห็ดเยื่อไผ่” จากทีมเยาวชน โรงเรียนยุพราชยุพราชวิทยาลัย จ.เชียงใหม่โดยทีมวิจัย นาโนเทค สวทช. ได้นำมาต่อยอดให้เป็นสูตรตำรับ จากความเชี่ยวชาญด้านการนำสารสกัดจากธรรมชาติมาพัฒนาเป็นเครื่องสำอาง/เวชสำอาง สู่กระบวนการผลิตด้วยโรงงานต้นแบบผลิตอนุภาคนาโนและเครื่องสำอาง ตามมาตรฐาน ASEAN GMP ปัจจุบัน เซรั่มจากสารสกัดเห็ดเยื่อไผ่ ที่ได้จากการสนับสนุนด้านวิจัยและพัฒนาปรับสูตรจากทีมวิจัยของโรงงานต้นแบบผลิตอนุภาคนาโนและเครื่องสำอาง
ได้รับการจดแจ้งพร้อมจำหน่ายเชิงพาณิชย์ ภายใต้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง “Nuallaor” เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ผลงานต่อยอดนวัตกรรมเยาวชน “เซรั่มจากสารสกัดเห็ดเยื่อไผ่”

5) โครงการสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนารับมือสถานการณ์โรคระบาด Covid-19 เพื่อสาธารณประโยชน์

บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) สนับสนุนงบประมาณให้กับ นาโนเทค สวทช. ในการขยายกำลังการผลิตต้นแบบผลงานวิจัยและพัฒนาตอบรับสถานการณ์การระบาดของโรค Covid-19
เพื่อส่งมอบสู่การใช้ประโยชน์ในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ หรือส่งมอบให้กับพื้นที่ที่ขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์ ดังนี้

• โครงการสนับสนุนการผลิตชุดตรวจ NanoCOVID-19 Antigen Rapid Test (Professional use) สำหรับใช้งานภายในองค์กรหรือเพื่อสาธารณประโยชน์ จำนวน 10,000 ชุด
โดยได้ส่งมอบชุดตรวจเพื่อสนับสนุนทีมแพทย์และพยาบาลในการคัดกรองโรคเบื้องต้น ให้กับหน่วยงานต่างๆ อาทิ โรงพยาบาลสนามวังจันทร์ พื้นที่ EEC, ศูนย์คัดกรอง Covid-19
โครงการลมหายใจเดียวกัน, โรงพยาบาลปิยะเวท และโรงพยาบาลสนามในเครือบริษัท ปตท. จำกัด มหาชน

• โครงการสนับสนุนการพัฒนาหน้ากากจากแผ่นกรองเส้นใยสำหรับกรองละอองไอจามและฝุ่น PM2.5 ทรงเข้ารูปกับในหน้า (Facial fit)” เพื่อสาธารณประโยชน์
จำนวน 20,000 ชิ้น โดยได้ส่งมอบให้กับโรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี (รพ.มาบตาพุด) จ.ระยอง, มูลนิธิสายไหมต้องรอด,
โรงพยาบาลชุมชนในพื้นที่ อ.แม่สอด และโรงพยาบาลชุมชนในพื้นที่ จ.ลพบุรี

• โครงการพัฒนาหมวกควบคุมแรงดันบวกและลบ (nSPHERE) สำหรับใช้เชิงสาธารณประโยชน์
โดยส่งมอบให้กับบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วยติดเชื้อ สถาบันบำราศนราดูร มูลนิธิกู้ภัยร่มไทร และ โรงพยาบาลในพื้นที่ จ.ลพบุรี

ภาพการส่งมอบต้นแบบงานวิจัยรับมือ Covid-19 เพื่อสาธารณะประโยชน์ ให้กับบุคลากรทางการแพทย์และโรงพยาบาลต่างๆ

6) การต่อยอดนวัตกรรมสารเคลือบนาโนสำหรับแผงโซล่าร์เซลล์

การนำนวัตกรรมสารเคลือบพื้นผิวโซลาร์เซลล์ ไปประยุกต์ใช้กับพื้นที่อาคาร ณ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสระแก้ว จ.สระแก้ว ซึ่งได้ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาขนาด 30 กิโลวัตต์เพื่อช่วยลดภาระในการทำความสะอาด และบำรุงรักษา อีกทั้งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการรับพลังงานได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งโครงการนี้จะเป็นพื้นที่นำร่อง เพื่อนำค่าใช้จ่ายที่ลดลงนี้มาช่วยสนับสนุนโครงการเกษตรฯ สำหรับนักเรียนที่ขาดแคลนต่อไป

การลงพื้นที่นำนวัตกรรมสารเคลือบพื้นผิวโซลาร์เซลล์ไปประยุกต์ใช้กับพื้นที่อาคารวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสระแก้ว จ.สระแก้ว

ติดต่อสอบถาม

ดร.ปิยะวรรณ เพชราภา, หัวหน้าโครงการฯ
ฝ่ายธุรกิจนวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี
ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สวทช.