บทความ/ข่าว/ข้อมูลที่น่าสนใจ

เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องและแนวโน้มในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ

          อุตสาหกรรมการผลิตอิเล็กทรอนิกส์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม จากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ส่งผลให้อุตสาหกรรมการผลิตอิเล็กทรอนิกส์ต้องมีการปรับตัวเพื่อรองรับแนวโน้มทางเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงไป โดยอุตสาหกรรมการผลิตอิเล็กทรอนิกส์ในอนาคตจะมุ่งไปสู่อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ คือ การนำอุปกรณ์และเครื่องใช้ต่างๆ มาทำการติดตั้งระบบสมองกลฝังตัว (Embedded System) ทำให้อุปกรณ์และเครื่องใช้ดังกล่าวมีคุณสมบัติใหม่ อีกทั้งยังช่วยให้อุปกรณ์และเครื่องใช้สามารถสื่อสารระหว่างกันได้อย่างอิสระ โดยผ่าน Internet of Things (IoT) ปัจจุบันอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะได้มีการนำมาใช้ในหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น ระบบจราจรอัจฉริยะ ระบบอิเล็กทรอนิกส์ทางการแพทย์อัจฉริยะ และระบบควบคุมพลังงานในอาคารแบบฉลาด เป็นต้น[1] สำหรับเทคโนโลยีที่คาดว่าจะเข้ามามีอิทธิพลต่ออุตสาหกรรมการผลิตอิเล็กทรอนิกส์ในอนาคตนั้น ได้แก่[2]

  • Internet of Things (IoT): มีแนวโน้มจะถูกนำมาใช้กับอุปกรณ์ต่างๆ ในชีวิตประจำวัน เพื่อให้อุปกรณ์เหล่านั้นสามารถรับ-ส่งข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ต อีกทั้งยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของอุปกรณ์ และช่วยให้ผู้ใช้ใช้อุปกรณ์ได้อย่างปลอดภัยมากขึ้น
  • เทคโนโลยีโลกเสมือน (Augmented Reality: AR)/ Virtual Reality: VR): เทคโนโลยีนี้จะช่วยให้ผู้ออกแบบและผลิตอุปกรณ์ต่างๆ ได้ตรงกับความต้องการของผู้ใช้มากขึ้น อีกทั้งยังช่วยป้องกันความผิดพลาด และลดเวลาในการตรวจสอบอุปกรณ์ลงอีกด้วย
  • เทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติ (3-D Printing): เป็นแนวโน้มเทคโนโลยีที่จะเข้ามาช่วยออกแบบทางด้านกายภาพ ซึ่งในอนาคตคาดว่าเทคโนโลยีนี้จะถูกนำมาใช้ในการออกแบบแอปพลิเคชัน เพื่อให้ผู้ใช้มีความพึงพอใจมากขึ้น
  • Big Data: จะเข้ามาช่วยผู้ผลิตในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ให้สามารถเข้าใจรูปแบบธุรกิจ และปัญหาต่างๆ ในกระบวนการผลิตมากขึ้น ซึ่งบิ๊กดาต้าจะถูกนำมาประยุกต์ใช้ในรูปแบบต่างๆ เพื่อลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาด
  • หุ่นยนต์อุตสาหกรรม (Industrial Robotics): นอกจากนำมาใช้ในกระบวนการผลิตแล้ว หุ่นยนต์อุตสาหกรรมยังจะถูกนำมาใช้เพื่อซ่อมแซมและแก้ไขปัญหาชิ้นส่วนหรืออุปกรณ์ที่มีขนาดเล็ก ซึ่งในอนาคตหุ่นยนต์อุตสาหกรรมจะถูกนำมาใช้เพื่อออกแบบ และดำเนินธุรกิจในรูปแบบต่างๆ ด้วย

          จากแนวโน้มเทคโนโลยีที่จะเข้ามามีอิทธิพลในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าว ร่วมกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (Covid-19) ที่นับได้ว่าเป็นปัจจัยกระตุ้นที่สำคัญที่ส่งผลให้เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทกับการใช้ชีวิตประจำวันของบุคคลรวดเร็วมากขึ้น จึงมีการคาดหมายว่าระบบและอุปกรณ์ทางด้านอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะที่จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นจากผลกระทบดังกล่าว ได้แก่[3]

  • ระบบและอุปกรณ์ทางด้านสุขภาพ ประกอบด้วย
    • เทคโนโลยีทางการแพทย์เพื่อรับมือกับโรคโควิด-19 คาดหมายว่า จะมีการพัฒนาหรืออัพเกรดอุปกรณ์สำหรับสวมใส่เพื่อใช้ตรวจสอบ/ดูแลสุขภาพมากขึ้น เช่น นาฬิกาอัจฉริยะ ที่มีฟังก์ชั่นสำหรับตรวจสอบความเจ็บป่วยหรือความฟิตของร่างกาย ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย รวมถึงมีการติดตั้ง NHS COVID App เพื่อติดตามการแพร่กระจายของโรคโควิด-19 ไว้เป็นหนึ่งในฟีเจอร์ของอุปกรณ์ดังกล่าว
    • Machine Learning ทางด้านสุขภาพ ได้รับการคาดหมายว่าจะมีการเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการวินิจฉัยโรคทางไกล ซึ่งจะมีการนำเอาอุปกรณ์ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ และระบบระบุตำแหน่งบนพื้นโลก (Global Positioning System) เข้ามาใช้ในการติดตามอาการ รวบรวมข้อมูล และจัดปริมาณยา เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยลดภาระงานให้กับแพทย์ต่อไป
  • ระบบบ้านอัจฉริยะ (Smart Home)
    • โรคโควิด-19 นับว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้ระบบบ้านอัจฉริยะมีการใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้น เนื่องจากผู้สูงอายุ และเด็ก จำเป็นต้องใช้ชีวิตอยู่ภายในบ้านเพื่อลดการรับเชื้อเป็นส่วนใหญ่ ทำให้เทคโนโลยีอำนวยความสะดวกภายในระบบบ้านอัจฉริยะ และเทคโนโลยีสำหรับการตรวจสอบและรับมือกับเหตุฉุกเฉินนั้นคาดว่าจะเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเทคโนโลยีภายในระบบบ้านอัจฉริยะที่คาดว่าจะได้รับความสนใจจากผู้ใช้ เช่น ระบบรักษาความปลอดภัย ระบบทำความร้อน ระบบแสงสว่าง และมาตรวัดอัจฉริยะสำหรับระบบสาธารณูปโภค เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ระบบที่เกี่ยวข้องกับการรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและการจัดการพลังงานนั้นคาดว่าจะได้รับความสนใจจากทั้งกลุ่มผู้ผลิต และผู้ใช้งาน
    • อุปกรณ์ออกกำลังกายภายในระบบบ้านอัจฉริยะ โดยเป็นการนำเอาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาใช้ร่วมกับกล้องเพื่อวิเคราะห์ท่าทางการออกกำลังกายว่ามีความถูกต้องและปลอดภัย ซึ่งเทคโนโลยีนี้คาดว่าจะถูกนำมาใช้ในการประชุมทางไกล และการเรียนออนไลน์ในอนาคต
  • เทคโนโลยีเพื่อรองรับระบบและอุปกรณ์ไร้สัมผัส ประกอบด้วย
    • เทคโนโลยีการจดจำท่าทาง ด้วยการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้คนส่วนใหญ่หลีกเลี่ยงที่จะสัมผัสสิ่งของต่างๆ ทำให้แนวโน้มการพัฒนาระบบและอุปกรณ์ที่จดจำท่าทางจึงมีเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้ผู้ใช้สามารถใช้ท่าทางแทนการสัมผัสหน้าจอ โดยเทคโนโลยีที่คาดว่าจะเข้ามาสนับสนุนระบบและอุปกรณ์ดังกล่าวคือ Optical System และเซ็นเซอร์ตรวจจับแบบไร้สัมผัส (Capacitive touch types sensor) เป็นต้น ซึ่งอาจมีการพัฒนาขึ้นในรูปของไมโครชิพ (Microchip) ที่มีความสามารถในการจดจำท่าทาง 3 มิติ
    • เทคโนโลยีการรู้จำเสียงพูด เป็นเทคโนโลยีที่มีการนำมาใช้ในโทรศัพท์สมาร์ทโฟนอยู่แล้ว แต่แนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในอนาคตนั้นจะเป็นการนำเทคโนโลยีการรู้จำเสียงพูดมาใช้ร่วมกับเทคโนโลยีการจดจำท่าทาง ในระบบและอุปกรณ์สาธารณะมากขึ้น เพื่อลดหรือหลีกเลี่ยงการสัมผัส
    • เทคโนโลยีชำระเงินแบบไร้สัมผัส: มีการคาดหมายว่า สังคมไร้เงินสดจะถูกผลักดันให้เกิดการใช้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งในอนาคตจะมีการนำเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาปรับปรุงทำให้การชำระเงินทำได้ง่าย เร็ว และปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
  • การจำลองสภาพแวดล้อมจริงเข้าไปให้เสมือนจริง (Virtual Reality) จะถูกนำมาใช้มากขึ้น ทั้งในการเรียนออนไลน์ และการซื้อสินค้าออนไลน์ ทำให้ผู้ใช้รู้สึกเหมือนตนเองสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้เหมือนกับชีวิตปกติผ่านตัวอวตารของตนเอง
  • แอปพลิเคชันและอุปกรณ์อัจฉริยะสำหรับการพักผ่อนกลางแจ้ง ผลจากการล็อกดาว์นในหลายๆ ประเทศ ส่งผลให้เกิดความต้องการทำกิจกรรมกลางแจ้งเพิ่มมากขึ้น ซึ่งคาดว่าในอนาคตจะมีการพัฒนาแอปพลิเคชันและอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อรองรับความต้องการดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น เช่น แอปพลิเคชันเพื่อตรวจจับสิ่งที่อยู่รอบตัว แอปพลิเคชันสำหรับติดตามสิ่งของ เสื้อยืดอัจฉริยะ ที่มีการติดตั้งเซ็นเซอร์ และระบบระบุตำแหน่งบนพื้นโลกเพื่อติดตามตัวและวัดอัตราการเต้นของหัวใจ และต้นไม้อัจฉริยะ ที่ติดตั้งเซ็นเซอร์ และ Internet of Things เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
  • โซลูชั่นเพื่อรองรับการทำงานระยะไกล ผลจากการที่คนต้องทำงานที่บ้านทำให้คาดว่าจะมีการพัฒนาอุปกรณ์และระบบต่างๆ เพื่อรองรับการทำงานจากทุกสถานที่เพิ่มขึ้น เช่น ซอฟต์แวร์การประชุมทางไกลที่นำเอาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เข้ามาผนวกรวม และชุดหูฟังขนาดเล็กที่สามารถตัดเสียงรบกวนได้ดีขึ้น เป็นต้น

         

 

 

[1] สถาบันทรัพย์สินทางปัญญาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (2560). รายงานการวิเคราะห์แนวโน้มเทคโนโลยีและอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ. วันที่ค้นข้อมูล 24 สิงหาคม 2564, จาก ศูนย์ให้คำปรึกษาด้านทรัพย์สินทางปัญญาและนวัตกรรม เว็บไซต์ https://ipidecenter.ipthailand.go.th/wp-content/uploads/2020/07/24-idg.pdf

[2] GlobalTrade. (2021). Trends Shaping the Future of Electronics Manufacturing. Retrieved September 17, 2021, From GlobalTrade Website https://www.globaltrademag.com/trends-shaping-the-future-of-electronics-manufacturing/

[3] Newselectronics. Electronic industry trends for 2021. Retrieved August 26, 2021, From Newselectronics Website https://www.newelectronics.co.uk/electronics-blogs/electronic-industry-trends-for-2021/234272/