มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพะราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยสำนักงานประสานงานโครงการตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ดำเนินโครงการส่งเสริมการเรียนการสอนโค้ดดิ้งสำหรับนักเรียนพิการ ในโรงเรียนนำร่องที่จัดการเรียนการสอนนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยินและนักเรียนที่มีความบกพร่องทางร่างกายและการเคลื่อนไหวที่อยู่ในการดูแลของมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ จำนวน ๑๐ โรงเรียน ตั้งแต่ปี ๒๕๖๑ เพื่อให้นักเรียนพิการได้รับการพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ ๒๑ อย่างเท่าเทียม โดยจัดอบรมพัฒนาความรู้ด้านโค้ดดิ้งให้กับครูและนักเรียนพิการผ่านการใช้งานบอร์ด KidBright ซึ่งเป็นบอร์ดสมองกลฝังตัว ผลงานวิจัยของเนคเทค สวทช. ตั้งแต่การใช้งานบอร์ด KidBright ขั้นพื้นฐาน จนไปถึงการจัดทำโครงงานสิ่งประดิษฐ์สมองกลฝังตัวด้วยบอร์ด KidBright และพัฒนาต่อยอดความรู้ใหม่อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้  ในปี ๒๕๖๕ ได้ขยายผลการส่งเสริมการเรียนการสอนโค้ดดิ้งไปยังโรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนนักเรียนที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาและ/หรือออทิสติกภายใต้การดูแลของมูลิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ จำนวน ๙ โรงเรียน โดยจัดอบรมพัฒนาความรู้ให้แก่ครูผู้สอนในการใช้งานบอร์ด KidBright เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างสื่อการเรียนการสอนที่สอดคล้องต่อการเรียนรู้ของนักเรียนที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาและ/หรือออทิสติก รวมทั้งการใช้เป็นเครื่องมือช่วยในการส่งเสริมพฤติกรรมที่เหมาะให้แก่นักเรียนที่มีปัญหาด้านพฤติกรรม

กิจกรรมส่งเสริมการเรียนการสอนโค้ดดิ้งสำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยินและนักเรียนที่มีความบกพร่องทางร่างกายและการเคลื่อนไหว

พัฒนาความรู้และทักษะด้านโค้ดดิ้งให้กับครูและนักเรียนพิการจากโรงเรียนนำร่องที่จัดการเรียนการสอนนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยินและโรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนนักเรียนที่มีความบกพร่องทางร่างกายและการเคลื่อนไหว จำนวน ๑๐ โรงเรียน ประกอบด้วย โรงเรียนโสตศึกษาทุ่งมหาเมฆ โรงเรียนโสตศึกษาอนุสารสุนทร โรงเรียนโสตศึกษาจังหวัดนนทบุรี โรงเรียนโสตศึกษาจังหวัดสงขลา โรงเรียนโสตศึกษาจังหวัดอุดรธานี โรงเรียนโสตศึกษาปานเลิศจังหวัดลพบุรี โรงเรียนเศรษฐเสถียร ในพระราชูปถัมภ์ โรงเรียนศรีสังวาลย์เชียงใหม่ โรงเรียนศรีสังวาลย์ขอนแก่น และโรงเรียนศรีสังวาลย์ของมูลนิธิอนุเคราะห์คนพิการในพระราชูปถัมภ์ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพของนักเรียนให้มีการคิดเชิงระบบ การคิดเชิงวิเคราะห์และการคิดเชิงสร้างสรรค์ ขยายโอกาสให้ครูและนักเรียนมีบอร์ด KidBright ใช้เป็นเครื่องมือในการเรียนการสอนทางด้านวิทยาการคำนวณ ส่งเสริมให้เกิดการศึกษาค้นคว้า ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และการใช้ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ กระตุ้นให้นักเรียนเป็นนักประดิษฐ์ มีความสนใจทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความคิดเห็นซึ่งกันและกัน สร้างพื้นฐานความรู้ด้านคอมพิวเตอร์ให้กับนักเรียน เพื่อมุ่งสู่ Thailand 4.0 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ การดำเนินงานในการพัฒนาความรู้ตั้งแต่ปี ๒๕๖๑ จนถึงปัจจุบันมีดังนี้

ปี ๒๕๖๑ – ๒๕๖๓

จัดอบรมพัฒนาความรู้ในการใช้งานบอร์ด KIdBright ขั้นพื้นฐาน การใช้เซนเซอร์ต่าง ๆ และบอร์ดขยายความสามารถร่วมกับบอร์ด KidBright จนไปถึงการจัดทำโครงงานสิ่งประดิษฐ์สมองกลด้วยบอร์ด KidBright  โดยปี ๒๕๖๓ มีการขยายผลนำหลักสูตรและกิจกรรมที่ดำเนินงานกับโรงเรียนนำร่องไปจัดอบรมพัฒนาความรู้ให้กับครูและนักเรียนพิการจากโรงเรียนโสตศึกษาที่จัดการเรียนการสอนนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน และนักเรียนที่มีความบกพร่องทางร่างกายและการเคลื่อนไหว จำนวน 26 แห่ง ทั่วประเทศ โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากองทุนส่งเสริมและพัฒนาการศึกษาสำหรับคนพิการ สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สพฐ. (ดำเนินงานเดือนตุลาคม ๒๕๖๓-กันยายน ๒๕๖๕)

ปี ๒๕๖๔ – ๒๕๖๕

จัดอบรมพัฒนาความรู้ด้านวิทยาการข้อมูล (Data Science) ร่วมกับโค้ดดิ้งผ่านสถานีวัดสภาพอากาศอุตุน้อยและเว็บแอปพลิเคชัน PLAYGROUND ด้วยบอร์ด KidBright  โดยเนคเทคมอบสถานีวัดสภาพอากาศอุตุน้อยให้แก่โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ โรงเรียนละ ๑ ชุด สำหรับนำไปติดตั้งที่โรงเรียนเพื่อเก็บและรวบรวมข้อมูลสภาพอากาศในพื้นที่ของโรงเรียนและบริเวณรอบ ๆ โรงเรียน รวมทั้งใช้เป็นเครื่องมือในการสอนวิทยาการข้อมูล ซึ่งจะสามารถ

โรงเรียนทำการติดตั้งสถานีวัดสภาพอากาศอุตุน้อยที่โรงเรียนเพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้วิทยาการข้อมูล

ปี ๒๕๖๖

จัดอบรมพัฒนาความรู้ด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ผ่าน KidBright AI Platform และการนำมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาโครงงานสิ่งประดิษฐ์สมองกลฝังตัว โดยโรงเรียนได้จัดทำโครงงานสิ่งประดิษฐ์สมองกลฝังตัวภายใต้หัวข้อ BCG Economy Model ที่สามารถต่อยอดนำไปใช้ประโยชน์ในการดำเนินชีวิตประจำวันต่อไป

นักเรียนเรียนรู้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ผ่าน KidBright AI Platform

ผลการดำเนินงาน

ครูและนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการสามารถพัฒนาโครงงานสิ่งประดิษฐ์สมองกลฝังตัวที่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือคนพิการและนำไปประกวดในเวทีต่าง ๆ ร่วมกับนักเรียนทั่วไปและได้รับรางวัล เช่น เวที Show & Share สิ่งประดิษฐ์สมองกลฝังตัวของมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ การประกวดผลงานสิ่งประดิษฐ์แนวคิดใหม่ ระดับประเทศ ของ สพฐ. เป็นต้น  โดยในปี ๒๕๖๖ มีการพัฒนาโครงงานสิ่งประดิษฐ์สมองกลฝังตัวที่มีการใช้วิทยาการข้อมูลและเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาช่วยในการพัฒนาโครงงานให้มีคุณภาพและสามารถนำไปต่อยอดในการใช้งานจริง เช่น โครงงานโรงเรือนเพาะต้นอ่อนทานตะวันอัจฉริยะด้วยบอร์ดคิดไบร์ทของโรงเรียนโสตศึกษาทุ่งมหาเมฆ ที่มีการพัฒนาโดยใช้แนวคิด BCG มาพัฒนางานอาชีพเพาะต้นอ่อนทานตะวันของนักเรียนในโรงเรียน ช่วยเพิ่มผลผลิต ลดข้อจำกัดและปัญหาอุปสรรคในการเพาะปลูก นอกจากนี้ โครงงานระบบแจ้งเตือนการขับขี่รถจักรยานสำหรับผู้ที่มีความบกพร่องทางการได้ยินของโรงเรียนเศรษฐเสถียรฯ ได้เป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการประกวดสิ่งประดิษฐ์สำหรับคนพิการและผู้สูงอายุระดับนานาชาติ (Global Student Innovation Challenge: gSIC 2023) ประเภทสิ่งประดิษฐ์สำหรับคนพิการและผู้สูงอายุระดับนานาชาติ ในงานประชุมวิชาการนานาชาติ i-CREATe 2023 ณ ศูนย์ประชุมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย สวทช. จังหวัดปทุมธานี ระหว่างวันที่ ๘ – ๑๑ สิงหาคม ๒๕๖๖

โครงงานโรงเรือนเพาะต้นอ่อนทานตะวันอัจฉริยะด้วยบอร์ดKidBright ของโรงเรียนโสตศึกษาทุ่งมหาเมฆ ร่วมประกวดใน
เวที Show & Share สิ่งประดิษฐ์สมองกลฝังตัว ปี ๒๕๖๖ ของมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ ได้รับรางวัลระดับเหรียญทอง

กิจกรรมส่งเสริมการเรียนการสอนโค้ดดิ้งสำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาและ/หรือออทิสติก

ดำเนินการนำร่องในโรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนนักเรียนที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาและ/หรือออทิสติก จำนวน ๙ โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนกาวิละอนุกูล โรงเรียนอุบลปัญญานุกูล โรงเรียนนครราชสีมาปัญญานุกูล โรงเรียนนครสวรรค์ปัญญานุกูล โรงเรียนพิษณุโลกปัญญานุกูล โรงเรียนฉะเชิงเทราปัญญานุกูล โรงเรียนนครศรีธรรมราชปัญญานุกูล โรงเรียนภูเก็ตปัญญานุกูล และโรงเรียนกาฬสินธุ์ปัญญานุกูล ในปี ๒๕๖๕ จนถึงปัจจุบัน โดยอบรมพัฒนาความรู้ให้แก่ครูผู้สอนและนำนักเรียนเข้ามาร่วมกิจกรรมค่ายพัฒนาการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมโค้ดดิ้งดังนี้

ปี ๒๕๖๕

อบรมพัฒนาความรู้ให้ครูผู้สอนได้นำความรู้ด้านโค้ดดิ้งทั้งแบบไม่ใช้คอมพิวเตอร์ (Unplugged Coding) และการใช้คอมพิวเตอร์ด้วยบอร์ด KidBright มาใช้ในการส่งเสริมการเรียนรู้ให้แก่นักเรียนเที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาและ/หรื อออทิสติก

ปี ๒๕๖๖

อบรมพัฒนาความรู้และต่อยอดทักษะด้านโค้ดดิ้งในการจัดทำโครงงานสิ่งประดิษฐ์สมองกลฝังตัวด้วยบอร์ด KidBright ให้แก่ครู เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาสื่อการเรียนการสอนที่สอดคล้องต่อการเรียนรู้ของนักเรียนที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาและ/หรือออทิสติก รวมทั้งการใช้เป็นเครื่องมือช่วยในการส่งเสริมพฤติกรรมที่เหมาะให้แก่นักเรียนที่มีปัญหาด้านพฤติกรรม

ตัวอย่างสื่อการเรียนการสอนด้วยสิ่งประดิษฐ์สมองกลฝังตัว KidBright

ผลการดำเนินงาน

ครูสามารถสร้างสื่อการเรียนการสอนด้วยสิ่งประดิษฐ์สมองกลฝังตัวบอร์ด KidBright ที่สอดคล้องต่อการเรียนรู้ของนักเรียนที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาและ/หรือออทิสติกและนำกลับไปทดลองใช้สอนนักเรียนที่โรงเรียน ซึ่งพบว่านักเรียนให้ความสนใจ มีสมาธิในการเรียนดีขึ้น สามารถเรียนรู้เนื้อหาที่ครูสอนและเชื่อมโยงความรู้กับกิจวัตรประจำวันได้มากขึ้น นอกจากนี้ได้มีการจัดค่ายพัฒนาการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมโค้ดดิ้ง โดยนำสื่อการเรียนการสอนด้วยสิ่งประดิษฐ์สมองกลที่ครูสร้างขึ้น มาจัดฐานกิจกรรมให้นักเรียนได้เรียนรู้ตามสาระการเรียนรู้ต่าง ๆ รวมทั้งสอนการเขียนโค้ดคำสั่งเบื้องต้นให้แก่นักเรียน

นักเรียนเรียนให้ความสนใจในการเรียนรู้ผ่านสื่อการเรียนการสอนด้วยสิ่งประดิษฐ์สมองกลฝังตัว