ตามแผนกลยุทธ์ สวทช. ฉบับทบทวนที่ 7.2 (พ.ศ. 2567-2571) มุ่งเน้นการผลักดันเรื่อง BCG implementation โดยใช้ความเชี่ยวชาญของบุคลากร สวทช. พร้อมเครื่องมือและโครงสร้างพื้นฐานที่มีไปตอบเป้าหมายและตัวชี้วัดของแผนปฏิบัติการ ด้านการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564-2570 โดยในปี 2567 สวทช. มีกลยุทธ์ขับเคลื่อนแผนงาน BCG Implementation เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์และตอบเป้าหมาย BCG ของประเทศตามเป้าหมาย 4 มิติ ประกอบด้วย การเพิ่มอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ การลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม การสร้างความยั่งยืนของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการพึ่งพาตนเอง 

ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) ซึ่งเป็นศูนย์แห่งชาติภายใต้ สวทช. ใช้ความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีนาโนพัฒนาชุดตรวจสำหรับการใช้งานในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ, สิ่งแวดล้อม และสมุนไพร เพื่อตอบกลยุทธ์ BCG เพื่อความยั่งยืน โดยชุดตรวจ หรือเทคโนโลยีการตรวจวัดต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับใช้เฉพาะด้าน เฉพาะพื้นที่ ล้วนเป็นต้นทุนที่ต้องใช้อย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ ในขณะเดียวกัน ชุดตรวจบางชนิดก็จำเป็นต้องนำเข้าจากต่างประเทศในราคาสูง การพัฒนาองค์ความรู้ เพื่อสร้างนวัตกรรมสำหรับใช้ในประเทศด้วยประสิทธิภาพและมาตรฐานที่เทียบเท่ากับวิธีมาตรฐานและได้รับการยอมรับในระดับสากล จึงเป็นการสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนให้กับประเทศ

ด้านการแพทย์ แบ่งออกเป็น 2 แพลตฟอร์มชุดตรวจ คือ

  • แพลตฟอร์มชุดตรวจคัดกรองโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ (โควิด-19/Flu A-Flu B) ซึ่งเป็นชุดตรวจอย่างง่ายจากตัวอย่างหลังโพรงจมูก โดยอาศัยนาโนเทคโนโลยีในการเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจวัดและอ่านผล

  • แพลตฟอร์มชุดตรวจทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ ในการตรวจคัดกรองกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) คือ โรคเบาหวานและโรคไต โดยชุดตรวจคัดกรองโรคเบาหวานเป็นการตรวจตัวบ่งชี้ตัวใหม่ในกระแสเลือดที่ไม่จำเป็นต้องอดอาหารก่อนการตรวจวัด โดยอาศัยนาโนเทคโนโลยีร่วมกับโมเลกุลตรวจจับที่จำเพาะเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการวิเคราะห์ผล, ส่วนชุดตรวจอัลบูมินในปัสสาวะ เพื่อคัดกรองและวินิจฉัยภาวะไตเรื้อรังนั้น มีทั้งแบบเชิงคุณภาพอย่างง่ายอ่านผลด้วยตาเปล่า และแบบวิเคราะห์ผลเชิงปริมาณ ซึ่งอาศัยนาโนเทคโนโลยีในการเพิ่มประสิทธิภาพเช่นเดียวกัน 
ด้านสิ่งแวดล้อม/สมุนไพร

เซ็นเซอร์ตรวจวัดโลหะ/โลหะหนักในน้ำ และพืชสมุนไพร เป็นเครื่องมือสำหรับวิเคราะห์สารปนเปื้อนเคมีในน้ำ มุ่งเน้นการใช้งานภาคสนามโดยการตรวจวัดโลหะ/โลหะหนัก และสารเคมีอื่น ๆ เช่น แมงกานีส ทองแดง เหล็ก ตะกั่ว แคดเมียม ปรอท สารหนู ฟลูออไรด์ เป็นต้น บอกผลการวิเคราะห์ได้ทั้งเชิงคุณภาพด้วยการเปรียบเทียบแถบสี และบอกผลเชิงปริมาณโดยใช้ร่วมกับเครื่องอ่านสีแบบพกพา DuoEye Reader สามารถส่งข้อมูลผ่านระบบ clouds ทำงานได้ทั้ง online และ off-line แสดง/ประมวลผลข้อมูลแบบ Dashboard ใช้งานง่าย มีความถูกต้องแม่นยำสอดคล้องกับวิธีมาตรฐานในห้องปฏิบัติการ ราคาถูกเมื่อเปรียบเทียบกับชุดตรวจที่นำเข้าจากต่างประเทศ สามารถประยุกต์ใช้ได้หลากหลาย  รวมถึงการตรวจหาโลหะหนักในพืชสมุนไพร เป็นต้น

ติดต่อสอบถาม
กลุ่มวิจัยวัสดุตอบสนองและเซ็นเซอร์ระดับนาโน ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (NANOTEC)