การนำขยะแบตเตอรี่ชนิดอัลคาไลน์ สังกะสีคาร์บอน และขยะผลผลิตการเกษตร มารีไซเคิลเพื่อพัฒนาเป็นแบตเตอรี่แบบอัดประจุซ้ำได้

ชื่อผลงานวิจัย

การนำขยะแบตเตอรี่ชนิดอัลคาไลน์ สังกะสีคาร์บอน และขยะผลผลิตการเกษตร มารีไซเคิลเพื่อพัฒนาเป็นแบตเตอรี่แบบอัดประจุซ้ำได้ (Recycling of Alkaline and Zinc-Carbon Spent Batteries and Biomass for Zinc-ion battery)

ชื่อเจ้าของผลงาน

ดร. อดิสร เตือนตรานนท์ และ ดร. ชาคริต ศรีประจวบวงษ์ ผลงานร่วมกับ รศ.ดร. รจนา พรประเสริฐสุข ภาควิชาวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมีผู้ร่วมโครงการดังต่อไปนี้

  1. รศ.ดร.สุรเทพ เขียวหอม  ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  2. ศ.ดร.พัชณิตา ธรรมยงค์กิจ  ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  3. รศ.ดร.นิสิต ตัณฑวิเชฐ ภาควิชาเคมีเทคนิค คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  4. ผศ.ดร.ประสิทธิ์ พัฒนะนุวัฒน์  ภาควิชาวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  5. Dr.Jiaqian Qin สถาบันโลหะและวัสดุแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  6. ดร.รงรอง เจียเจริญ  สถาบันโลหะและวัสดุแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  7. อ.ดร.จิตติ เกษมชัยนันท์ ภาควิชาเคมีเทคนิค คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  8. ผศ.ดร.ณัฐพร โทณานนท์ ภาควิชาวิศวกรรมเคมี  คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  9. ศ.ดร.อนงค์นาฏ สมหวังธนโรจน์ ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ความคืบหน้าของงานวิจัย

อยู่ระหว่างการรอถ่ายทอดเทคโนโลยี

รูปแบบนำเสนอ

Onsite

ที่มาหรือความสำคัญของงานวิจัย
  • แบตเตอรี่แบบปฐมภูมิชนิดแบตเตอรี่อัลคาไลน์ และแบตเตอรี่สังกะสีคาร์บอนมีการใช้อย่างแพร่หลายเป็นจำนวนมากทั่วโลก ทั้งในเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็ก ตลอดจนอุปกรณ์สื่อสาร 
  • เนื่องจากแบตเตอรี่ทั้งสองชนิดนี้เป็นแบบปฐมภูมิไม่สามารถนำมาอัดประจุกลับเพื่อนำมาใช้ใหม่ได้ อีกทั้งแบตเตอรี่บางชนิดมักมีองค์ประกอบที่เป็นพิษ ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม และยังทำให้มีปริมาณของเสียทิ้งที่เกิดจากแบตเตอรี่ที่ใช้แล้วเป็นจำนวนมากและสะสมอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้นยังเป็นการสิ้นเปลืองทรัพยากรวัตถุดิบที่มีอยู่บนโลกหากมีการผลิตเป็นจำนวนมาก
  • แบตเตอรี่ที่มีการใช้กันอย่างแพร่หลายนั้นเป็นแบตเตอรี่ที่ผลิตจากวัสดุลิเทียม ที่มีต้นทุนการผลิตสูง และมีประเด็นถกเถียงในเรื่องของความปลอดภัย เนื่องจากปัญหาในการระเบิด และลุกติดไฟได้ อีกทั้งปริมาณของวัสดุที่ใช้ในการผลิตยังมีน้อย เป็นแร่ธาตุหายาก แบตเตอรี่สังกะสีไอออน (Zn-ion battery) จึงได้รับความสนใจค่อนข้างมาก และมีแนวโน้มได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในอุปกรณ์กักเก็บพลังงานในอนาคต เนื่องจากมีสมรรถนะที่ดี มีความจุไฟฟ้าจำเพาะสูง ค่าศักย์ไฟฟ้าสมดุลย์ต่ำ ต้นทุนวัตถุดิบต่ำ มีปริมาณมากในธรรมชาติ มีความปลอดภัยสูง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
  • โครงการวิจัยนี้จึงมีแนวคิดที่จะศึกษากระบวนการเตรียมแบตเตอรี่สังกะสีไอออนแบบอัดประจุซ้ำได้จากวัสดุรีไซเคิลแบตเตอรี่ปฐมภูมิชนิดอัลคาไลน์และสังกะสีคาร์บอน และวัสดุเหลือทิ้งชีวภาพจากผลผลิตทางการเกษตร เพื่อพัฒนาเป็นแบตเตอรี่สังกะสีไอออนแบบอัดประจุซ้ำได้
วัตถุประสงค์ของงานวิจัย
  1. เพื่อพัฒนากระบวนการและหาสภาวะที่เหมาะสมในการแยกสังกะสี และแมงกานีสจากแบตเตอรี่อัลคาไลน์และแบตเตอรี่สังกะสีคาร์บอนที่ผ่านการใช้งานแล้ว เพื่อใช้สังเคราะห์อนุภาคของสังกะสีและแมงกานีสไดออกไซด์ที่มีองค์ประกอบเคมี เฟส และขนาดอนุภาคที่เหมาะสมในการใช้งานในแบตเตอรี่สังกะสีไอออนโดยมีประสิทธิภาพการนำสังกะสีและแมงกานีสกลับมาใช้ใหม่อย่างน้อย 70%
  2. เพื่อศึกษาการเตรียมแบตเตอรี่สังกะสีไอออนแบบอัดประจุซํ้าได้จากวัสดุรีไซเคิลแบตเตอรี่อัลคาไลน์และแบตเตอรี่สังกะสีคาร์บอนร่วมกับวัสดุคาร์บอนรูพรุนอนุภาคนาโนจากขยะเหลือทิ้งทางการเกษตรกับวัสดุทางการค้า
  3. เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนากระบวนการรีไซเคิลแบตเตอรี่ปฐมภูมิ และเตรียมแบตเตอรี่สังกะสีไอออน (ที่มีความจุอย่างน้อย 150 mAh/g และจำนวนรอบอย่างน้อย 1000 รอบ) จากวัสดุรีไซเคิลในการผลิตระดับ pilot scale ต่อไป
  4. เพื่อศึกษาการสังเคราะห์วัสดุคาร์บอนรูพรุนขนาดนาโนจากขยะเหลือทิ้งทางการเกษตรสำหรับใช้เป็นวัสดุขั้วอิเล็กโทรดของแบตเตอรี่แบบอัดประจุซ้ำได้
  5. เพื่อศึกษาประสิทธิภาพของแบตเตอรี่สังกะสีไอออนที่ใช้วัสดุคาร์บอนรูพรุนอนุภาคนาโนจากขยะเหลือทิ้งทางการเกษตร
  6. เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนากระบวนการสังเคราะห์วัสดุคาร์บอนรูพรุนอนุภาคนาโนจากขยะเหลือทิ้งทางการเกษตรในการผลิตระดับกึ่งอุตสาหกรรม
จุดเด่นของงานวิจัย
  • ผลสำเร็จของงานวิจัยสามารถสร้างแนวทางในการจัดการวัสดุรีไซเคิลจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ และขยะเหลือทิ้งทางการเกษตรที่มีปริมาณมาก
  • ลดการเกิดมลภาวะทางสิ่งแวดล้อม
  • สร้างมูลค่าเพิ่ม และส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียน 
  • รวมถึงสร้างองค์ความรู้ด้านการพัฒนาวัสดุสำหรับอุปกรณ์กักเก็บพลังงานที่มีราคาถูก มีความปลอดภัย ไม่ต้องพึ่งพาหรือลดการนำเข้าวัสดุ และเทคโนโลยีจากต่างประเทศส่งผลให้สามารถลดการขาดดุลให้กับประเทศตามนโยบายและยุทธศาสตร์ อววน. ในแพลตฟอร์มที่ 3 ของกรอบการวิจัยและนวัตกรรมด้าน BCG in Action ได้
กลุ่มเป้าหมาย
  • หน่วยงานภาครัฐ และเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการจัดการวัสดุรีไซเคิลจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ และขยะเหลือทิ้งทางการเกษตร
  • บุคคลกรและหน่วยงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาวัสดุสําหรับอุปกรณ์กักเก็บพลังงาน ทั้งอาจารย์มหาวิทยาลัย นักวิจัยจากสถาบันวิจัยต่างๆ
  • เกษตรกร และประชาชนทั่วไป 
รูปที่ 1 โครงการย่อยที่ 1: วัสดุจากการรีไซเคิลแบตเตอรี่อัลคาไลน์และแบตเตอรี่สังกะสี-คาร์บอน
สําหรับประยุกต์ใช้เป็นขั้วอิเล็กโทรดของแบตเตอรี่สังกะสีไอออน
รูปที่ 2 โครงการย่อยที่ 2: คาร์บอนรูพรุนขนาดนาโนจากวัสดุเหลือทิ้งชีวภาพ
สำหรับประยุกต์ใช้เป็นขั้วอิเล็กโทรดของแบตเตอรี่สังกะสีไอออน

ติดต่อสอบถาม

นางอรพรรณี หยวน
ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงของประเทศและการประยุกต์เชิงพาณิชย์(NSD)