สวทช. กับการสนับสนุนให้ผู้พิการและผู้สูงอายุ เข้าถึงสารสนเทศและการสื่อสาร

        ในยุคของการสื่อสารไร้พรมแดน ทำให้ทุกคนสามารถติดต่อและรับรู้ข่าวสารต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วจากทั่วทุกมุมโลก อย่างไรก็ตาม ยังมีบุคคลบางกลุ่ม เช่น ผู้พิการและผู้สูงอายุที่ถูกจำกัดการเข้าถึงเทคโนโลยีและการสื่อสาร โดยมีสาเหตุทั้งจากข้อจำกัดด้านร่างกาย การศึกษา หรือแม้แต่ทุนทรัพย์ โดยกลุ่มผู้สูงอายุส่วนใหญ่มักพบปัญหาในเรื่องของการไม่รู้วิธีการใช้งานอุปกรณ์ต่างๆ การไม่เข้าใจเมนูคำสั่งที่เป็นภาษาอังกฤษ และความกลัวในการเข้าใช้งาน ในขณะที่ในกลุ่มผู้พิการ มักพบปัญหาการเข้าใช้งานแพลตฟอร์มดิจิทัล ที่ไม่รองรับการใช้งานสำหรับผู้พิการ เป็นต้น

        ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนคนพิการ 2.2 ล้านคน และผู้สูงอายุ 12.6 ล้านคน โดยในจำนวนนี้พบว่า มีผู้สูงอายุกว่าร้อยละ 42.3 ที่ยังไม่มีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร จากปัญหาดังกล่าว สวทช. จึงได้จัดทำระบบสนับสนุนการเข้าถึงสารสนเทศและการสื่อสารสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ (Accessible Information And Communication Platform หรือ AI-C) ขึ้น โดยมีเป้าหมายช่วยลดอุปสรรคในการเข้าถึงโลกดิจิทัลของกลุ่มคนพิการและผู้สูงอายุ ใน 3 เรื่อง ได้แก่

        1) ระบบถ่ายทอดการสื่อสาร: มีการพัฒนาฟังก์ชั่นเพื่อให้เหมาะกับคนหูหนวก และโครงสร้างพื้นฐานไทย โดยใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาทำงานร่วมกับล่าม สำหรับกลุ่มเป้าหมายของระบบถ่ายทอดการสื่อสารนี้ เช่น คนหูหนวก คนพิการทางการพูด และประชาชนทั่วไป

        2) ระบบตรวจการเข้าถึง และระบบสร้างสื่ออ่านง่าย: โดยระบบตรวจการเข้าถึงนั้นจะมีฟังก์ชั่นการตรวจโดยใช้ AI ภาษาไทย และออกใบรับรองตามมาตรฐานไทย ซึ่งกลุ่มเป้าหมายของระบบดังกล่าว เช่น หน่วยงานภาครัฐ บริษัทเอกชน และสมาคมคนพิการ (ตาบอด/หูหนวก) ส่วนระบบสร้างสื่ออ่านง่ายนั้น สวทช. ได้พัฒนาให้ระบบดังกล่าวสามารถอ่านภาษาไทยได้ เพื่อแก้ไขปัญหาการไม่รองรับภาษาไทยของระบบดังกล่าวที่มีในปัจจุบัน โดยกลุ่มเป้าหมายของระบบสร้างสื่ออ่านง่าย ได้แก่ ครู และผู้ปกครองของผู้บกพร่องทางการรับรู้

        3) ระบบคำบรรยายแทนเสียงแบบสด: มีการนำ AI และเทคนิคหลายประเภทเข้ามาใช้ในการพัฒนา โดยกลุ่มเป้าหมายที่คาดว่าจะเข้ามาใช้งานระบบดังกล่าวนั้นคือ คนหูหนวก ผู้สูงอายุ และคนหูดี

        และตามเป้าหมายในแผนปฏิบัติการระยะ 5 ปี (พ.ศ.2567-2571) ของ AI-C นี้ คาดว่าจะมีผู้ได้รับ/ผู้ใช้ประโยชน์ รวม 3.15 ล้านคน ได้แก่ คนพิการทางการได้ยิน คนพิการทางการเห็น คนพิการทางสติปัญญาและการเรียนรู้ คนไร้กล่องเสียง และผู้สูงอายุ เป็นต้น และถ่ายทอดเทคโนโลยีให้หน่วยงาน 5 หน่วยงาน เพื่อให้มีช่องทางที่ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลตามศักยภาพของความสามารถได้ต่อไป

        นอกจากแพลตฟอร์มดังกล่าวแล้ว สวทช. ยังได้มีการพัฒนาแอปพลิเคชัน และระบบต่างๆ เพื่อสนับสนุนการดำเนินชีวิตอย่างยั่งยืนของคนพิการและผู้สูงอายุอีกหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นระบบบริหารศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ (นิรันดร์) ระบบการจัดมื้ออาหารและโภชนาการสำหรับผู้สูงอายุ (ElderMeal) ดิจิทัลแอปพลิเคชันสำหรับนักเรียนที่บกพร่องทางการเรียนรู้ (Digital Application for Students with Learning Disabilities) และบัญชีเทคโนโลยีสิ่งอํานวยความสะดวกสำหรับคนพิการแห่งชาติ (The National Assistive Technology Database service for Thai Persons with Disability) เป็นต้น

ทั้งนี้ การพัฒนาแพลตฟอร์มต่างๆ ของ สวทช. นั้นก็เพื่อสร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย รวมถึงการสร้างเครือข่ายและขยายผลการใช้งานสู่คนพิการและผู้สูงอายุ

ที่มา:

1/ สำนักงานสถิติแห่งชาติ. การสำรวจการมีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารในครัวเรือน พ.ศ. 2566 (ไตรมาส 2). วันที่ค้นข้อมูล 21 พฤษภาคม 2567, จาก สำนักงานสถิติแห่งชาติ เว็บไซด์ https://www.nso.go.th/nsoweb/storage/survey_detail/2023/20230921143040_24012.pdf

2/ สำนักงานสถิติแห่งชาติ. ช่องว่างทางดิจิทัลเมื่อไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย. วันที่ค้นข้อมูล 19 มิถุนายน 2567, จาก สำนักงานสถิติแห่งชาติ เว็บไซด์ https://www.nso.go.th/nsoweb/storage/file_or_link/2024/20240606152345_42315.pdf

3/ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ. แพลตฟอร์มสนับสนุนการเข้าถึงสารสนเทศและการสื่อสารของคนพิการและผู้สูงอายุ. วันที่ค้นข้อมูล 21 พฤษภาคม 2567, จาก https://www.nstda.or.th/home/knowledge_post/page/3/