โครงการ “แผนที่นำทางเทคโนโลยีดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน เพื่อนำทางประเทศไทยไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (CCUS TRM)” เป้าหมายความร่วมมือระหว่างนาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (ศน.)และเครือข่ายพันธมิตร อันได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และหน่วยงานกำกับขับเคลื่อนนโยบาย หน่วยงานภาครัฐ รวมถึงภาคเอกชนผู้ใช้เทคโนโลยีการลดก๊าซเรือนกระจก และแก๊ส CO2 อาทิ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, สถาบันวิทยสิริเมธี, กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (ชธ.) สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.), องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน), สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.), บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน), บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
โดยโครงการดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์สถานภาพการพัฒนาเทคโนโลยี CCUS แนวโน้มเทคโนโลยี และความต้องการของภาคอุตสาหกรรม, จัดลำดับความสำคัญ key technology ของ CCUS แนวทางวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี CCUS และกรอบช่วงเวลาในการใช้เทคโนโลยี CCUS รวมถึงจัดทำแผนที่นำทางการวิจัยและพัฒนาความเป็นไปได้ในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี CCUS ให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย พร้อมทั้งกลไกการทบทวนสถานภาพของแผนที่นำทางให้เหมาะสมภายใต้การเปลี่ยนแปลงของประเทศตามกรอบเวลา และให้เกิดประสิทธิผลจากการใช้แผนที่นำทางร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรในการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยี CCUS และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของนักวิจัย ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ผู้มีบทบาทสำคัญทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน
โดยคาดว่า จะสามารถจัดทำรายงานสถานภาพปัจจุบันของประเทศไทยที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี การดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (CCUS) รวมถึงเครือข่ายนักวิจัยทางด้าน CCS & CCU และแผนที่นำทางเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (CCUS TRM) ที่เชื่อมโยงเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ที่มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนกับเทคโนโลยี CCUS รวมถึงกลไกการขับเคลื่อนตามแผนที่นำทางฯ ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายฯ และโครงการนำร่องที่สำคัญต่อไป