ระบุตัวเสือโคร่งในกรงเลี้ยงด้วยรหัสพันธุกรรม

ย่างเข้าสู่ปีขาล ยิ่งต้องขานรับการอนุรักษ์ เสือ เมื่อนับวันสัตว์ป่านักล่าต่างตกเป็นเหยื่อของการลักลอบค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมาย และมีจำนวนลดน้อยลงทุกที กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ใช้เทคนิคการค้นหาเครื่องหมายโมเลกุลที่บ่งบอก “รหัสพันธุกรรมเพื่อระบุตัวเสือโคร่ง (DNA fingerprint) เพื่อจัดทำฐานข้อมูลรหัสพันธุกรรมเสือโคร่งในกรงเลี้ยงกว่า 2,400 ตัวทั่วประเทศ ป้องกันการสวมทะเบียนเสือโคร่งในป่าธรรมชาติ ลดปัญหาอาชญากรรมเสือโคร่งในประเทศไทย

ดร.กณิตา อุ่ยถาวร กลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า ปัจจุบันประชากรเสือโคร่งในป่าธรรมชาติของประเทศไทยมีอยู่ประมาณ 200-250 ตัว เท่านั้น ส่วนใหญ่อยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง และพื้นที่ป่าอนุรักษ์ขนาดใหญ่บางแห่ง ซึ่งกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้นำระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพมาใช้ภายในพื้นที่อย่างเข้มข้น เพื่อติดตามสร้างระบบฐานข้อมูลอย่างต่อเนื่อง ส่วนในพื้นที่สวนสัตว์สาธารณะพบว่ามีเสือโคร่งที่ได้รับอนุญาตให้ครอบครองได้อย่างถูกกฎหมายมากถึง 1,200 ตัว แต่ยังไม่มีระบบฐานข้อมูลที่ได้มาตรฐานรองรับสำหรับติดตามและให้ความคุ้มครองเท่าที่ควร ทำให้เมื่อพบการลักลอบค้าสัตว์ป่าอย่างผิดกฎหมาย บ่อยครั้งไม่สามารถจำแนกแหล่งที่มาได้ชัดเจนว่ามาจากประเทศใดหรือแหล่งใด

เสือโคร่ง

“ที่ผ่านมา กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จัดทำฐานข้อมูลเสือโคร่งในกรงเลี้ยงโดยการใช้ภาพถ่ายเพื่อเปรียบเทียบลายเสือโคร่งซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยใช้โปรแกรม Extract Compare ช่วยในการวิเคราะห์จำแนกเสือรายตัวได้อย่างถูกต้อง หากแต่ว่าวิธีนี้ยังมีข้อจำกัด เช่น ไม่สามารถติดตามลูกเสือโคร่งแรกเกิดได้ ดังนั้นการจัดทำฐานข้อมูลพันธุกรรมร่วมด้วย จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้การจัดทำฐานข้อมูลของเสือโคร่งในกรงเลี้ยงมีความรัดกุมหนักแน่นมากขึ้น ซึ่งเป็นที่มาความร่วมมือกับศูนย์โอมิกส์แห่งชาติ สวทช. ในการจัดทำโครงการการใช้เทคโนโลยีดีเอ็นเอเพื่อตรวจพิสูจน์พันธุกรรมของเสือโคร่งในเชิงนิติวิทยาศาสตร์”

ดร.วิรัลดา ภูตะคาม นักวิจัยศูนย์โอมิกส์แห่งชาติ สวทช.

ดร.วิรัลดา ภูตะคาม นักวิจัยศูนย์โอมิกส์แห่งชาติ สวทช. กล่าวถึงการดำเนินงานในการตรวจพันธุกรรมเพื่อระบุตัวเสือโคร่งว่า ทางกลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า เป็นผู้เก็บตัวอย่างเลือดของเสือโคร่งในกรงเลี้ยงกว่า 2,400 ตัวทั่วประเทศ และสกัดดีเอ็นส่งมาให้ทางศูนย์โอมิกส์แห่งชาติ สำหรับใช้จำแนกเสือ รวมทั้งยังทำการศึกษาเปรียบเทียบฐานข้อมูลรหัสพันธุกรรมของเสือโคร่ง ซึ่งปัจจุบันมีสายพันธุ์ย่อยทั้งหมด 6 สายพันธุ์ ได้แก่ เสือโคร่งไซบีเรีย เสือโคร่งเบงกอล เสือโคร่งอินโดไชนิส เสือโคร่งสุมาตรา เสือโคร่งจีนใต้ และเสือโคร่งมลายู เพื่อเลือกเครื่องหมายโมเลกุล (molecular marker) ที่สามารถแยกความเป็นเอกลักษณ์ระหว่างเสือโคร่งแต่ละสายพันธุ์ได้

“ทีมวิจัยนำเครื่องหมายโมเลกุลที่ถูกคัดเลือกมาออกแบบสังเคราะห์ตัวตรวจจับ (probe) ซึ่งมีลักษณะเป็นดีเอ็นเอสายสั้นๆ ที่มีความจำเพาะต่อโมเลกุลเป้าหมาย จากนั้นนำไปใช้ในการตรวจหาเครื่องหมายโมเลกุลจากตัวอย่างเลือดของเสือโคร่งในกรงเลี้ยงแต่ละตัว ด้วยเครื่อง SNP Genotyping MassArray เทคโนโลยีที่ใช้ตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างสารพันธุกรรมด้วยเทคนิคการวัดน้ำหนักมวล เนื่องจากในสายพันธุกรรมจะประกอบด้วยลำดับเบส 4 ตัว คือ Adenine, Cytosine, Guanine และ Thymine (A, C, G และ T) ซึ่งแต่ละตัวมีน้ำหนักมวลโมเลกุลไม่เท่ากัน จึงทำให้วิเคราะห์โมเลกุลของดีเอ็นเอที่ตรวจจับได้อย่างละเอียดและรวดเร็ว สามารถค้นพบลำดับเบสในดีเอ็นเอ หรือ “รหัสพันธุกรรมเพื่อใช้ระบุตัวเสือโคร่ง (DNA fingerprint)” ได้อย่างจำเพาะเจาะจง ไม่ต่างจากการตรวจลายนิ้วมือเพื่อพิสูจน์ตัวบุคคล”

ความร่วมมือในการใช้เทคโนโลยีค้นหาเครื่องหมายโมเลกุลเพื่อระบุตัวเสือโคร่งในกรงเลี้ยงครั้งนี้ นับเป็นการบูรณาการการทำงานครั้งสำคัญที่จะช่วยให้ประเทศไทยมีฐานข้อมูลพันธุกรรม เพื่อจัดทำระบบทะเบียนประชากรของเสือโคร่งในกรงเลี้ยงได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการตรวจสอบเสือโคร่งของกลางในคดีต่างๆ ซึ่งจะช่วยป้องกันการสวมทะเบียนจากเสือโคร่งในป่าธรรมชาติ และลดปัญหาการลักลอบค้าเสือโคร่งลงได้ในอนาคต ที่สำคัญยังตอบโจทย์โมเดลเศรษฐกิจบีซีจี (BCG Economy Model) ที่เป็นวาระของชาติ โดยตั้งเป้ามุ่งพัฒนาองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อคุ้มครอง ป้องกัน ทรัพยากรสัตว์ป่าของประเทศไทยให้คงอยู่อย่างสมบูรณ์และยั่งยืน

Share:

Facebook
Twitter