ตามแผนกลยุทธ์ สวทช. ฉบับทบทวนที่ 7.2 (พ.ศ. 2567-2571) มุ่งเน้นการผลักดันเรื่อง BCG Implementation โดยใช้ความเชี่ยวชาญของบุคลากร สวทช. พร้อมเครื่องมือและโครงสร้างพื้นฐานที่มีไปตอบเป้าหมายและตัวชี้วัดของแผนปฏิบัติการ ด้านการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564-2570 โดยในปี 2567 สวทช. มีกลยุทธ์ที่จะขับเคลื่อนแผนงาน BCG Implementation เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์และตอบเป้าหมาย BCG ของประเทศ โดยมีการจัดตั้งโครงการสำคัญ (Battle) เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมาย 4 มิติ ประกอบด้วย การเพิ่มอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ การลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม การสร้างความยั่งยืนของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการพึ่งพาตนเอง Battle ชุดตรวจคัดกรอง ติดตามโรคไตเรื้อรัง และภาวะแทรกซ้อนโรคเบาหวาน เป็นหนึ่งในโครงการสำคัญในกลุ่มการพึ่งพาตนเอง โดยมีเป้าหมายที่จะผลักดันนวัตกรรมชุดตรวจคัดกรองติดตามโรคไตเรื้อรังและภาวะแทรกซ้อนโรคเบาหวาน ที่พัฒนาโดย สวทช. ให้เข้าสู่ชุดสิทธิประโยชน์กองทุนสุขภาพของประเทศ และเกิดการใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ลดการนำเข้าผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์และสุขภาพ และเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ของประชาชน
สงครามโรคไต รับมือได้ถ้า “รู้เร็ว” ป้องกันการเกิดโรค ชะลอความรุนแรง ลดผู้ป่วย ลดค่าใช้จ่าย
ชุดตรวจคัดกรอง ติดตามโรคไตเรื้อรัง และภาวะแทรกซ้อนโรคเบาหวาน
เป็นตัวช่วยลด “ช่องโหว่” ให้ประชาชนที่เดิมไม่สามารถเข้าถึงการตรวจคัดกรองโรคไตได้ตั้งแต่ระยะต้น จากค่าใช้จ่ายในการตรวจที่ค่อนข้างสูง รวมถึงหน่วยงานด้านสาธารณสุขที่ให้บริการตรวจยังมีไม่เพียงพอ เพราะต้องเป็นสถานพยาบาลขนาดใหญ่ที่มีความพร้อมด้านอุปกรณ์ทางการแพทย์ และด้านเทคนิคการแพทย์ดำเนินการตรวจในห้องปฏิบัติการ
‘AL-Strip’ เป็นชุดตรวจโรคไตเชิงคุณภาพที่ประชาชนทั่วไปใช้ตรวจคัดกรองโรคได้ด้วยตัวเอง
ทราบผลการตรวจได้ภายใน 5 นาที เพียงหยดปัสสาวะที่เก็บใหม่ลงบนแถบตรวจ แล้วอ่านผลจากแถบสีที่ปรากฏ (คล้ายกับการใช้ชุดตรวจคัดกรองโรคโควิด-19) ก็จะทราบผลการคัดกรองได้ทันที โดยหากมีปริมาณอัลบูมินซึ่งเป็นโปรตีนที่เป็นสารประกอบหลักของเลือดเจือปนอยู่ในปัสสาวะเกิน 20 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร ชุดตรวจจะขึ้นแถบสี 1 ขีด หมายถึง ‘มีความเสี่ยงเป็นโรคไตสูง’ ผู้ตรวจควรเข้ารับการตรวจโดยละเอียดที่สถานพยาบาลเพื่อให้แพทย์วินิจฉัยความผิดปกติของร่างกาย และเข้ารับการรักษาตามระยะของความผิดปกติ หากผู้ป่วยตรวจพบความผิดปกติตั้งแต่อยู่ในระยะเริ่มต้น ก็จะมีโอกาสหันกลับมาดูแลตัวเองด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคเพื่อชะลอความเสื่อมของไต ซึ่งอาจทำให้ไตกลับมาทำงานเป็นปกติได้
‘GO-Sensor Albumin Test’ ชุดตรวจโรคไตเชิงปริมาณ เพื่อการวิเคราะห์ผลทางการแพทย์
ที่ทีมวิจัยได้พัฒนาใน 2 ส่วนหลัก คือ เครื่องตรวจปริมาณอัลบูมินที่เจือปนอยู่ในปัสสาวะ ที่ใช้เวลาในการประมวลผลเพียง 10-30 นาที ขึ้นอยู่กับความละเอียดของข้อมูลที่ต้องการ หลังประมวลผลจะสามารถดูข้อมูลได้ผ่านทั้งคอมพิวเตอร์และสมาร์ตโฟน เพื่อให้แพทย์นำผลการตรวจไปใช้งานต่อได้สะดวก ส่วนที่สองคือ น้ำยาตรวจที่มีความจำเพาะกับอัลบูมินของมนุษย์ มีความไวในการตรวจมากกว่าชุดตรวจทั่วไปประมาณ 100 เท่า ช่วยลดปริมาณน้ำยาที่ใช้ในการตรวจได้เป็นอย่างดี
‘SugarAL’ ชุดตรวจคัดกรอง-ตรวจติดตามเบาหวานโดยไม่ต้องอดอาหาร
โดยมุ่งเน้นไปที่ตัวบ่งชี้อีกตัวที่มีการวิจัยในต่างประเทศมาแล้วคือ Glycated albumin ที่เป็นน้ำตาลที่จับอยู่บนโปรตีนอัลบูมินนอกเม็ดเลือดแดง ทำให้สามารถตรวจจับได้ทั้งในคนปกติ และผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย และอาหารไม่มีผลต่อการตรวจวัดทำให้ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องอดอาหารและสามารถตรวจได้ทุก 2 สัปดาห์ สามารถตรวจติดตามได้อย่างต่อเนื่อง มีความไวและมีความจำเพาะสูงกว่าการใช้แอนติบอดีซึ่งเป็นหลักการของชุดตรวจทั่วไป ใช้งานง่าย สามารถอ่านผลได้ภายใน 30 นาที โดยเซนเซอร์ที่พัฒนาขึ้นนั้น มีส่วนของน้ำยาที่นำเลือดไปผสมกับน้ำยา ใส่ไปในเครื่องอ่านแบบพกพา และออกแบบให้ส่งข้อมูลที่ตรวจวัดไปได้ไปยังแอปพลิเคชันเก็บข้อมูลระยะยาว
วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม จะเป็นอาวุธที่ช่วยให้เรารับมือ และชนะในสงครามโรคไต
“ด้วยความร่วมมือจากพันธมิตร เพื่อช่วยเหลือประชาชน ลดภาระและเพิ่มการเข้าถึงการรักษาของผู้ป่วยโรคไต และสนับสนุนระบบสาธารณสุขและการแพทย์ของประเทศต่อไป”