ปัญหาหม้อแปลงไฟฟ้า ระเบิดจนเพลิงไหม้ลุกลามไปสู่บ้านเรือนและทรัพย์สินของประชาชน เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง นอกจากจะก่อให้เกิดความเสียหายที่ประเมินมูลค่ามิได้ยังส่งผลถึงความไม่ไว้ใจของประชาชนต่อหน่วยงานที่มี หน้าที่รับผิดชอบต่อระบบไฟฟ้าอีกด้วย โดยสาเหตุเกิดมาจากน้ำมันที่ใช้ในหม้อแปลงไฟฟ้ามีจุดติดไฟที่ต่ำกว่า 170 องศาเซลเซียส ทำให้ลุกติดไฟง่ายและเมื่อรั่วไหลสู่ภายนอก จะปนเปื้อนในดินและน้ำเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต และย่อยสลายได้ยาก

เอ็นเทค สวทช. ร่วมกับพันธมิตรพัฒนานวัตกรรมน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพชนิดติดไฟยากจากน้ำมันปาล์มไทยที่เรียกว่า “EnPAT” ซึ่งมีคุณสมบัติเด่นที่มีจุดติดไฟสูงกว่า 300 องศาเซลเซียส สามารถป้องกันอัคคีภัย เมื่อเกิดเหตการณ์หม้อแปลงไฟฟ้าระเบิด ช่วยสร้างความปลอดภัยสูงสุดให้แก่ประชาชน ต่อเหตุการณ์ไฟไหม้จากหม้อแปลงไฟฟ้า ระเบิดและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่นํ้ามันปาล์มไทยได้มาก เป็นการช่วยยกระดับผลผลิตทางการเกษตรโดยนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้น ภายในประเทศ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ผลักดันอุตสาหกรรมใหม่ที่มีมาตรฐานคุณภาพและมีมูลค่าสูงกว่าอุตสาหกรรมเดิมจากพืชเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ ก่อให้เกิดความยั่งยืนทางด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศไทย

หน่วยงานพันธมิตร:
  1. หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.)
  2. บริษัทพี.เอส.พี.สเปเชียลตี้ส์ จำกัด (มหาชน)
  3. บริษัทโกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน)
  4. การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)
  5. การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.)
  6. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
  7. บริษัทเจริญชัยหม้อแปลงไฟฟ้า จำกัด
  8. สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม
จุดเด่น
  • ผลิตจากปาล์มนํ้ามันไทย ด้วยเทคโนโลยีของคนไทย
  • อุณหภูมิจุดวาบไฟและจุดติดไฟสูงกว่านํ้ามันหม้อแปลงไฟฟ้าทั่วไปถึง 2 เท่า
  • ช่วยป้องกันอัคคีภัยจากเหตุหม้อแปลงไฟฟ้าระเบิด ลดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน เพิ่มความเชื่อมั่น ของประชาชน
  • ย่อยสลายง่าย ไม่เป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม
  • ยืดอายุของกระดาษฉนวนในหม้อแปลงไฟฟ้า ทำให้หม้อแปลงไฟฟ้ามีอายุการใช้งานยาวนานมากขึ้น
  • เมื่อหมดอายุการใช้งาน สามารถนำไปผลิตเป็นไบโอดีเซลโดยไม่ต้องเสียค่าการกำจัด
การนำไปใช้ประโยชน์
  • รองรับวิกฤตน้ำมันปาล์มล้นตลาดที่ประมาณ 33 ล้านลิตรต่อปี
  • ขับเคลื่อนเป้าหมายที่สอดรับกับนโยบายของไทยด้านความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี ค.ศ. 2065
กลุ่มเป้าหมาย
  • อุตสาหกรรมน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้า
  • ผู้ผลิตและจำหน่ายหม้อแปลงไฟฟ้าผู้ใช้งานหลักของหม้อแปลงไฟฟ้าในประเทศ
  • การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.)
สถานะงานวิจัย

ระบบผลิต EnPAT ที่กำลังการผลิต 400 ลิตรต่อครั้ง (Pilot Scale)

นำร่องการใช้งานจริงภายใน พ.ศ. 2567 โดยจะติดตั้งหม้อแปลงไฟฟ้า ที่บรรจุ “EnPAT” ในพื้นที่ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.)

“ได้รับทุนวิจัยสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ร่วมกับ บริษัทพี.เอส.พี.สเปเชียลตี้ส์ จำกัด (มหาชน) กับ บริษัทโกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ”

ติดต่อสอบถาม
ดร.บุญญาวัณย์ อยู่สุข
ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (เอ็นเทค)