แผนงานการพัฒนาตัวชี้วัดและฐานข้อมูลด้าน CO2, CE, SDG เพื่อการค้าและความยั่งยืน ภายใต้กลุ่ม Battle ได้จัดทำฐานข้อมูลวัฏจักรชีวิต (National LCI Database) ที่เป็นโครงสร้างพื้นฐาน วทน. ครอบคลุมอุตสาหกรรมพื้นฐานของประเทศ เพื่อสนับสนุนข้อมูลสารสนเทศด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน ให้กับภาครัฐ ภาครัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน รวมทั้งสามารถประยุกต์ใช้ด้านการประเมินสมรรถนะผลิตภัณฑ์/บริการ และองค์กร ในกลุ่มสินค้าเป้าหมายภายใต้มาตรการ CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับมาตรการตามการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลก นอกจากนี้ ได้ดำเนินการพัฒนาและติดตามตัวชี้วัดด้าน GHGs, CE, SDG เพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายของประเทศ ทั้งการพัฒนาตัวชี้วัดการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนของประเทศไทยตามเป้าหมายที่ 12 ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals, SDGs) การพัฒนาข้อมูลดัชนีการหมุนเวียนวัสดุ (Material Circularity Index, MCI) ตามเป้าหมายของหมุดหมายที่ 10 ไทยมีเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ ของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 – 2570) และการพัฒนาแพลตฟอร์มติดตามตัวชี้วัดเศรษฐกิจหมุนเวียน ตามเป้าหมายของโมเดล BCG สาขาเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อให้ประเทศไทยมีฐานข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมที่มีประสิทธิภาพตลอดห่วงโซ่อุปทานการผลิตและการบริโภคในภาคอุตสาหกรรม ภาคการเกษตร ภาคชุมชน และภาคครัวเรือน ขับเคลื่อนสังคมมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าทั้งในและต่างประเทศ
Lookie Waste: แอพพลิเคชั่นเพื่อตรวจสอบขยะอาหารและบรรจุภัณฑ์
Lookie Waste แอพพลิเคชั่นบน Mobile Platform รองรับทั้งระบบปฏิบัติการ iOS และ Android พัฒนาต่อยอดโดยนำเทคโนโลยีการประมวลผลด้วยภาพถ่าย (Image processing) และระบบภูมิสารสนเทศ (GIS) เพื่อสะดวกต่อการประมวลผลและการจัดการขยะอาหาร สามารถจัดเก็บข้อมูลขยะอาหารและบรรจุภัณฑ์อย่างเป็นระบบตามแหล่งกำเนิด ทั้ง ระดับร้านค้าปลีก ครัวเรือน และการบริการอาหาร Lookie Waste แสดงผลหลายรูปแบบทั้งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากขยะอาหารและบรรจุภัณฑ์ หน่วยเทียบเท่าคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2-eq) ผลกระทบเชิงเศรษฐศาสตร์ในรูปแบบมูลค่าทางการเงินที่ผู้บริโภคต้องสูญเสียจากขยะอาหาร และผลกระทบด้านสารอาหารที่สื่อสารในรูปแบบของปริมาณแคลอรี่และจำนวนเด็กที่หิวโหยที่ได้รับผลกระทบจากขยะอาหารที่เกิดจากการบริโภค
นอกจากนี้ ข้อมูลขยะอาหารจากระบบยังสามารถนำใช้ในการรายงานตัวชี้วัดการพัฒนาที่ยั่งยืน ตัวชี้วัดที่ 12.3.1.b ดัชนีขยะอาหาร (Food Waste Index: FWI) และสามารถประยุกต์ใช้เพื่อกำหนดนโยบายและวางมาตรการแนวทางการลดและป้องกันขยะอาหาร สร้างความตะหนักรวมไปถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหารของผู้บริโภค รวมถึงเกิดการจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพอันจะนำไปสู่การลดปริมาณขยะอาหารเพื่อมุ่งสู่ความยั่งยืนต่อไป
มาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM)
มาตรการ CBAM เป็นมาตรการสิ่งแวดล้อมใหม่ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันการรั่วไหลของก๊าซเรือนกระจก (Carbon leakage) จากสินค้าบางประเภทที่มีการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิตสูง (carbon intensive products) รวมถึงลดความเหลื่อมล้ำในการแข่งขันด้านราคาสินค้าของผลิตภัณฑ์จากประเทศคู่ค้าที่มาตรการด้านคาร์บอนเข้มงวดน้อยกว่าสหภาพยุโรป
ทั้งนี้ ทั้งภาครัฐและภาคอุตสาหกรรมต้องให้ความสนใจและเร่งดำเนินการจัดทำข้อมูลด้านการปล่อยคาร์บอนตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพื่อให้เมื่อถึงปี พ.ศ. 2569 ผู้ประกอบการไทยจะมีข้อมูลพร้อมแสดงต่อ EU ทำให้ส่งออกสินค้าไปจำหน่ายได้อย่างต่อเนื่อง ไม่มีอุปสรรคมาทำให้การดำเนินธุรกิจต้องหยุดชะงัก โดยข้อมูลที่ละเอียดและชัดเจนจะเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนลดการปล่อยคาร์บอนอย่างมีประสิทธิภาพ และการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันอีกด้วย
ประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจ (Eco-efficiency:EE)
ประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจ (Eco-efficiency) เป็นเครื่องมือการจัดการเชิงปริมาณที่ช่วยให้สามารถพิจารณาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในวงจรชีวิตของระบบผลิตภัณฑ์ควบคู่ไปกับมูลค่าของระบบผลิตภัณฑ์ต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย สามารถพิจารณาได้ตั้งแต่ระดับ ผลิตภัณฑ์หรือบริการ ระดับองค์กร รวมไปถึงระดับประเทศ ขึ้นกับวัตถุประสงค์ของการศึกษา หลักการสำคัญในการประเมิน EE นั้น คือต้องพิจารณาขอบเขตให้สอดคล้องกัน ทั้งตัวชี้วัดด้านคุณค่า และ ตัวชี้วัดด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินธุรกิจ หรือคาร์บอนฟุตพริ้นท์องค์กร ถือเป็นตัวชี้วัดหนึ่งที่นิยม โดยองค์กรจำต้องพิจารณาการปล่อยและดูดกลับก๊าซเรือนกระจกทั้งทางตรงและทางอ้อม
การประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการลงทุนหรือการให้สินเชื่อ เป็นหนึ่งในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมขององค์กร ซึ่งอาจทำการรวบรวมข้อมูลได้โดยการขอข้อมูลจากบริษัทที่เราไปลงทุน แต่สำหรับกรณีสถาบันการเงินนั้น การติดตามการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการให้สินเชื่อเพื่อดำเนินกิจการในภาคส่วนต่างๆนั้น เป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการ เนื่องจากเป็นแหล่งที่มีการปล่อยและการดูดกลับก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญ ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของอุตสาหกรรมการเงิน