ที่มา/แนวคิด

ของงานวิจัยอาหารและสุขภาวะเป็นเรื่องที่มีความสำคัญระดับประเทศ โดยสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ขององค์การสหประชาชาติ คือ Zero Hunger และ Good Health and Well-being สำหรับทุกช่วงวัย นอกจากนี้ใน Global Nutrition Targets ขององค์การอนามัยโลกภาวะทุพโภชนาการในเด็กก็เป็นหนึ่งในเรื่องที่เสนอให้ทุกประเทศต้องดูแล ดังนั้นเพื่อส่งเสริมให้เด็กมีภาวะโภชนาการที่ดี รัฐบาลจึงได้ดำเนินการโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีหลักการคิดที่ว่าถ้าเด็กได้อาหารที่มีคุณภาพดี มีสารอาหารและปริมาณตรงกับความต้องการของเด็กในช่วงอายุนั้นแล้วจะทำให้เด็กมีการเจริญเติบโตและพัฒนาการที่ดี

 ในปี พ.ศ. 2555 ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ร่วมกับสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล พัฒนาระบบแนะนำสำรับอาหารกลางวันสำหรับโรงเรียน (Thai School Lunch) ที่มุ่งเน้นให้การจัดอาหารมีความหลากหลายและมีคุณค่าทางโภชนาการเหมาะสมกับนักเรียนในแต่ละช่วงวัย ทั้งนี้ยังต้องทำได้ภายใต้งบประมาณที่จำกัด ปัจจุบันมีโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่ได้ใช้งานระบบจำนวน 36,536 แห่งทั่วประเทศ (ข้อมูล ณ วันที่ 29/01/2567)

 ในปี พ.ศ. 2563 เนคเทคร่วมกับสำนักการศึกษา กรุงเทพมหานครได้ขยายผลการใช้งานในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครทั้ง 437 โรง โดยต่อยอดพัฒนาเป็นระบบ Thai School Lunch for BMA ที่สอดคล้องกับแผนการขับเคลื่อนนโยบายของกรุงเทพมหานครเพื่อยกระดับภารกิจป้องกันการทุจริต เพื่อความโปร่งใสของโครงการอาหารเช้า – อาหารกลางวันโรงเรียน โดยได้เพิ่มฟังก์ชันที่ช่วยให้การจัดการอาหารและการติดตามและตรวจสอบคุณภาพ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและโปร่งใสมากยิ่งขึ้น เช่น การจัดสำรับอาหารเช้าและอาหารกลางวันในระดับชั้นอนุบาล ประถมศึกษาและมัธยมศึกษา การเพิ่มรูปภาพอาหารในแต่ละมื้อของวัน สามารถเชื่อมต่อกับระบบบริหารจัดการอาหารกลางวันและวัตถุดิบสำหรับผู้จัดอาหารกลางวันโรงเรียน (Thai School Lunch for Catering) ช่วยผู้ประกอบการในการบริหารจัดการอาหาร วัตถุดิบ งบประมาณและต้นทุน ทั้งยังสามารถนำเข้าข้อมูลสำรับอาหารของโรงเรียนเข้าสู่ระบบ Thai School Lunch for BMA ได้อีกด้วย สังกัดการศึกษา สำนักงานเขตและประชาชนทั่วไปสามารถมีส่วนร่วมในการดูแล สอดส่อง และตรวจสอบการดำเนินการอาหารในโรงเรียนไปพร้อมกันผ่าน TSL Photos Dashboard: https://bma.thaischoollunch.in.th/bmaphoto/รายละเอียด Thai School Lunch for BMA (https://bma.thaischoollunch.in.th)

เป็นระบบจัดสำรับอาหารกลางวันโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร เพื่อช่วยจัดสำรับอาหารเช้า-กลางวัน ให้มีคุณค่าสารอาหารตามเกณฑ์สำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร สามารถวิเคราะห์ปริมาณวัตถุดิบที่ต้องใช้ การประมาณการค่าใช้จ่าย ระบบการตรวจรับวัตถุดิบที่จัดส่งโดยผู้ประกอบการอาหาร และแกลลอรี่รูปภาพอาหารในแต่ละวันเพื่อให้ผู้ปกครอง ครู และสังกัดการศึกษาสามารถมีส่วนร่วมในการตรวจสอบอาหารร่วมกันได้

Thai School Lunch for Catering

พัฒนาขึ้นสำหรับผู้ประกอบการอาหารสำหรับโรงเรียน ให้สามารถจัดสำรับอาหาร บริหารจัดการต้นทุนและวัตถุดิบ ถ่ายภาพวัตถุดิบที่จัดส่งให้แก่โรงเรียน โดยสามารถเชื่อมข้อมูลเข้าสู่ระบบ Thai School Lunch for BMA เพื่อให้โรงเรียนและต้นสังกัดสามารถติดตามคุณภาพสำรับอาหาร และใช้สำหรับกระบวนการตรวจรับรายการอาหารและวัตถุดิบได้ด้วย

จุดเด่น ระบบ Thai School Lunch for BMA
  • แสดงรายการวัตถุดิบและคำนวณปริมาณวัตถุดิบที่ต้องใช้ตามจำนวนนักเรียน
  • ประมาณค่าใช้จ่ายและวางแผนการจัดซื้อได้
  • ออกรายงานรายการอาหารและวัตถุดิบได้
  • สร้าง/ปรับสูตรอาหารของโรงเรียนสำหรับนักเรียนในแต่ละระดับชั้น (อนุบาล,ประถมศึกษา,มัธยมศึกษา)
  • แสดงรูปภาพวัตถุดิบที่ส่งมอบจากผู้ประกอบการเพื่อพิจารณาในการตรวจรับแต่ละวัน
  • แสดงรูปภาพอาหารในแต่ละวันทุกระดับชั้น
ระบบ Thai School Lunch for Catering 
  • เพิ่มข้อมูลรายการสินค้า พร้อมราคาจริง และราคากลาง
  • เพิ่มข้อมูลรายการสินค้าประเภทวัสดุสิ้นเปลือง พร้อมราคาจริง และราคากลาง
  • แสดงรายการวัตถุดิบและคำนวณปริมาณวัตถุดิบที่ต้องใช้ตามจำนวนนักเรียน
  • ปรับเปลี่ยนปริมาณวัตถุดิบได้ตามความต้องการ
  • คำนวณต้นทุนแยกเป็น ต้นทุนจริง และต้นทุนจากราคากลาง
  • สร้าง/ปรับสูตรอาหารของผู้ประกอบการได้ (รายการวัตถุดิบเป็นไปตามที่ระบบเตรียมไว้ให้)
  • หากได้รับการยินยอมจากโรงเรียนแล้ว สามารถนำเข้าข้อมูลสำรับอาหารจากบริษัทเข้าเป็นสำรับอาหารกลางวันของโรงเรียนใน Thai School Lunch for BMA
  • ถ่ายรูปตามรายการวัตถุดิบเพื่อแนบเข้าระบบ Thai School Lunch for BMA ได้
การนำไปใช้ประโยชน์
  • ใช้จัดสำรับอาหารสำหรับเด็กในแต่ละระดับชั้นทั้ง อนุบาล ประถมศึกษา มัธยมศึกษา 
  • ตรวจสอบ จำนวน คุณค่าสารอาหารของสำรับทั้งมื้อเช้าและมื้อกลางวันได้อย่างเหมาะสมตามหลักโภชนาการ 
  • โรงเรียนสามารถประมาณค่าใช้จ่าย รวมถึงการวางแผนจัดซื้อวัตถุดิบ ได้อย่างคุ้มค่าและเหมาะสม
  • เป็นเครื่องมือสำหรับหน่วยงานต้นสังกัดสามารถติดตามและประเมินคุณภาพสำรับอาหารของโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครได้อย่างรวดเร็วและมีความโปร่งใส
กลุ่มเป้าหมาย
  • โรงเรียนในทุกสังกัดการศึกษา
  • ผู้ประกอบการอาหารโรงเรียนและเอกชนสถานะงานวิจัย
  • ใช้งานจริงในโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร 437 แห่ง
  • ผู้บริหารกทม. สำนักการศึกษา และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั้ง 50 เขตสามารถติดตามการจัดการอาหารของโรงเรียนได้แบบ real-time
  • ผู้ประกอบการจัดอาหารโรงเรียน 75 แห่ง (ที่ได้ลงทะเบียนและรับอนุมัติแล้ว 29/01/2566)

ติดต่อสอบถาม
คุณจันทิมา จันทร์ศักดิ์ศรี
ฝ่ายพัฒนาเครือข่ายเชิงกลยุทธ์และประเมินผล (SPE) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ
112 อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ถ.พหลโยธิน ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี 12120