
สาระน่ารู้
จากสถิติของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินพบว่า อุบัติเหตุจากการผลัดตกหกล้มนับได้ว่าเป็นการเจ็บป่วยฉุกเฉินที่พบบ่อยในผู้สูงอายุและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยหนึ่งในแนวทางการป้องกันก็คือ การใช้อุปกรณ์อำนวยความสะดวกสำหรับผู้สูงอายุ โดยอุปกรณ์อำนวยความสะดวกนี้มีด้วยกันหลายประเภท เช่น อุปกรณ์ช่วยในการเคลื่อนที่ (Mobility) อุปกรณ์อำนวยความสะดวก (Comfort) และอุปกรณ์เพื่ออำนวยความปลอดภัย (Safety) โดยภาพรวมของตลาดอุปกรณ์อำนวยความสะดวกสำหรับผู้สูงอายุนั้น อาจกล่าวได้ว่าอุปกรณ์ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้ามาจำหน่ายจากต่างประเทศ ทั้งในรูปของผู้จัดจำหน่ายที่ได้รับการแต่งตั้งจากเจ้าของเทคโนโลยีในต่างประเทศ และผู้ค้ารายย่อย ส่วนผู้ผลิตภายในประเทศนั้นมีสัดส่วนไม่มากนัก ซึ่งผู้ผลิตในกลุ่มนี้บางรายทำการผลิตชิ้นส่วน/ส่วนประกอบเองทั้งหมด แต่ส่วนใหญ่จะนำเข้าชิ้นส่วน/ส่วนประกอบมาจากต่างประเทศ
สำหรับปริมาณการใช้อุปกรณ์อำนวยความสะดวกสำหรับผู้สูงอายุนั้นพบว่า กลุ่มผู้ใช้อุปกรณ์ฯ ภายในที่พักอาศัยมีการใช้อุปกรณ์ในกลุ่มอำนวยความสะดวกมากที่สุดคือ ร้อยละ 50.9 ซึ่งอุปกรณ์ที่มีการใช้มากที่สุดคือ มือจับและราวจับช่วยพยุงในห้องน้ำ เก้าอี้นั่งอาบน้ำ/ที่นั่งพักในห้องอาบน้ำ ส่วนอุปกรณ์ในกลุ่มช่วยในการเคลื่อนที่ เป็นอุปกรณ์ที่ผู้ใช้ภายในที่พักอาศัยใช้มากในลำดับรองลงมาคือ ร้อยละ 45.8 ซึ่งไม้เท้าช่วยพยุงเดิน และรถเข็น คืออุปกรณ์ที่มีการใช้มากที่สุดในกลุ่มนี้ ส่วนอุปกรณ์ในกลุ่มเพื่ออำนวยความปลอดภัยมีการใช้งานน้อยที่สุดเพียงร้อยละ 3.3 เท่านั้น อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาแนวโน้มความต้องการในอีก 1 – 3 ปีข้างหน้ากลับพบว่า อุปกรณ์เพื่ออำนวยความปลอดภัยเป็นกลุ่มอุปกรณ์ที่มีอัตราการเติบโตของความต้องการมากที่สุด โดยเฉพาะปุ่มขอความช่วยเหลือฉุกเฉินแบบพกพาที่สามารถติดตามตัวและตรวจจับการล้มได้ ส่วนอุปกรณ์ในกลุ่มอำนวยความสะดวก ถึงแม้จะมีสัดส่วนความต้องการมากที่สุด แต่ก็มีอัตราการเติบโตของความต้องการรองจากอุปกรณ์เพื่ออำนวยความปลอดภัย ซึ่งอุปกรณ์ที่มีความต้องการมากที่สุดก็ยังคงเป็นอุปกรณ์ชนิดเดียวกับอุปกรณ์ที่มีการใช้งานมากที่สุดในปัจจุบัน ส่วนอุปกรณ์ในกลุ่มช่วยในการเคลื่อนที่ มีอัตราการเติบโตของความต้องการที่ร้อยละ 35.2 โดยไม้เท้าช่วยพยุง รถเข็น และ Walker ยังคงเป็นอุปกรณ์ที่มีแนวโน้มความต้องการมากที่สุด
ถึงแม้ปัจจุบันจะมีผู้ผลิตอุปกรณ์อำนวยความสะดวกในประเทศไม่มากนัก แต่ก็มีหน่วยงานหลายแห่งทั้งภาครัฐและภาคเอกชนให้ความสนใจในการวิจัยและพัฒนาอุปกรณ์ดังกล่าว เพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้สูงอายุในประเทศ เช่น คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ทำการวิจัยเครื่องตรวจจับการล้ม และกลุ่มธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี ผู้พัฒนาระบบเซนเซอร์อัจฉริยะตรวจจับความเสี่ยงในการล้มในห้องน้ำ และเข็มกลัดอัจฉริยะตรวจจับการลื่นล้มอัตโนมัติ เป็นต้น ในส่วนของ สวทช. เองก็มีการวิจัยและพัฒนาอุปกรณ์เหล่านี้เช่นเดียวกัน เช่น ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ ที่มีทีมพัฒนานวัตกรรมและข้อมูลเพื่อสุขภาพรองรับสังคมผู้สูงอายุ และศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ ที่ได้ทำการพัฒนาเตียงนอนแบบมีกลไกช่วยผู้สูงอายุในการลุกนั่งและลุกขึ้นยืน (Joey-Active Bed) เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้สูงอายุอีกจำนวนหนึ่งที่ยังเข้าไม่ถึงหรือไม่นิยมใช้อุปกรณ์อำนวยความสะดวก เนื่องจากผู้สูงอายุมักมีความกังวลเรื่องภาพลักษณ์ อีกทั้งอุปกรณ์ดังกล่าวค่อนข้างมีราคาสูง และบางประเภทมีขนาดใหญ่ น้ำหนักมาก และไม่เหมาะกับรูปร่างของผู้สูงอายุ ทำให้การใช้งานจึงไม่สะดวกเท่าที่ควร ดังนั้น การพัฒนาอุปกรณ์อำนวยความสะดวกสำหรับผู้สูงอายุจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องคำนึงถึงสรีระของผู้สูงอายุในกลุ่มต่างๆ ความต้องการในการใช้งาน รูปลักษณ์ของอุปกรณ์ และที่สำคัญคือ อุปกรณ์ควรมีฟังก์ชั่นที่หลากหลาย แต่ไม่ซับซ้อน สามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับผู้สูงอายุในแต่ละกลุ่ม อีกทั้งต้องสามารถปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสรีระของผู้สูงอายุแต่ละคน เพื่อที่อุปกรณ์อำนวยความสะดวกจะได้ตอบโจทย์การใช้งาน และช่วยอำนวยความสะดวกในการดำเนินชีวิตของผู้สูงอายุได้อย่างแท้จริง