สวทช. กับบทบาทการเป็นผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการพัฒนา AI ของประเทศ

     โครงสร้างพื้นฐานเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญของการพัฒนานวัตกรรมของประเทศ จากการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ หรือ IMD World Competitiveness Ranking โดยสถาบันการจัดการเพื่อการพัฒนา (IMD) ประจำปี 2023 พบว่า ในภาพรวม ประเทศไทยจัดอยู่ในอันดับที่ 30 จาก 64 ประเทศ โดยประเทศที่มีอันดับสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ประเทศเดนมาร์ก ไอร์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ สิงคโปร์ และเนเธอร์แลนด์ ตามลำดับ โดยเมื่อพิจารณาเฉพาะด้านโครงสร้างพื้นฐาน พบว่า ประเทศไทยอยู่ในอับดับที่ 43 ซึ่งเป็นด้านที่ไทยยังขาดความสามารถในการแข่งขันเมื่อเปรียบเทียบกับด้านอื่นๆ สำหรับประเด็นที่น่าสังเกต คือ ตัวชี้วัดย่อยด้านโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีอยู่ในอันดับที่ 22 ในขณะที่โครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอยู่ในอับดับที่ 39 ประเด็นดังกล่าวอาจสะท้อนให้เห็นได้ว่า การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศยังต้องพึ่งพาการนำเข้าเทคโนโลยีต่างชาติมาใช้งาน มากกว่าเป็นการพัฒนาจากความสามารถในประเทศ ดังนั้น การส่งเสริมศักยภาพการวิจัยและพัฒนาภายในประเทศ ควบคู่กับการสร้างกลไกที่กระตุ้นการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์จึงเป็นสิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการเพื่อนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่อไป

     ดิจิทัลเป็นเทคโนโลยีแห่งอนาคตในยุค 4.0 ต่อจากยุคของอินเทอร์เน็ต ซึ่งประกอบด้วยเทคโนโลยีย่อย ๆ อีกเป็นจำนวนมาก โดยเทคโนโลยีที่สำคัญ ได้แก่ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ AI) และเทคโนโลยีเกี่ยวกับข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่มีการกล่าวถึงและนำไปใช้อย่างแพร่หลายในภาคอุตสาหกรรมและองค์กรขนาดใหญ่ในระดับหนึ่งแล้ว การใช้งานที่เห็นได้ชัด คือ ในธุรกิจแพลตฟอร์มพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-commerce) ได้มีการนำข้อมูลลูกค้าจำนวนมากไปวิเคราะห์และประมวลผลเพื่อนำเสนอสินค้าที่ลูกค้าสนใจ ในอุตสาหกรรมการผลิตก็ได้มีการนำข้อมูลภาพถ่ายมาทำนายสภาพความพร้อมการทำงานของเครื่องจักร ตรวจสอบคุณภาพสินค้า และใช้ Chatbot ในการตอบคำถามพื้นฐานของลูกค้า เป็นต้น อย่างไรก็ตาม จากผลการศึกษาการประยุกต์ใช้ AI ใน 10 อุตสาหกรรมของประเทศไทย โดย สวทช[1]. พบว่า ในภาพรวมของทั้ง 10 อุตสาหกรรมมีความพร้อมในด้านข้อมูลและโครงสร้างพื้นฐานอยู่ในระดับที่ดีเมื่อเทียบกับความพร้อมด้านอื่นๆ ด้วยหลายองค์กรมีการจัดเก็บข้อมูลในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ แต่ยังขาดการจัดระเบียบข้อมูล และขาดมาตรฐานของโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการทำงานของ AI ขณะที่ความพร้อมด้านเทคโนโลยีในองค์กร/หน่วยงานต่างๆ ยังอยู่ในระดับต่ำ หรืออยู่ในระดับไม่มีความตระหนัก เนื่องจากองค์กรส่วนใหญ่ไม่มีการพัฒนาเทคโนโลยีและแพลตฟอร์ม AI สำหรับใช้งานภายในองค์กร

     จากความสามารถและความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการวิจัยเทคโนโลยีดิจิทัลของ สวทช. ซึ่งมีศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) เป็นหน่วยงานหลัก ได้มีการดำเนินงานทั้งด้านการวิจัย พัฒนา และส่งเสริมให้เกิดการประยุกต์ใช้ AI ในหลายสาขาอุตสาหกรรม ด้วยการพัฒนาแพลตฟอร์มบริการ AI (AI for Thai) รองรับการขยายผลการวิจัย AI และมีความพร้อมด้านทรัพยากรการคำนวณขั้นสูง โดยศูนย์ทรัพยากรคอมพิวเตอร์เพื่อการคำนวณขั้นสูง (ThaiSC) ได้มีการให้บริการเครื่องซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ LANTA ซึ่งเป็นที่มีประสิทธิภาพอันดับ 70 ของโลก และที่ 1 ของอาเซียน รวมไปถึงการเป็นหน่วยงานหลักขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติ พ.ศ. 2565 – 2570 เป็นต้น

     จากองค์ประกอบข้างต้นจะเป็นจุดเริ่มต้นการสร้างระบบนิเวศ AI ร่วมกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งในภาครัฐ และเอกชน ในการเชื่อมโยงข้อมูล พัฒนาเทคโนโลยีและแพลตฟอร์ม AI สัญชาติไทย ซึ่งจะเป็นการผลักดันการใช้ประโยชน์จากการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน และการวิจัย เพื่อช่วยลดช่องว่างการเข้าถึงเทคโนโลยีของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่าง ๆ และยังเป็นการลดการพึ่งพิงเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ทำให้ภาคอุตสาหกรรม ภาครัฐ และภาคสังคม สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีที่เหมาะสมและใช้ประโยชน์ได้อย่างสะดวก นำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถทางเทคโนโลยีของภาคส่วนต่าง ๆ และสร้างโอกาสทางการตลาดให้กับผู้ประกอบการไทย และในที่สุดจะเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันความเข้มแข็งทางนวัตกรรมของประเทศ ที่สะท้อนต่อผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันในระดับสากลต่อไป

ที่มา: เอกสารนำเสนอ ผลการสำรวจความพร้อมในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) สำหรับบริการดิจิทัลอย่างมีธรรมาภิบาล วันที่ 12 กรกฎาคม 2566 ภายใต้โครงการโครงการสำรวจความพร้อมในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) สำหรับบริการดิจิทัลอย่างมีธรรมาภิบาล เสนอต่อ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.)