จาก Recycle สู่ Upcycling ที่ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สวทช. เลือกหยิบของเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตของภาคอุตสาหกรรม/เกษตรกรรม มาเพิ่มมูลค่าด้วยนาโนเทคโนโลยี ลดขยะ ลดปัญหาสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกับเพิ่มโอกาสให้กับผู้ประกอบการในการสร้างรายได้จากวัสดุเหลือใช้ และเหลือทิ้ง รวมถึงอาจเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ เป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค

 
“เปลือกหอยแมลงภู่” ขยะมากมูลค่า

เปลือกหอยจากอุตสาหกรรมอาหารทะเลเป็นขยะที่ต้องมีการจัดการอย่างเป็นระบบ ชาวบ้านมีปัญหาในการหาพื้นที่ทิ้งเปลือกหอย การขนย้ายเปลือกหอยไปทิ้งก็มีค่าใช้จ่ายสูง ชาวบ้านรับจ้างแกะเนื้อหอยจะทิ้งเปลือกหอยในบริเวณบ้านหรือข้างถนน ทำให้มีขยะเปลือกหอยแมลงภู่เหลือจำนวนมากในพื้นที่ตำบลแหลมใหญ่ ส่งผลให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาสุขภาพ ปัญหาทัศนียภาพ รวมไปถึงการวางแผนการพัฒนาพื้นที่ของหน่วยงานภาครัฐ การแปรรูปเปลือกหอยแมลงภู่เหลือทิ้งให้เป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงจึงเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการลดปริมาณขยะเปลือกหอยแมลงภู่ 

ทีมวิจัยนาโนเทค สวทช. – จุฬาฯ แปรรูปขยะเปลือกหอยแมลงภู่เป็น Micro-calcium carbonate และ Nano-calcium carbonate ได้ด้วยวิธีการที่ไม่มีการสร้างของเสีย (Zero Waste Process) ด้วนการพัฒนาระบบที่สามารถแปรรูปสารเคมีที่เหลือจากกระบวนการผลิตให้เป็นปุ๋ยสำหรับภาคการเกษตรได้ทั้งหมด ทำให้ไม่มีของเสียใดๆ เกิดขึ้นในกระบวนการแปรรูปขยะเปลือกหอยแมลงภู่ โดยที่ Micro-calcium carbonate และ Nano-calcium carbonate สามารถนำไปใช้เป็นส่วนผสมในสินค้า OTOP ได้หลากหลาย เช่น สบู่ขัดผิวผสมผงประกายมุข โลชั่นบำรุงผิว ก้อนหอม ทรายอะราโกไนต์สำหรับตู้ปลาสวยงาม เป็นต้น รวมถึงปรับเปลี่ยนสมบัติเชิงพื้นผิวเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในดูดซับคราบน้ำมัน สามารถต่อยอดสู่สเปรย์-ฟองน้ำทำความสะอาดที่ปลอดภัย หรือผสมขยะพลาสติกชีวภาพ (PLA) พัฒนาเส้นพลาสติกรักษ์โลกสำหรับเครื่องพิมพ์สามมิติ ย่อยสลายได้ 100% คุณภาพดี ราคาถูก ทดแทนของนำเข้าราคาสูง

กากเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมเกษตรสู่แผ่นกรอง PM2.5

ของเหลือทิ้งจากโรงงานแป้งมัน สู่ตัวดูดซับอัจฉริยะ CARBANO-Ag ที่มีคุณสมบัติในการกรองสีและดักจับสารอินทรีย์ต่างๆ รวมถึงคลอโรฟอร์มและโลหะหนัก (โดยเฉพาะ ปรอท และสารหนู) หรือสารแขวนลอยที่ปนมากับน้ำได้ดี สำหรับ CARBANO-Ag คือผลิตภัณฑ์ถ่านคาร์บอนกัมมันต์เอิบชุ่มด้วยอนุภาคนาโนของโลหะเงินขนาดพิเศษ มีประสิทธิภาพสูงในการยับยั้งหรือฆ่าเชื้อ มีการหลุดร่อนของอนุภาคโลหะเงินต่ำ จนปลอดภัยเมื่อนำไปใช้เป็นวัสดุกรองน้ำดื่ม นอกจากนี้กรรมวิธีการผลิตยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจากการทดสอบการดูดซับคลอโรฟอร์มและฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ต่างๆ ในน้ำ ซึ่งพบว่ามีประสิทธิภาพในการกำจัดคลอโรฟอร์มในน้ำอยู่ที่ร้อยละ 98 และพบว่ามีความสามารถในการฆ่าเชื้อ Staphylococcus aureus และ Escherichia coli ซึ่งเป็นตัวแทนเชื้อจุลินทรีย์ในน้ำได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ผลการทดสอบการหลุดร่อนของโลหะเงินในน้ำดื่มพบว่ามีค่าต่ำกว่าค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ ดังนั้นจึงมีความเหมาะสมในการนำไปใช้เพื่อกรองน้ำดื่ม

นอกจากนี้ ทีมวิจัยนาโนเทคยังต่อยอดสู่การขึ้นรูปเป็นแผ่นกรองอากาศชนิดใหม่ มีขนาดบางแต่ประสิทธิภาพเทียบเท่าแผ่นกรอง HEPA โดยแผ่นกรองมีความสามารถในการไหลผ่านของอากาศได้ดี มีความยืดหยุ่นสูงและสามารถคงรูปได้อย่างแข็งแรง สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในเครื่องดูดฝุ่น เครื่องปรับอากาศ เครื่องฟอกอากาศ รวมถึงแผ่นกรองแอร์รถยนต์ สามารถดักกรองฝุ่นต่างๆ รวมทั้งสิ่งสกปรกและสารก่อภูมิแพ้ เช่น ฝุ่น PM2.5 เชื้อรา ไวรัส แบคทีเรีย ละอองเกสรดอกไม้ สารอินทรีย์ระเหยง่ายและอนุภาคต่างๆ ที่ล่องลอยอยู่ในอากาศด้วย ที่เป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ ไม่ไหลเวียนกลับเข้าไปในอากาศได้อีก จึงทำให้สามารถช่วยสร้างอากาศบริสุทธิ์แก่ที่อยู่อาศัยของเราได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ติดต่อสอบถาม
ผลงานวิจัย “เปลือกหอยแมลงภู่” ขยะมากมูลค่า ทีมวิจัยการวินิจฉัยระดับนาโน กลุ่มวิจัยวัสดุตอบสนองและเซ็นเซอร์ระดับนาโน และ ผลงานวิจัย ตัวดูดซับอัจฉริยะ CARBANO-Ag ทีมวิจัยตัวเร่งปฏิกิริยา กลุ่มวิจัยการเร่งปฏิกิริยาและการคำนวณระดับนาโน
ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (NANOTEC)