สาระน่ารู้

เป็นที่ทราบว่ากันดีกว่า พลังงานเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญในการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิตบนโลก โดยเรามีการใช้พลังงานทั้งในรูปของน้ำมัน ก๊าซ และไฟฟ้า เพื่อการดำรงชีวิต อย่างไรก็ตาม แหล่งพลังงานที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ทั้งถ่านหิน น้ำมันดิบ และก๊าซธรรมชาตินั้นล้วนแล้วแต่เป็นพลังงานสิ้นเปลือง (Nonrenewable Energy) คือ พลังงานที่ใช้แล้วหมดไป อีกทั้งพลังงานสิ้นเปลืองเหล่านี้ยังส่งผลร้ายต่อโลกและมนุษย์ เนื่องจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงฟอสซิลก่อให้เกิดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งทำให้เกิดปฏิกิริยาเรือนกระจกส่งผลให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น ด้วยเหตุนี้ จึงมีความพยายามที่จะค้นหาแหล่งพลังงานสะอาด ที่สามารถนำมาใช้ได้ไม่มีวันหมด หรือสามารถหามาทดแทนได้ในระยะเวลาอันสั้น นั่นก็คือ พลังงานทดแทน (Renewable Energy) ปัจจุบันพลังงานทดแทนนับได้ว่าเป็นหนึ่งในแนวโน้มของโลกที่สำคัญ ที่จะเข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมพลังงานในอนาคต

โดยแนวโน้มโลกด้านพลังงานนั้น Frost&Sullivan ได้ให้ข้อมูลว่ามุ่งเน้นใน 3 เรื่องสำคัญคือ การใช้พลังงานที่ลดการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (Decarbonization) การผลิตและกระจายพลังงานแบบไม่รวมศูนย์ (Decentralization) และการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในกระบวนการทำธุรกิจ (Digitization) เพื่อให้โครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานต่างๆ มีความยืดหยุ่น สามารถเชื่อมต่อกันและตอบสนองกันได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งเทคโนโลยีต่างๆ ที่จะเข้ามามีบทบาทนั้นเป็นไปเพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงาน สามารถกระจายพลังงานให้ทั่วถึงแม้ในพื้นที่ห่างไกล รวมถึงเพื่อลดปัญหาภาวะโลกร้อน

ซึ่งแนวโน้มเทคโนโลยีที่จะเข้ามามีอิทธิพลในอนาคตนั้นมีด้วยกันหลากหลายเทคโนโลยี ทั้งเทคโนโลยีสำหรับกักเก็บพลังงาน อย่างแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน เซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell) และเทคโนโลยีการสํารองไฟฟาสําหรับโครงขายไฟฟา (Grid Energy Storage) เทคโนโลยีที่จะเข้ามาช่วยบริหารจัดการพลังงาน อย่างระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) Microgrids and Nanogrids ระบบควบคุมการจ่ายไฟฟ้าอัตโนมัติ (Distribution Automation) และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial intelligence) ในส่วนของเทคโนโลยีที่จะเข้ามาสนับสนุนการผลิตและกระจายพลังงานแบบไม่รวมศูนย์นั้น มีทั้งเทคโนโลยีโรงไฟฟ้าเสมือน (Virtual Power Plant) ระบบพลังงานน้ำอัจฉริยะ (Smart Hydro Power) รวมถึงการซื้อขายพลังงานผ่าน Blockchain เป็นต้น สำหรับพลังงานทดแทนที่คาดว่าจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมพลังงานในอนาคตนั้นก็คือ พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลม โดยเฉพาะเซลล์แสงอาทิตย์ที่ได้รับการคาดหมายว่าจะเข้ามาเป็นผู้นำในอนาคตของอุตสาหกรรมพลังงาน

สำหรับประเทศไทย ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องของพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกดังปรากฎในแนวนโยบายแห่งรัฐภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 มาตรา 72 (5) อีกทั้งยังได้บูรณาการแผนพลังงานแห่งชาติร่วมกัน เพื่อให้ระยะเวลาดำเนินการของทั้ง 5 แผนมีความสอดคล้องกัน ซึ่งแผนพลังงานดังกล่าวประกอบด้วย แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย แผนอนุรักษ์พลังงาน แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ และแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง นอกจากนี้ ยังได้มีการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาระบบโครงข่ายสมาร์ทกริดของประเทศไทย พ.ศ. 2558 – 2579 ซึ่งปัจจุบันได้มีการจัดทำโครงการนำร่องเพื่อทดสอบความเหมาะสมและความคุ้มค่าในการลงทุนของแต่ละเทคโนโลยี เช่น โครงการสมาร์ทกริด แม่ฮ่องสอน และโครงการพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ ในพื้นที่เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี เป็นต้น

ทั้งหมดนี้ ก็เพื่อรองรับการผลิตพลังงานจากพลังงานทดแทนที่ได้รับการคาดหมายว่าจะเป็นพลังงานแห่งอนาคต และมีแนวโน้มที่จะเข้าสู่ระบบการผลิตพลังงานของไทยในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นในอนาคต เพื่อให้ไทยมีความมั่นคงทางด้านพลังงาน สามารถกระจายพลังงานไปสู่ผู้ใช้ได้อย่างทั่วถึง และสอดรับกับเทคโนโลยีแห่งอนาคต