งานจัดการการลงทุน (NSTDA Investment Section : NIS) เดิมชื่อศูนย์ลงทุน (NSTDA Investment Center: NIC) เป็นหน่วยงานภายใต้ สายงานบริหารการวิจัยและพัฒนา สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ทำหน้าที่ด้านการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อให้เกิดผลต่อเศรษฐกิจและสังคมไทย โดยนำเทคโนโลยีของคนไทย และ/หรือ ของ สวทช. ไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ผ่านการร่วมลงทุนในบริษัทเกิดใหม่ หรือแปรรูปโครงการใน สวทช. เป็นบริษัท รวมทั้งพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยี แสวงหาโอกาสทางเทคโนโลยีที่น่าลงทุน และจัดการการลงทุนของ สวทช. ด้วยความโปร่งใส

 สวทช. เล็งเห็นถึงประโยชน์ของการร่วมลงทุนเพื่อใช้เป็นกลไกสนับสนุนภาคเอกชนของไทยในการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้เจริญก้าวหน้า ตลอดจนพัฒนาเศรษฐกิจไทยให้ก้าวทันโลก จึงได้จัดตั้งงานจัดการการลงทุนขึ้นมาในปี 2541  เพื่อดำเนินการร่วมทุนในกิจการที่มีศักยภาพทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ครอบคลุมในหลากหลายธุรกิจเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็น Advanced Material, Agriculture, Biotechnology,       E-Training, ICT, Internet, Machine and Engineering และ Medical Device เป็นต้น

ภาพรวมโดยย่อเกี่ยวกับงานจัดการการลงทุน สวทช. มีดังนี้

ณ ธันวาคม 2566 สวทช. จัดตั้งบริษัทร่วมทุนทั้งสิ้น 22 บริษัท เงินลงทุนรวม (เฉพาะส่วน สวทช.) ประมาณ  675.23 ล้านบาท

  • ผลักดันบริษัทร่วมทุนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจำนวน 1 บริษัท
    1. บริษัท อินเทอร์เน็ตประเทศไทย จำกัด (มหาชน)
  •  ปัจจุบันมีบริษัทร่วมทุน 9 บริษัท เงินลงทุนรวม 569.10  ล้านบาท สามารถสร้างผลกระทบด้านรายได้ของบริษัทร่วมทุนในปี 2566 รวมไม่น้อยกว่า 2,000 ล้านบาท ประกอบด้วย
    1. บริษัท อินเทอร์เน็ตประเทศไทย จำกัด (มหาชน) (INET)
    2. บริษัท ไมโครอินโนเวต จำกัด (MICRO)
    3. บริษัท สกุลฎ์ซี อินโนเวชั่น จำกัด (SAKUN C)
    4. บริษัท เจเนพูติก ไบโอ จำกัด (GNPT)
    5. บริษัท บิ๊กโก อนาไลติกส์ จำกัด (BIGGO)
    6. บริษัท ไบโอเบส เอเชีย ไพล็อต แพลนท์ จำกัด (BBAPP)
    7. บริษัท นาสท์ด้า โฮลดิ้ง จำกัด (NHC)
    8. บริษัท ดาร์วินเทค โซลูชันส์ (ประเทศไทย) จำกัด (DWT)
    9. กองทรัสต์เพื่อกิจการเิงินร่วมลงทุนสำหรับธุรกิจเอสเอ็มอีก้าวไกลไปด้วยกัน 1 (PE Trust)

 วิสัยทัศน์

ผู้ผลักดันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสู่ภาคเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยโดยใช้กลไกการลงทุนที่ได้ผล

พันธกิจ

  1. เชื่อมวงการลงทุนเข้ากับวงการวิทยาศาสตร์เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจและสังคมของไทย
  2. พัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยี
  3. แสวงหาโอกาสทางเทคโนโลยีที่ควรมีการพัฒนาและลงทุน
  4. จัดการการลงทุนของ สวทช. ในบรรดาธุรกิจเทคโนโลยีด้วยความโปร่งใสและเป็นระบบ กำกับดูแล/ติดตามโครงการลงทุนด้วยธรรมาภิบาล

เป้าหมาย

  1. สร้างกลไกติดตามผลกระทบทางเศรษฐกิจของประเทศที่เกิดจากกิจกรรมและผลงานของ สวทช. ในภาพรวม
  2. ผลักดันให้การลงทุนในธุรกิจด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของ สวทช. มีผลกระทบทางเศรษฐกิจของประเทศ
  3. สร้างและพัฒนาความเป็นผู้ประกอบการธุรกิจทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Technopreneurship) ให้แก่นักวิจัยและพนักงานกลุ่มเป้าหมาย ให้มีผู้ที่ตั้งใจจริงในการก่อตั้งธุรกิจเทคโนโลยี
  4. สนับสนุนการลงทุนและพัฒนาให้เกิดบริษัทร่วมทุนในธุรกิจทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จากการแปรรูปโครงการของ สวทช. และการร่วมทุนกับภาคเอกชน
  5. บริหารจัดการและติดตามการลงทุนของ สวทช. ให้ได้ผลตอบแทนจากการลงทุนในอัตราที่เหมาะสม
  6. สร้างเครือข่ายพันธมิตรทางการลงทุน รวมทั้งสนับสนุนให้เกิดการจัดตั้งกองทุนร่วมทุน (Venture Capital Fund) หรือเครื่องมือใหม่ๆ ที่จะมีขึ้น ในประเทศไทย เพื่อขยายการลงทุนในธุรกิจทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ
  7. พัฒนาองค์ความรู้ที่จำเป็นต่อการลงทุน

นโยบายการลงทุน

นโยบายของ สวทช. ว่าด้วยการลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยี
สวทช. จะลงทุนในธุรกิจที่มีผลประโยชน์แก่การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ และมีผลประโยชน์เชิงเศรษฐกิจและสังคมที่ชัดเจน ได้แก่ ธุรกิจที่บุกเบิกทางด้านเทคโนโลยี ซึ่งอาจจะใช้เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมจาก สวทช. หรือเอกชน หรือรับถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ธุรกิจวิจัยและพัฒนา โดยจะเน้นการลงทุนในธุรกิจที่ตั้งใหม่ (start-up) ที่มีศักยภาพในช่วงเริ่มต้นของการดำเนินงานเชิงพาณิชย์ (Early commercialized stage) สวทช. จะไม่ลงทุนในธุรกิจที่ต้องการสนับสนุนทางด้านการเงินเพียงอย่างเดียว แต่จะพิจารณาบทบาทของ สวทช. ในการพัฒนาและสนับสนุนด้านเทคโนโลยีเป็นสำคัญ

นโยบายการแปรรูป (Spin-off) ผลงานเป็นธุรกิจสตาร์ทอัพ (NSTDA Startup)
สวทช. ได้พัฒนากลไกการ spin-off เพื่อเข้าโครงการ "NSTDA Startup" ขึ้นเพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกิดการต่อยอดงานวิจัยไปสู่การสร้างธุรกิจ ผ่านการลงทุนใน NSTDA Startup ที่มีบุคลากร สวทช.ไปเป็นผู้ดำเนินการร่วมกับ พันธมิตรร่วมทุน (Strategic Partner) จากภาคเอกชน โดยอาจมี สวทช. ไปร่วมทุนด้วยก็ได้ เพื่อทำหน้าที่ช่วยผลักดันธุรกิจเทคโนโลยีนั้นให้ประสบผลสำเร็จ