ชื่อผลงานวิจัย
Gunther Bath (“กันเธอ” สำหรับห้องน้ำ) Ambient Fall Detector นวัตกรรมตรวจจับ และแจ้งเตือนการพลัดตกหกล้มแบบติดตั้งที่ผนังห้อง
ชื่อเจ้าของผลงาน
ดร.ศราวุธ เลิศพลังสันติ
ความคืบหน้าของงานวิจัย
อยู่ระหว่างการเจรจารถ่ายทอดเทคโนโลยี
รูปแบบนำเสนอ
Onsite
ที่มาหรือความสำคัญของงานวิจัย
ปัญหาการพลัดตกหกล้มของผู้สูงอายุ เป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญที่ควรได้รับการแก้ไข และได้รับการสนับสนุนโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั่วโลกอย่างเร่งด่วน ซึ่งการเหตุการณ์พลัดตกหกล้มที่เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุนั้น นอกจากจะเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิต หรือการเสื่อมถอยของสถานภาพร่างกายอย่างเฉียบพลันแล้ว เช่น จากที่ดูแลตัวเองได้ กลายเป็นผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงแล้ว ยังส่งผลถึงโอกาส และภาระของคนในครอบครัว รวมถึงงบประมาณหน่วยงานรัฐในแต่ละประเทศที่สูญเสียไปในการรักษาต่อปีเป็นจำนวนมากอีกด้วย โดยสถานที่เสี่ยงที่ผู้สูงอายุจะพลัดตกหกล้มที่พบได้บ่อย ได้แก่ ห้องน้ำ เตียงนอน และบันได ซึ่งเกิดขึ้นได้ทั้งที่บ้าน โรงพยาบาล หรือสถานที่ต่างๆ ใน
ปัจจุบันแม้ว่าจะมีผลิตภัณฑ์สำหรับตรวจจับเหตุการณ์พลัดตกหกล้ม ซึ่งสามารถแบ่งวิธีการตรวจจับเหตุการณ์พลัดตกหกล้มได้ 3 วิธี ได้แก่ การใช้อุปกรณ์วัดแบบสวมใส่ (Wearable sensor) การใช้ระบบกล้อง (Vision) และการใช้อุปกรณ์ที่ติดตั้งในสภาพแวดล้อม (Ambient) อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อจำกัดหลายประการ และยังไม่เป็นที่นิยมยอมรับแพร่หลายในการใช้งาน เช่น ต้องให้ผู้ใช้สวมใส่เท่านั้น และยังไม่มีความแม่นยำในการทำงานเพียงพอ (นาฬิกา หรือสร้อยคล้องคอ) รวมถึงการรักษาความลับและความรู้สึกไม่เป็นส่วนตัว (กรณีใช้กล้องบันทึกภาพ) ซึ่งปัจจุบัน โดยภาพรวมยังมีราคาจำหน่ายสูงทำให้คนส่วนใหญ่ยังไม่สามารถเข้าถึงได้
วัตถุประสงค์ของงานวิจัย
จากโจทย์นี้ MTEC สวทช. ได้ร่วมกับเครือข่ายฯ ออกแบบนวัตกรรม ที่มีชื่อเล่นว่า “กันเธอ บาธ” Gunther Bath – Ambient Fall Detector ในการพัฒนาระบบตรวจจับการพลัดตกหกล้มด้วยอุปกรณ์ที่ติดตั้งในสิ่งแวดล้อม เช่น ผนังห้อง (Wall-mounted Ambient sensor) และใช้โครงข่ายประสาทเทียม (Artificial neural networks) ในการทำนายเหตุการณ์พลัดตกหกล้ม ซึ่งจะสามารถติดตั้งบริเวณของที่อยู่อาศัย หรือสถานที่ที่ต้องการการเฝ้าระวังการพลัดตกหกล้ม โดยใช้เทคโนโลยีไร้สายในการรับส่งสัญญาณการเคลื่อนที่ของผู้ใช้หรือผู้สูงอายุ และทำการแจ้งเตือน หรือส่งสัญญาณไปยังผู้ดูแลในกรณีที่เกิดเหตุการณ์พลัดตกหกล้มต่อไป
จุดเด่นของงานวิจัย
- สามารถติดตั้งระบบที่ผนังห้องต่าง ๆ โดยเฉพาะห้องน้ำ โดยผู้ใช้งานไม่ต้องสวมใส่อุปกรณ์
- ไม่รบกวนความเป็นส่วนตัว (ไม่มีการถ่ายภาพ)
- ใช้งานง่าย
- สามารถเชื่อมต่อกับระบบอื่น ๆ เช่น ลำโพงไร้สาย ปุ่มแจ้งเหตุฉุกเฉิน
- ต้นทุนในการผลิตไม่สูง
กลุ่มเป้าหมาย
ผู้สูงอายุที่พึ่งพาตัวเองได้ และอยู่ที่บ้านลำพังในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งต่อเนื่อง และลูกหลานหรือผู้ดูแลที่ดูแลผู้สูงอายุ และต้องการการแจ้งเหตุในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน เช่น พลัดตกหกล้ม