กระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะ (Public Policy Process)

     นโยบายสาธารณะเป็นนโยบายที่ส่งผลกระทบต่อสังคมโดยรวมหรือหมู่คนจำนวนมาก ในการพัฒนาสาธารณะจำเป็นต้องมีมุมมองจากหลายมิติ ใช้องค์ความรู้ที่หลากหลาย และต้องการความร่วมมือจากหลายฝ่าย เพื่อการออกแบบและขับเคลื่อนนโยบายไปสู่ผลสัมฤทธิ์ โดยมีกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะเป็น 5 ขั้นตอน ดังนี้

     1) การระบุประเด็นปัญหา (Problem Identification) การทำความเข้าใจว่าปัญหาหรือประเด็นที่ต้องการแก้ไขคืออะไร เป็นปัญหาของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นพิเศษหรือเป็นปัญหาที่กระทบในวงกว้าง ภาครัฐสามารถที่บทบาทได้ใจจุดใด สามารถระบุที่มาของปัญหา วิธีการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหา และผลที่คาดหวังจากการแก้ปัญหาได้ และที่สำคัญคือสามารถระบุได้ว่านโยบายที่พัฒนาขึ้นต้องไปให้ใครหรือหน่วยงานใดเป็นผู้ผลักดัน

     2) การกำหนดนโยบาย (Policy Formulation) ขั้นตอนต่าง ๆ ที่ใช้เพื่อกำหนดทางเลือกของนโยบาย เช่น การศึกษาเปรียบเทียบจากต่างประเทศ การสำรวจความเห็น การจัดเก็บข้อมูล หรือวิธีการอื่น พร้อมทั้งมีข้อมูลเปรียบเทียบข้อดีข้อด้อยของแต่ละทางเลือก

     3) การตัดสินใจนโยบาย (Policy Adoption) การนำสู่กระบวนการตัดสินใจโดยผู้มีอำนาจ เป็นการนำข้อมูลจากการเปรียบเทียบทางเลือกที่วิเคราะห์และผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการใช้นโยบายเสนอต่อผู้มีอำนาจดำเนินการตัดสินใจ ซึ่งในขั้นตอนนี้ต้องชัดเจนว่าใครเป็นผู้ตัดสินใจนโยบาย

     4) การนำนโยบายสู่การปฏิบัติ (Policy Implementation) การนำนโยบายที่ได้รับอนุมัติไปสู่การปฏิบัติโดยหน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการให้บรรลุผลตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยต้องคำนึงวิธีการนำนโยบายไปใช้ในสถานการณ์จริง การดำเนินการของนโยบายที่ทันต่อสถานการณ์ การสื่อสารให้สาธารณะรับรู้ถึงนโยบาย รวมถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อผู้ที่ไม่อยู่ในเป้าหมายของนโยบายเป็นอย่างไร

5) การประเมินผลนโยบาย (Policy Evaluation) การประเมินว่าการดำเนินนโยบายสามารถบรรลุเป้าหมาย มีประสิทธิผล หรือส่งผลกระทบอย่างไร รวมถึงปัญหาและต้นทุนที่เกิดขึ้นมากกว่าที่คาดหมายไว้ ตลอดจนการดำเนินการหลังจากการประเมินผล เช่น ยกเลิกนโยบาย หรือปรับปรุงนโยบาย

     ขั้นตอนการพัฒนานโยบายสาธารณะที่กล่าวถึงนี้เป็นเพียงแนวทางการออกแบบนโยบายเบื้องต้น ยังมีรายละเอียดของรูปแบบการดำเนินงานที่ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย การเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้องและครอบคลุม และเครื่องมือที่จะนำมาใช้เพื่อคัดกรองและประมวลผลข้อมูลออกมาเป็นนโยบายที่เหมาะสมต่อไป

ที่มา:

1/ ญาดา มุกดาพิทักษ์. (2567). Theory of Public Policy Process. เอกสารประกอบการอบรมหลักสูตร STIPI06 ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567.

2/ มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา (ม.ป.พ.) วงจรนโยบายสาธารณะ (Public Policy Cycle). เข้าถึงเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567. เว็บไซต์: https://elcpg.ssru.ac.th/khanthong_ja/pluginfile.php/51/ block_html/content/The%20public%20policy%20process%208-%202564.pdf