ที่มา/แนวคิด ของงานวิจัย

วัคซีนสำหรับสัตว์เศรษฐกิจมีบทบาทสำคัญในการปกป้องสุขภาพของสัตว์ สร้างความมั่นคงด้านอาหาร และปกป้องคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของเกษตรกร การวิจัยและพัฒนาวัคซีนสำหรับปศุสัตว์จึงเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูงสุดสำหรับรับมือการระบาดในปัจจุบันและป้องกันโรคระบาดของสัตว์เศรษฐกิจในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ในฟาร์มสุกรทั่วประเทศตั้งแต่ปี 2564 ถึงปัจจุบัน ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างมหาศาลต่อภาคอุตสาหกรรมสุกรและได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นของวัคซีนที่มีประสิทธิภาพเพื่อควบคุมและป้องกันการแพร่กระจายของโรคนี้ 

รายละเอียด 

ไบโอเทค สวทช. พัฒนาต้นแบบวัคซีนป้องกันโรคระบาดในสุกรโดยเก็บตัวอย่างเชื้อก่อโรคที่สร้างปัญหาในฟาร์มสุกรผ่าน Ratchaburi Sandbox BCG Model ซึ่งเชื้อที่เก็บตัวอย่างได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไวรัส ASFV จะถูกเพาะเลี้ยงในเซลล์ที่พัฒนาขึ้นในห้องปฏิบัติการให้มีปริมาณสูงขึ้น และที่สำคัญถูกปรับให้มีคุณสมบัติอ่อนเชื้อลง เมื่อเชื้อถูกเลี้ยงเป็นเวลาที่เหมาะสมไวรัสจะมีการเปลี่ยนแปลงในระดับที่ไม่ก่อโรครุนแรงในสุกรเหมือนเชื้อเริ่มต้น แต่ยังคงความสามารถในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันเมื่อให้แก่สุกรในรูปของวัคซีนเชื้อเป็น จากการทดสอบในสุกรเบื้องต้นพบว่า วัคซีน ASF ที่พัฒนาขึ้นมีความปลอดภัยสูงในสุกร และสุกรที่ได้รับวัคซีนดังกล่าวมีภูมิคุ้มกันสูงเพียงพอต่อการป้องกันอาการป่วยตายจากการได้รับเชื้อสายพันธุ์รุนแรงตามธรรมชาติ ซึ่งไวรัสวัคซีนต้นแบบดังกล่าวจะถูกขยายขนาดให้สูงขึ้นในระดับอุตสาหกรรมเพื่อต่อยอดใช้จริงในระดับฟาร์มสุกรต่อไป

จุดเด่น
  • วัคซีนพัฒนาขึ้นจากเชื้อไวรัสสายพันธุ์ท้องถิ่นของประเทศไทย มีความใกล้เคียงกับสายพันธุ์ที่ระบาดในประเทศ โดยใช้องค์ความรู้จากผู้วิจัยในประเทศทั้งหมด
  • ไวรัสต้นแบบมีความปลอดภัยสูงในสุกร และมีความสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อเชื้อได้ดีกว่าวัคซีนรูปแบบอื่น ๆ ในปัจจุบัน
  • ผ่านการทดสอบความปลอดภัยและประสิทธิภาพเบื้องต้นร่วมกับกรมปศุสัตว์ในห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐาน
  • มีศักยภาพการขยายขนาดเพื่อต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้
สถานะงานวิจัย

อยู่ระหว่างทดสอบความปลอดภัยและประสิทธิภาพตามมาตรฐานสากล (WOAH) และทดสอบความปลอดภัยในฟาร์มเลี้ยง

การนำไปใช้ประโยชน์

อยู่ระหว่างดำเนินการลงนามความร่วมมือกับกรมปศุสัตว์ และได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาคเอกชน เพื่อต่อยอดการใช้งานในฟาร์มเกษตรกร

กลุ่มเป้าหมาย

หน่วยงานภาคการเกษตรและเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์

แหล่งทุนสนับสนุน

ทั้งภาครัฐ, ภาคเอกชน, ต่างประเทศ

ติดต่อสอบถาม
ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา, คุณอังศุธร ศิริลักษณมานนท์
ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค)