ชื่อผลงานวิจัย
เครื่องกรองฝุ่นละอองและกำจัดเชื้อโรคในอากาศ (IonFresh+)
ชื่อเจ้าของผลงาน
ดร.พรอนงค์ พงษ์ไพบูลย์ และคณะวิจัยฝ่ายวิจัยนวัตกรรมไร้สายและระบบอัจฉริยะ (WISRD)
สังกัดศูนย์เทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงของประเทศและการประยุกต์เชิงพาณิชย์ (NSD)
ความคืบหน้าของงานวิจัย
อยู่ระหว่างการรอถ่ายทอดเทคโนโลยี
รูปแบบนำเสนอ
Onsite
ที่มาหรือความสำคัญของงานวิจัย
ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ที่มีปริมาณเกินค่ามาตรฐานจัดเป็นปัญหามลพิษทางอากาศในหลายพื้นที่ ซึ่งเดิมการรับมือด้วยการใช้หน้ากาก N95 และการใช้เครื่องฟอกอากาศในอาคารที่มีอัตราการสร้างอากาศบริสุทธิ์ที่ต่ำกว่า 1,000 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง ไม่สามารถใช้งานกับห้องขนาดใหญ่ที่มีพื้นที่มากกว่า 100 ตารางเมตร เช่น ห้องประชุม ห้องทำงาน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งนอกจากปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 แล้ว ในปัจจุบันยังประสบปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดต่ออันตราย อาทิ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่สามารถแพร่กระจายเชื้อโรคจากคนสู่คนได้โดยง่าย ซึ่งการฉายแสงยูวีซีและการใช้ประจุไฟฟ้า ก็เป็นวิธีที่นิยมใช้ในการฆ่าเชื้อโรคในอากาศ ซึ่งไม่เกิดผลกระทบหรือเป็นอันตรายกับผู้คนในบริเวณใกล้เคียง
ดังนั้น ทีมวิจัยจึงมีแนวคิดในการวิจัยและพัฒนาเครื่องกรองฝุ่นละอองและกำจัดเชื้อโรคในอากาศ เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 และปัญหาการแพร่กระจายของเชื้อโรคในอากาศ ที่สามารถใช้งานได้ในห้องขนาดใหญ่ โดยอาศัยหลักการทำงานของเทคโนโลยีการตกตะกอนเชิงไฟฟ้าสถิตในการกรองฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศ โดยใช้วัสดุคาร์บอนไฟเบอร์ในการปล่อยประจุ และปรับวิธีการติดตั้งแผ่นกรองคาร์บอน เพื่อช่วยลดโอโซนที่เกิดขึ้น ร่วมกับเทคโนโลยีการกำจัดเชื้อโรคด้วยประจุไฟฟ้าและการฉายแสงยูวีซี นอกจากนั้น ยังมีระบบควบคุมการทำงานแบบอัตโนมัติตามปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 และค่าความเข้มข้นของโอโซนในอากาศ
วัตถุประสงค์ของงานวิจัย
- เพื่อศึกษาวิจัยการกรองฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ด้วยเทคโนโลยีการตกตะกอนเชิงไฟฟ้าสถิต
- เพื่อศึกษาวิจัยแนวทางการลดอัตราการเกิดโอโซน และการเพิ่มประสิทธิภาพ/อัตราการสร้างอากาศบริสุทธิ์ ของการกรองฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ด้วยเทคโนโลยีการตกตะกอนเชิงไฟฟ้าสถิต
- เพื่อวิจัยพัฒนาเครื่องกรองฝุ่นละอองและกำจัดเชื้อโรคในอากาศ ที่สามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างอิสระ และมีระบบควบคุมการทำงานแบบอัตโนมัติ
จุดเด่นของงานวิจัย
- สามารถกรองฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5
- มีอัตราการสร้างอากาศบริสุทธิ์ 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง
- เหมาะกับการใช้งานในห้องขนาดใหญ่ที่มีพื้นที่ 150-200 ตารางเมตร
- ใช้เทคโนโลยีตกตะกอนเชิงไฟฟ้าสถิตแบบสองขั้นตอน ที่มีอัตราการเกิดโอโซนต่ำ เนื่องจากใช้เส้นใยคาร์บอนไฟเบอร์ในการปล่อยประจุ
- มีค่าความเข้มข้นของโอโซนเฉลี่ย 1 ชั่วโมง ไม่เกิน 10 ppb (ค่ามาตรฐานกรมควบคุมมลพิษ คือ ไม่เกิน 100 ppb)
- มีหลอดกำเนิดแสงยูวีซีภายใน สามารถช่วยกำจัดเชื้อโรคในอากาศ
- สามารถทำความสะอาดชุดกรองอากาศได้ ไม่ต้องเปลี่ยนใหม่
- สามารถเคลื่อนย้ายได้สะดวก
- มีระบบควบคุมการทำงานแบบอัตโนมัติ
กลุ่มเป้าหมาย
โรงเรียน มหาวิทยาลัย โรงแรม อาคารสำนักงาน กลุ่มบริษัทเอกชน