ความสำคัญของ Big Data

     Big Data หมายถึง ข้อมูลปริมาณมาก ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และมีความหลากหลาย ซึ่งรวมถึงเทคโนโลยีและสถาปัตยกรรมรูปแบบใหม่สำหรับรองรับการจัดการประมวลผลด้านสารสนเทศ ที่ต้องการข้อมูลเชิงลึก สำหรับการตัดสินใจ และสามารถวิเคราะห์ข้อมูลด้วยกระบวนการแปรผลด้วยระบบอัตโนมัติ โดยคุณลักษณะของ Big Data ได้ถูกอธิบายไว้หลายประการ แตกต่างกันไปตามคำจำกัดความของแต่ละแหล่งข้อมูล ซึ่งสามารถสรุปเป็นลักษณะสำคัญหลักๆ ได้ 4 ประการ หรือ 4V[1] ด้วยกัน ได้แก่ (1) Volume เป็นข้อมูลที่มีจำนวนมากขนาดมหาศาล สามารถนับรวมได้ทั้งข้อมูลแบบออนไลน์และแบบออฟไลน์ โดยข้อมูลต้องมีขนาดใหญ่เกินกว่า Terabyte (2) Variety เป็นข้อมูลที่มีความซับซ้อนหลากหลาย รวมกันทั้งรูปแบบมีโครงสร้าง ไม่มีโครงสร้าง และกึ่งโครงสร้าง (3) Velocity เป็นข้อมูลที่มีการเพิ่มขึ้นหรือเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตลอดเวลา ทำให้เกิดข้อมูลแบบ Real-time มากมาย และ (4) Veracity ข้อมูลต้องมีความถูกต้องชัดเจนเนื่องจาก Big Data นั้นรวบรวมข้อมูลไว้เป็นจำนวนมหาศาล เพราะฉะนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือความถูกต้องชัดเจนของข้อมูล ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญที่จะสามารถนำข้อมูลเหล่านั้นมาประมวลผลเพื่อการใช้งานต่อในอนาคตได้

     สำหรับขั้นตอนการหรือกระบวนการหลัก ที่เกี่ยวข้องกับ Big Data ก่อนที่จะไปสู่การนำไปใช้ ประกอบด้วย 3 กระบวนการ ได้แก่

  • การจัดเก็บข้อมูล (Storage) เป็นขั้นตอนการจัดเก็บรวบรวมข้อมูลทั้งหมดจากแหล่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลลักษณะใดๆ จะถูกเก็บรวบรวมไว้ที่นี่
  • การประมวลผลข้อมูล (Processing) หลังจากที่นำข้อมูลมารวบรวมไว้ได้ในที่เดียวแล้ว ข้อมูลต่างๆ จะถูกนำไปจัดหมวดหมู่แล้วจึงนำมาเปลี่ยนเป็นรูปแบบข้อมูล เพื่อนำเอาข้อมูลที่มีอยู่เหล่านี้เข้าระบบข้อมูลที่ผ่านการประมวลผลแล้ว
  • การวิเคราะห์ข้อมูล (Analyst) หลังจากที่ข้อมูลทั้งหมดได้ถูกจัดกลุ่ม และแยกประเภทแล้ว ต่อจากนั้นจะนำมาวิเคราะห์หา Pattern ความเกี่ยวข้องกันทั้งหมด และจัดทำการนำเสนอในรูปแบบต่างๆ

     จากรายงานของ Big Data Market Review ปี 2021 พบว่า มูลค่าตลาด Big Data ของโลกในปี 2020 มีจำนวนสูงถึง 2.08 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ และจะมีการเติบโตต่อเนื่องอย่างมากภายใน 5 ปีข้างหน้า เนื่องจากเศรษฐกิจโลกจะฟื้นฟูจากสถานการณ์วิกฤติต่างๆ โดยเฉพาะโรคระบาด Covid-19 โดยคาดการณ์ว่า ในปี 2026 จะมีมูลค่าการเติบโตถึง 4.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ[2] อุตสาหกรรมที่มีการใช้ Big Data มากที่สุด ได้แก่ อุตสาหกรรมการเงิน และหลักทรัพย์ รองลงมาคือ อุตสาหกรรมสื่อและธุรกิจบันเทิง และอันดับ 3 คืออุตสาหกรรมสุขภาพการแพทย์[3] ซึ่งตัวอย่างการนำเอา Big Data มาใช้ในอุตสาหกรรมด้านสุขภาพ คือ การจัดเก็บข้อมูลส่วนตัว การติดต่อของผู้ป่วย ข้อมูลอุปกรณ์เครื่องมือ หรือห้องปฏิบัติการ ที่จะสามารถรองรับกับผู้ป่วยในแต่ละระดับ เป็นต้น

     ปัจจุบันหลายหน่วยงานในประเทศไทยทั้งภาครัฐและเอกชนจำนวนมาก ได้ให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อม และมีการนำ Big Data มาใช้เพื่อสนับสนุนการดำเนินงาน และวางแผนธุรกิจของตน โดยภาครัฐได้มีการกำหนดเรื่องการส่งเสริมและเตรียมความพร้อมสำหรับการใช้งาน Big Data ไว้ในยุทธศาสตร์และแผนต่างๆ ทั้งในระดับประเทศและระดับองค์กร ตัวอย่างเช่น ในแผนปฏิบัติการการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG Model สาขาเกษตร ซึ่งมีเป้าหมายในการพัฒนาคลังข้อมูลขนาดใหญ่ และการใช้ประโยชน์ในการบริหารจัดการภาคการเกษตรในภาพรวม และในระดับการบูรณาการเชิงพื้นที่ นำไปสู่การจัดสมดุลการผลิต การตลาด ด้วยการใช้คลังข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) และได้มีการพัฒนาแพลตฟอร์ม THAGRI โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สวทช. ให้มีความสามารถในการเชื่อมโยงและการแลกเปลี่ยนข้อมูล (Data Sharing) ข้อมูลเกษตรกรรมของประเทศไทย และใน (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ระยะ 6 ปี (พ.ศ. 2565 – 2570) ยุทธศาสตร์ที่ 2 เรื่อง การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสนับสนุนด้านปัญญาประดิษฐ์เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งได้ระบุให้มีการเตรียมความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูล ซึ่งประกอบด้วย ศูนย์เชื่อมโยงและวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการประมวลผลและคำนวณขั้นสูง เพื่อรองรับการพัฒนาด้านปัญญาประดิษฐ์ของประเทศ เป็นต้น

     การส่งเสริมให้เกิดการนำ Big Data มาประยุกต์ใช้งานในองค์กรต่างๆ เพิ่มขึ้นนี้ จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้การวางแผน คาดการณ์ และตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ได้อย่างแม่นยำและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาและยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่อไปในอนาคต

เอกสารอ้างอิง

[1] Aware. (2020). คุณลักษณะและกระบวนการเจาะ Big Data มาใช้งาน. วันที่ค้นข้อมูล 1 กรกฎาคม 2565, จากเว็บไซด์ https://www.aware.co.th/คุณลักษณะ-big-data/ (2) KATALYST. (2019). คุณลักษณะสำคัญของ Big Data. วันที่ค้นข้อมูล 1 กรกฎาคม 2565, จากเว็บไซด์ https://katalyst.kasikornbank.com/ และ (3) Suphakit Annoppornchai. (2017). Big data คืออะไร. วันที่ค้นข้อมูล 6 กรกฎาคม 2565, จาก Saixiii เว็บไซด์ https://saixiii.com/what-is-big-data/

[2] Shelby Hiter. (2021). Big Data Market Review 2021. วันที่ค้นข้อมูล 26 ตุลาคม 2564, จาก Datamation เว็บไซด์ https://www.datamation.com/big-data/big-data-market/

[3] Kirana Aisyah. (2021). Data, Analytics and AI Power Public Health in the U.S.. วันที่ค้นข้อมูล 26 ตุลาคม 2564, จาก OpenGov Asia เว็บไซด์ https://opengovasia.com/data-analytics-and-ai-power-public-health-in-the-u-s/