AI READINESS MEASUREMENT 2024

     สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ดำเนินโครงการสำรวจความพร้อมในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ AI) สำหรับบริการดิจิทัลอย่างมีธรรมาภิบาล ซึ่งดำเนินการต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศระยะ 6 ปี (พ.ศ. 2565 – 2570) ในยุทธศาสตร์ที่ 1 การเตรียมความพร้อมของประเทศในด้านสังคม จริยธรรม กฎหมาย และกฎระเบียบสำหรับการประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ และการส่งเสริมให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและระบบปัญญาประดิษฐ์ในภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงทราบสถานะความพร้อมการนำเทคโนโลยี AI มาใช้ในการให้บริการดิจิทัลของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนของประเทศไทย ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายตามแผนปฏิบัติการฯ และผลวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกของกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีลำดับความสำคัญสอดคล้องกับแผนการขับเคลื่อนภารกิจ สพธอ. และสร้างการรับรู้หรือความตระหนักให้เกิดการนำรายงานการสำรวจที่ได้ไปสู่การกำหนดนโยบาย การต่อยอดหรือปรับใช้งานที่แพร่หลายและเป็นประโยชน์ต่อไป

กลุ่มตัวอย่าง และดัชนีวัดระดับความพร้อมในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์

     การศึกษาครั้งนี้ได้มีการดำเนินการรวบรวมข้อมูลจาก 2 ส่วนด้วยกัน คือ การรวบรวมข้อมูลจากแห่งปฐมภูมิ ได้แก่ การจัดประชุมผู้เชี่ยวชาญเพื่อปรับปรุงตัวชี้วัด จำนวน 2 ครั้ง การสำรวจหน่วยงาน/ องค์กรโดยใช้แบบสอบถามจากส่งไปยังกลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้น 3,758 ราย เพื่อนำข้อมูลที่ได้ทั้งหมดมาประกอบการวิเคราะห์และจัดทำเป็นข้อเสนอแนะมาตรการเพื่อเตรียมความพร้อมและส่งเสริมให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในประเทศ และการจัดประชุมระดมความคิดเห็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องใน3 อุตสาหกรรมมุ่งเน้นจำนวน 1 ครั้งมีผู้เข้าร่วมทั้งสิ้น 31 หน่วยงาน และการศึกษาค้นคว้าจากแหล่งทุติยภูมิ เช่นเอกสารวิชาการ รายงานการศึกษา ที่เกี่ยวข้อง

     สำหรับการสำรวจความพร้อมในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ฯ ในครั้งนี้ ได้ใช้ดัชนีสำหรับวัดระดับความพร้อมใน 5 ด้าน (Pillars) 13 มิติ (Dimensions) และ 29 ชี้วัด/ ข้อคำถาม (Indexes) โดยได้ทำการสำรวจหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายตามแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ปี พ.ศ. 2565 – 2570) จำนวน 10 กลุ่ม ได้แก่ เกษตรและอาหาร การใช้งานและบริการภาครัฐ การแพทย์และสุขภาวะ อุตสาหกรรมการผลิต พลังงานและสิ่งแวดล้อม การศึกษา ท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ความมั่นคงและปลอดภัย โลจิสติกส์และการขนส่ง และการเงินและการค้า ซึ่งผลที่ได้จากการประเมินตามด้านต่างๆ จะนำไปสู่การแบ่งความพร้อมขององค์กรได้เป็น 4 ระดับตามคะแนนที่ได้ในแต่ละช่วง ดังนี้ (1) ระดับ Unaware = ยังไม่มีความตระหนัก/ อยู่ในช่วงเริ่มต้นเรียนรู้ หากมีคะแนนเฉลี่ยต่ำว่าร้อยละ 33 (2) ระดับ  Aware = มีความตระหนักและเริ่มนำ AI ไปใช้งานแล้ว หากมีคะแนนเฉลี่ยอยู่ระหว่างร้อยละ 34 – 66 (3) ระดับ Ready = มีความพร้อมในการนำ AI ไปใช้งาน หากมีคะแนนเฉลี่ยระหว่างร้อยละ 67 – 83 และ (4) ระดับ Competent = มีความเข้มแข็งในการใช้งาน AI หากมีคะแนนเฉลี่ยมากกว่าร้อยละ 83

ผลการสำรวจในภาพรวม

     จากการศึกษาพบว่า องค์กร/หน่วยงานในประเทศไทย ได้เริ่มมีการใช้งาน AI แล้ว และมีแนวโน้มใช้งานมากขึ้น จากกลุ่มตัวอย่างที่ส่งแบบสอบถามทั้งสิ้น 3,758 ราย ในช่วงเวลา 60 วัน (เดือน ก.ค.- ส.ค. 2567) ได้ข้อมูลกลับมาทั้งสิ้น 580 ราย พบว่า 17.8% มีการนำ AI มาใช้งานแล้วในองค์กรแล้ว 73.3% มีแผนที่จะนำมาใช้ในอนาคต และ 8.9% ที่ยังไม่มีแผนที่จะใช้ AI ดังนั้น คาดการณ์ได้ว่าในอนาคตอันใกล้นี้จะมีองค์กรในประเทศไทยที่นำ AI มาประยุกต์ใช้จำนวนเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ องค์กรที่มีการประยุกต์ใช้งาน AI มีเป้าหมายสำคัญ 3 อันดับแรก ได้แก่ (1) เพื่อใช้ในการบริหารจัดการภายในองค์กร (2) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตหรือการให้บริการขององค์กร และ (3) เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์หรือบริการขององค์กร ตามลำดับ

     ผลการสำรวจยังพบว่า องค์กรที่มีการนำ AI มาใช้งานแล้ว มีความพร้อมเฉลี่ยอยู่ที่ 55.1% หรืออยู่ในระดับ “Aware” ซึ่งหมายถึง องค์กรมีความตระหนักถึงความสำคัญของเทคโนโลยี AI และเริ่มนำเทคโนโลยี AI มาประยุกต์ใช้ในองค์กร

     สำหรับองค์กรที่ปัจจุบันยังไม่มีการนำ AI มาประยุกต์ใช้ในองค์กร ได้ให้เหตุผลที่น่าสนใจ 3 อันดับแรก ได้แก่ (1) ยังอยู่ในช่วงของการศึกษาข้อมูล เนื่องจากยังไม่ทราบว่าจะนำ AI มาประยุกต์ใช้อย่างไร  (2) รอนโยบายผู้บริหาร และ (3) ความคุ้มค่า หรืองบประมาณในการลงทุน ซึ่งองค์กรยังขาดความพร้อมและต้องการการสนับสนุนในด้านต่างๆ เช่น โครงสร้างพื้นฐาน บุคลากร และงบประมาณ เป็นต้น

ระดับความพร้อมเมื่อพิจารณาในแต่ละด้าน (Pillars)

   สำหรับในองค์กรที่มีการนำ AI มาประยุกต์ใช้งานแล้ว เมื่อพิจารณาแยกในแต่ละด้าน (Pillars) และมิติ (Dimensions) ที่ใช้ในการประเมิน จะพบข้อมูลที่น่าสนใจ ดังนี้

     3.1 ด้านยุทธศาสตร์และความสามารถขององค์กร

     มีคะแนนเฉลี่ยในภาพรวม คือ 59.6% ผลสำรวจ พบว่า กลุ่มตัวอย่างที่มีระดับความพร้อมในด้านนี้สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ กลุ่มความมั่นคงและปลอดภัยมีความพร้อมในระดับ Ready (คะแนนเฉลี่ย 77.3%) รองลงมา คือ กลุ่มการศึกษา มีความพร้อมในระดับ Ready (คะแนนเฉลี่ย 69.0) และกลุ่มการเงินและการค้า มีความพร้อมอยู่ในระดับ Ready (คะแนนเฉลี่ย 67.0%)

     3.2 ด้านข้อมูลและโครงสร้างพื้นฐาน

     มีคะแนนเฉลี่ยในภาพรวม คือ 65.5% กลุ่มตัวอย่างที่มีระดับความพร้อมสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตมีความพร้อมในระดับ Ready (คะแนนเฉลี่ย 76.8%) กลุ่มความมั่นคงและปลอดภัยมีความพร้อมในระดับ Ready (คะแนนเฉลี่ย 70.0%) และกลุ่มการศึกษา มีความพร้อมในระดับ Ready (คะแนนเฉลี่ย 68.2%)

     3.3 ด้านบุคลากร

     มีคะแนนเฉลี่ยในภาพรวม คือ 62.4% กลุ่มตัวอย่างที่มีระดับความพร้อมในด้านนี้สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ กลุ่มความมั่นคงและปลอดภัย มีความพร้อมในระดับ Ready (คะแนนเฉลี่ย 77.8%)  กลุ่มการศึกษา มีความพร้อมในระดับ Ready (คะแนนเฉลี่ย 73.2%)  และกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิต มีความพร้อมในระดับ Ready (คะแนนเฉลี่ย 67.1%)

     3.4 ด้านเทคโนโลยี

     มีคะแนนเฉลี่ยในภาพรวม คือ 40.8% พบว่า กลุ่มตัวอย่างที่มีระดับความพร้อมในด้านนี้สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ กลุ่มความมั่นคงและปลอดภัย อยู่ในระดับ Ready (คะแนนเฉลี่ย 73.9%) กลุ่มการศึกษา มีความพร้อมในระดับ Aware (คะแนนเฉลี่ย 65.7%) และกลุ่มโลจิสติกส์และการขนส่ง มีความพร้อมในระดับ Aware (คะแนนเฉลี่ย 65.2%)

     3.5 ด้านธรรมาภิบาล

     มีคะแนนเฉลี่ยในภาพรวม คือ 46.9% กลุ่มตัวอย่างที่มีระดับความพร้อมในด้านนี้สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ กลุ่มการศึกษา มีความพร้อมในระดับ Ready (คะแนนเฉลี่ย 78.9%) กลุ่มโลจิสติกส์และการขนส่งมีความพร้อมในระดับ Ready (คะแนนเฉลี่ย 69.4%) และกลุ่มการเงินและการค้า มีความพร้อมในระดับ Aware (คะแนนเฉลี่ย 62.0%)

กลุ่มอุตสาหกรรมที่ AI มีบทบาทสำคัญ

     4.1 กลุ่มการเงิน (Finance) 

      คำจำกัดความในรายงานฉบับนี้: กลุ่มธุรกิจการเงิน ธนาคาร เงินทุนหลักทรัพย์ และธุรกิจประกันภัย 

     กลุ่มการเงินมีการใช้งานเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในหลายด้าน ได้แก่ advanced algorithms & ML ในการวิเคราะห์ข้อมูล การดำเนินงานโดยอัตโนมัติ และปรับปรุงการตัดสินใจในกลุ่มบริการทางอุตสาหกรรมการเงิน โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพ การลดต้นทุน การตัดสินใจที่ดีขึ้น และการยกระดับประสบการณ์ของลูกค้า

     ความท้าทาย รวมถึงข้อกังวลและอุปสรรคในการใช้ AI ในกลุ่มการเงินที่สำคัญ ได้แก่ ด้าน Algorithmic Bias (อัลกอริทึมมีอคติ), Lack of Transparency (ขาดความโปร่งใส), Privacy & Data Security (ความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของข้อมูล), Cybersecurity Vulnerabilities (จุดอ่อนด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์), Job Displacement (การถูกแทนที่งาน), Systematic risks (ความเสี่ยงที่เป็นระบบ), ขาดกลยุทธ์ด้าน AI และระบบไอทีและข้อมูลไม่มีคุณภาพ

     ข้อเสนอแนะจากการทบทวนวรรณกรรม รวมกับที่ได้รับฟังข้อคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญในกลุ่มการเงิน สามารถสรุปข้อเสนอแนะได้เป็น 6 ข้อหลัก คือ (1) กำหนดวิสัยทัศน์และเป้าหมายที่ชัดเจนในการใช้ AI (2) มีองค์กรเพื่อสนับสนุน AI (3) มี Open Data & Data Sharing (4) Sandbox ในวงกว้างมากกว่ากลุ่ม data scientist (5) มีนโยบายสนับสนุน SMEs ให้เข้าถึงเทคโนโลยี AI และ(6) มีมาตรฐานและกลไกที่มีประสิทธิภาพในการคุ้มครองผู้บริโภค

     4.2 กลุ่มการแพทย์และสุขภาพ (Health care)  

     คำจำกัดความในรายงานฉบับนี้: ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องมือแพทย์ และ สถานพยาบาลขนาดใหญ่ที่ให้บริการทางการแพทย์

     กลุ่มการแพทย์และสุขภาพมีการใช้งานเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในหลายด้านที่สำคัญ ได้แก่ การตรวจและวินิจฉัยสาเหตุก่อนล่วงหน้า การดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน และการดูแลเชิงคาดการณ์ หรือ AI-powered predictive care AI และ การวิเคราะห์เชิงคาดการณ์ ช่วยให้เข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับปัจจัยต่างๆ ในชีวิตที่มีอิทธิพลต่อสุขภาพ

     ความท้าทาย รวมถึงข้อกังวลและอุปสรรคในการใช้ AI ในกลุ่มการแพทย์และสุขภาพของไทยที่สำคัญ ได้แก่ ความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของข้อมูล ความปลอดภัยของผู้ป่วยและความแม่นยำของ AI การบูรณาการ AI กับระบบที่มีอยู่ในปัจจุบัน ขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญและบุคลากรที่มีทักษะ รวมถึงความรับผิดชอบต่อผลที่เกิดจาก AI ยังขาดกลไกและกรอบการดำเนินงานเรื่องความรับผิดชอบต่อข้อผิดพลาดทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับ AI ระหว่างแพทย์และบริษัทผู้พัฒนาระบบ

     ข้อเสนอแนะจากการทบทวนวรรณกรรม รวมกับที่ได้รับฟังข้อคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญ สามารถสรุปข้อเสนอแนะได้เป็น 6 ข้อหลัก คือ (1)การกำหนดกลยุทธ์ AI Health Innovation แบบมุ่งเป้าชัดเจน (2) ส่งเสริมให้มีมาตรฐานข้อมูล และการ sharing data รวมถึงการกำกับตรวจสอบ (3) พัฒนา AI University (4) ส่งเสริม AI Literacy ในทุกกลุ่มที่เกี่ยวข้อง (ได้แก่ ผู้บริหาร บุคลากรทางการแพทย์ และประชาชน) (5) พัฒนาเทคโนโลยีภายในประเทศพร้อมกับนำเข้าเทคโนโลยีที่จำเป็นเพื่อลดเวลาในการพัฒนา และ (6) มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการนำ AI ไปใช้งานในด้านการแพทย์

     4.3 กลุ่มสื่อดิจิทัล (Digital media)  

     คำจำกัดความในรายงานฉบับนี้: ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการผลิตสื่อดิจิทัล ซึ่งมีเนื้อหาต่างๆ ที่สื่อสารในรูปแบบภาพและเสียง รวมถึงแอปพลิเคชันที่เผยแพร่โดยตรงผ่านอินเทอร์เน็ต ซึ่งรวมถึงเนื้อหาของวิดีโอดิจิทัล เพลงดิจิทัลที่ดาวน์โหลดหรือสตรีมบนอินเทอร์เน็ต ตลอดจนเกมดิจิทัลสำหรับอุปกรณ์ต่างๆ และเนื้อหาที่เผยแพร่ทางอิเล็กทรอนิกส์

     กลุ่มสื่อดิจิทัลมีการใช้งานเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในหลายด้าน ได้แก่ การวิเคราะห์เชิงคาดการณ์ การสนับสนุนงานบริการและสื่อสาร การวิเคราะห์ความรู้สึก การปรับแต่งส่วนบุคคลและการกระจายข่าวอัตโนมัติ  การเพิ่มประสิทธิภาพการสร้างเนื้อหาคุณภาพสูง  

     ความท้าทาย รวมถึงข้อกังวลและอุปสรรคในการใช้ AI ในกลุ่มสื่อดิจิทัลของไทยที่สำคัญ ได้แก่ การพัฒนาเครื่องมือ AI /การผลิตสื่อ ที่ต่อต้านการสร้าง content เพื่อวัตถุประสงค์ที่ขัดต่อจริยธรรม การละเมิดสิทธิ์ทางกฎหมาย การละเมิดความเป็นส่วนตัว และศักยภาพด้าน soft side โดยเฉพาะการใช้ AI ในศิลปะและดนตรีแม้ช่วยในการเสริมแรงของกระบวนการผลิต แต่ยังขาดการสะท้อนถึงความคิดสร้างสรรค์และความรู้สึกที่แท้จริง

     ข้อเสนอแนะจากการทบทวนวรรณกรรม รวมกับที่ได้รับฟังข้อคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญ สามารถสรุปข้อเสนอแนะได้เป็น 6 ข้อหลัก คือ (1) โครงการฝึกอบรม หรือการให้ความรู้แก่ผู้บริหารองค์กร (2) มีหน่วยงานกลางทำหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลขนาดใหญ่  (3) มีการจัดสรร แชร์การใช้โครงสร้างพื้นฐานส่วนกลาง (4) ส่งเสริมทักษะด้าน ภาษาอังกฤษและเทคนิคการใช้ AI (5) พัฒนาเทคโนโลยีพัฒนาโมเดลภาษาไทย และ (6) จัดทำ Ethics Guideline เฉพาะด้าน Digital media ให้ทราบถึงแนวทางการใช้AI ที่ถูกต้อง

การวิเคราะห์ช่องว่าง (Gap Analysis) ของการพัฒนาให้เกิดความพร้อมในการประยุกต์ใช้ AI

     จากการวิเคราะห์ช่องว่าง (Gap Analysis) สำหรับการพัฒนาและส่งเสริมให้เดความพร้อมในการประยุกต์ใช้ AI สามารถสรุปประเด็นสำคัญๆ ได้ดังนี้

  • ด้านการส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีในประเทศ พบว่า ประเทศไทยยังไม่มีการกำหนดนิยามและเกณฑ์ในการพิจารณาบุคคลที่เป็นผู้ประกอบการเกี่ยวกับ AI ระบบนิเวศ AI (AI Ecosystem) ที่ครบวงจรเพื่อรองรับผู้ประกอบการ SMEs ให้เข้ามาใช้บริการ และเพื่อดึงดูดผู้เชี่ยวชาญและกลุ่ม Startups ให้เข้ามาร่วมทำงานต่อยอด ส่งผลให้ขาดการรวมกลุ่มของผู้พัฒนาขนาดเล็ก หรือ Startup ในการพัฒนาร่วมกัน, ปัจจุบันไทยมีผู้เชี่ยวชาญด้าน AI และ Data Analyst จำนวนน้อยไม่เพียงพอต่อความต้องการ, ยังขาดการพัฒนาชุดข้อมูลที่เป็นของไทยสำหรับรองรับการพัฒนาและใช้งานในประเทศ และองค์กรส่วนใหญ่ไม่มีการพัฒนาเทคโนโลยี AI ภายในองค์กร ในด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ของประเทศก็พบว่า ยังไม่สามารถนำไปต่อยอดเชิงธุรกิจได้ ทำให้การใช้งานภายในประเทศไม่แพร่หลายเท่าที่ควร รวมทั้งการพัฒนาเทคโนโลยี AI จำเป็นจะต้องใช้เงินลงทุนมูลค่าสูง ทั้งด้านฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และด้านข้อมูล บริษัทผู้พัฒนาขนาดเล็กจึงอาจไม่สามารถแข่งขันได้ เป็นต้น
  • ด้านบุคลากร พบว่า บุคลากรเกือบทุกภาคส่วนยังขาดความตระหนัก ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยี AI ยังขาดการประชาสัมพันธ์ หลักสูตรการฝึกอบรม และหลักสูตรการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับ AI ทั้งในระดับขั้นพื้นฐาน ที่เน้นทักษะการคิดแบบตรรกะ (Logic) และการโค้ดดิ้ง (Coding) ให้กับนักเรียนได้ทำความเข้าใจถึงความสามารถของ AI ที่ทำได้ตั้งแต่ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา เพื่อเป็นพื้นฐานทางด้านเทคโนโลยีให้กับการศึกษาไทย และสำหรับระดับอุดมศึกษา พบว่ายังมีหลักสูตรเกี่ยวกับ AI โดยตรงไม่มากนัก นอกจากนี้ ยังขาดการส่งเสริมด้านการพัฒนาทักษะของผู้ปฏิบัติงานในกลุ่มต่างๆ ขาดผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน AI (ระดับเริ่มต้น กลาง และขั้นสูง) ในการพัฒนาและนำ AI ไปประยุกต์ใช้ และขาดการสร้าง Experience Sharing ให้กับผู้ประกอบการ ยังไม่มีหลักสูตร Upskill และ Retraining ให้กับบุคลากรในภาคธุรกิจ/อุตสาหกรรมที่เพียงพอ ยังไม่มีการนำกรณีตัวอย่างของบริษัทที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์แล้วประสบความสำเร็จ มาเผยแพร่เป็นการดึงดูดให้ผู้บริหารในองค์กรสนใจและเข้าใจ AI มาขึ้น และเพื่อเป็นแบบอย่างให้กับบริษัทที่ต้องการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI ในอนาคต เป็นต้น
  • ด้านธรรมาภิบาลและจริยธรรม พบว่า ถึงแม้ผลการสำรวจในปีนี้ได้ชี้ให้เห็นว่าหลายองค์กรในประเทศไทยเริ่มตระหนักถึงการใช้ AI อย่างมีธรรมาภิบาล อีกทั้งรัฐบาลก็ได้มีการออกแนวทางเรื่องธรรมาภิบาล AI มาแล้วก็ตาม แต่ในกระบวนการปฏิบัติเพื่อนำกฎ กติกา หรือแนวทางต่างๆ มาใช้ในหน่วยงาน/องค์กรนั้น ก็ยังมีหน่วยงาน/องค์กรอีกจำนวนมากที่ยังต้องการคำแนะนำเพื่อให้สามารถดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรมที่สอดคล้องกับสิ่งที่ภาครัฐได้กำหนดขึ้น
  • ด้านเกี่ยวกับมาตรฐาน พบว่า การกำกับดูแลผลิตภัณฑ์หรือบริการที่มีการนำ AI มาเป็นองค์ประกอบให้มีคุณภาพและมาตรฐานที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้ส่งผลเสียหรือผลกระทบในทางลบต่อผู้บริโภคก็ยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจนนัก ถึงแม้ในบางอุตสาหกรรม เช่น ด้านการเงิน ด้านการแพทย์ ได้เริ่มที่จะพัฒนาในเรื่องดังกล่าว แต่ยังเป็นไปอย่างช้าๆ เนื่องจากผู้เชี่ยวชาญที่จะช่วยพัฒนากระบวนกำหนดมาตรฐานยังมีไม่มาก อีกทั้งหน่วยที่ช่วยทดสอบเพื่อรับรองมาตรฐานในด้านนี้ก็ยังไม่ได้มีชัดเจนนัก
  • ด้านนโยบายและการส่งเสริมสภาพแวดล้อมด้านการพัฒนาและการใช้ AI พบว่า ประเทศไทยยังขาดศูนย์กลางของภาครัฐในการให้บริการด้าน AI ทั้งการให้บริการถามตอบทั่วไป และการให้คำปรึกษาในเชิงลึกตาม Technical area ต่างๆ นอกจากนี้ ยังขาดหน่วยงานที่เป็นศูนย์ประสานงานในการติดตามและประสานขับเคลื่อนงานด้าน AI อย่างบูรณาการ ที่มีหน้าที่หลักในการกำหนดแผนในภาพประเทศ การติดตามและประสานการขับเคลื่อนการพัฒนาและการใช้ AI ในประเทศไทย

ข้อเสนอแนะเพื่อเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ 

  • การพัฒนา AI Governance Guideline สำหรับการส่งเสริมการใช้งาน AI เฉพาะสาขา  โดยร่วมกับสาขาที่เริ่มมีการใช้งาน AI อย่างแพร่หลายและมีผลกระทบวงกว้างต่อประชาชน โดยเริ่มต้นจากสาขาการสื่อสาร และสาขาการแพทย์ 
  • การเป็นศูนย์ประสานเครือข่าย AI Governance Expert โดยพัฒนาระบบสมาชิก เวทีหรือ Platform กลางความร่วมมือของภาคส่วนต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับ AI เพื่อทุกภาคส่วนสามารถใช้บริการศูนย์กลางความร่วมมือและเครือข่าย ด้าน AI Governance
  • การพัฒนาหลักสูตรกลางด้านการพัฒนาบุคลากรด้าน AI Governance & Ethic โดยร่วมกับเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญและมหาวิทยาลัย พัฒนาหลักสูตรในการพัฒนาบุคลากรด้าน AI Governance 2 ระดับ ได้แก่ ระดับพื้นฐาน ให้ทราบถึงหลักเกณฑ์ทั่วไปด้านธรรมาภิบาล AI และระดับสูง ให้ทราบถึงหลักการตัดสินใจในการเลือกใช้ AI ที่เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล AI
  • การส่งเสริมการใช้งาน AI-Scan (AI Governance Readiness Self-Scanning) โดยจัดให้มีกิจกรรมส่งเสริมการใช้เครื่องมือ AI-Scan ที่พัฒนาอยู่บนเว็บไซต์ของ สพธอ. เพื่อให้องค์กรต่างๆ เกิดความตระหนัก และสำรวจสถานะความพร้อมด้าน AI ขององค์กร รวมทั้งสามารถได้รับคำแนะนำเบื้องต้นที่ระบบได้จัดเตรียมไว้
  • การจัดทำทะเบียนกลางผลิตภัณฑ์/บริการ AI ที่มีมาตรฐาน จัดทำระบบการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ทางด้าน AI ทั้งจากผู้พัฒนาในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้การส่งเสริม ติดตาม ตรวจสอบ และกำกับดูแลให้ดำเนินการอย่างมีธรรมาภิบาล