หายนะจากโลกร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์
อย่างเป็นทางการ

          จากคำกล่าวของ อันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ  ที่ได้ประกาศว่า “ยุคของภาวะโลกร้อน (Global Warming) ได้สิ้นสุดลงแล้ว และจากนี้ไป โลกเข้าสู่ยุคโลกเดือด (Global Boiling) ได้มาถึงแล้ว” ดูเหมือนจะไม่เกินเลยไปจากความเป็นจริง แม้ “ภาวะโลกเดือด” ในแง่ของวิทยาศาสตร์จะไม่พบหลักฐานที่เด่นชัด มีเพียงภาวะโลกร้อน แต่เชื่อว่า เลขาธิการสหประชาชาติ กำลังหมายถึงว่า โลกร้อนเข้าสู่ภาวะวิกฤติที่จะมีเหตุการณ์ไม่คาดคิดเกิดบ่อยและทำลายสถิติเดิมมากขึ้น อุณหภูมิความร้อนของโลกจะทวีมากขึ้นอย่างรวดเร็ว และที่สำคัญคือภาวะวิกฤตินี้ยังไม่เห็นทางออก แต่จะสร้างผลกระทบที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยนักวิทยาศาสตร์หลายคนได้ยืนยันว่า โลกกำลังร้อนจัดที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกมาเป็นประวัติการณ์

1. ปี ค.ศ.2023 ที่ผ่านมา ร้อนเพียงใด

          นับได้ว่า ปี ค.ศ.2023 เป็นปีที่ร้อนที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกในประวัติศาสตร์โลกอย่างน้อย 100,000 ปีที่ผ่านมา แต่ยังเป็นปีแรกที่ทุกเดือนมีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงกว่า 1 องศาเซลเซียส นับตั้งแต่ช่วงยุคก่อนปฎิวัติอุตสาหกรรม (ช่วงปี ค.ศ.1850 ถึง ค.ศ.1900) และยังทำลายสถิติตัวเองทุกวัน ทุกเดือนอย่างไม่หยุดยั้ง

           จากผลการศึกษาของโครงการสังเกตการณ์โคเปอร์นิคัส (Copernicus) ภายใต้หน่วยงานด้านสภาพอากาศของสหภาพยุโรป ระบุว่า เมื่อปี ค.ศ. 2023 ทั่วโลกมีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงถึง 14.98 องศาเซลเซียส หรือประมาณ 59 องศาฟาเรนไฮต์ ซึ่งทำลายสถิติที่เคยมีมาก ที่เคยสูงสุดอยู่ในปี ค.ศ.2016 โดยสูงกว่า 0.17 องศาเซลเซียส

          จากข้อมูลของโครงการโคเปอร์นิคัส ยังพบว่า ในปี ค.ศ.2023 เป็นปีแรกในประวัติศาสตร์นับตั้งแต่ก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม ที่ทุกวันมีอุณหภูมิสูงกว่าอดีตเกินกว่า 1 องศาเซลเซียส ยิ่งไปกว่านั้น เกือบ 50% จะมีอุณหภูมิสูงขึ้นกว่า 1.5 องศาเซลเซียส และยังพบว่า บางวันอุณหภูมิสูงขึ้นกว่า 2 องศาเซลเซียส ซึ่งถือได้ว่า ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม ความเป็นอยู่ สุขภาพ คุณภาพชีวิตของคนทั้งโลกอย่างน่ากลัว

          นอกจากนี้ ผลการศึกษาจากนักวิทยาศาสตร์หลายสำนักยังยืนยันไปในทำนองเดียวกัน แม้จะแตกต่างกันในเชิงปริมาณ กล่าวคือ หากเปรียบเทียบอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลก ในปี ค.ศ. 2023 กับระดับอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกของปีฐานในช่วงก่อนยุคปฎิวัติอุตสาหกรรม เช่น องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ หรือนาซา (NASA) ระบุตัวเลขที่ระดับ 1.37 องศาเซลเซียส องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐฯ (National Oceanic and Atmospheric Administration: NOAA) ระบุตัวเลขที่ระดับ 1.34 องศาเซลเซียส และโครงการโคเปอร์นิคัส ระบุตัวเลขที่ 1.48 องศาเซลเซียส โดยสรุปว่า ปัจจุบัน โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นกว่า 1 องศาเซลเซียส และเข้าใกล้สู่ 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเปรียบเทียบกับยุคก่อนปฎิวัติอุตสาหกรรม

2. เพียง 1 องศาเซลเซียส เรื่องน้อยนิด…มหาศาล จริงหรือ??

          เพียงอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกที่เพิ่มขึ้น 1 องศาเซลเซียส จะส่งผลโดยตรงต่อระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น โดยประมาณการณ์กันว่า การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกจะทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้น 10 ถึง 20 เซนติเมตรภายในสิ้นศตวรรษนี้ กล่าวคือ ภาวะโลกร้อน เป็นมูลเหตุสำคัญในทางอุณหพลศาสตร์ ที่ส่งผลกระทบถึงคลื่นความร้อนที่เป็นตัวเร่งการละลายของธารน้ำแข็งและแผ่นน้ำแข็งขั้วโลก และทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น อันนำไปสู่การเกิดพายุและภัยพิบัติต่าง ๆ

          ผลกระทบเหล่านนี้แสดงให้เห็นแล้วในปี ค.ศ.2023 ที่ผ่านมา อาทิ อากาศร้อนอบอ้าวรุนแรงทั่วโลกในอิหร่าน จีน กรีซ สเปน เท็กซัส สหรัฐฯ และในอเมริกาใต้  ฤดูไฟป่าที่ทำลายล้างมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ในแคนาดา โดยพื้นที่มากกว่า 45 ล้านเอเคอร์ถูกเผาทำลาย แผ่นน้ำแข็งที่ก่อตัวขึ้นรอบชายฝั่งของทวีปแอนตาร์กติกาลดน้อยลงทั้งในฤดูร้อนและฤดูหนาวมากกว่าทุกครั้งที่เคยตรวจวัดได้ เป็นต้น

          รวมถึงผลการศึกษาเชิงประจักษ์โดย NOAA พบว่า ในปี ค.ศ.2023 เกิดพายุที่สร้างความเสียหายกว่าพันล้านเหรียญสหรัฐฯ มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ ทั้งในแง่ของความรุนแรงและความถี่ที่เพิ่มขึ้น โดยสหรัฐฯ ต้องประสบภัยพิบัติด้านสภาพอากาศในปี ค.ศ.2023 รวม 28 ครั้ง ซึ่งแต่ละครั้งสร้างความเสียหายมากกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ สูงกว่าสถิติเดิมที่ 22 ครั้งในปี ค.ศ.2020 แน่นอนสาเหตุสำคัญมาจากการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิในอากาศและมหาสมุทรของโลก ส่งทำให้เกิดความแปรปรวนของสภาพอากาศรุนแรงจนเกิดเป็นพายุเฮอริเคน พายุฝน ความแห้งแล้ง และเหตุการณ์สภาพอากาศอื่น ๆ  นอกจากนี้ ความถี่ในการเกิดภัยพิบัติครั้งใหญ่เหล่านี้ก็เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากประมาณทุก ๆ 60 ถึง 100 วัน ในทศวรรษ ค.ศ.1980 เป็นเกิดขึ้นในทุกสองถึงสามสัปดาห์ ในปี ค.ศ. 2023

3. ปี ค.ศ.2024 อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกจะสูงเกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียส หรือไม่?

         แม้ปี ค.ศ.2023 จะเป็นปีที่อากาศร้อนเป็นประวัติการณ์ แต่ผู้เชี่ยวชาญต่างเห็นพ้องต้องกันว่าปี ค.ศ.2024 อาจร้อนกว่านี้ ยิ่งไปกว่านั้น ปี ค.ศ.2024 อาจจะเกินเกณฑ์ 1.5 องศาเซลเซียส ที่นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศต่างเตือนมานานแล้วว่า จะนํามาซึ่งยุคของเหตุการณ์สภาพอากาศที่เลวร้ายยิ่งขึ้นทั่วโลก

         จากการศึกษาของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC) ที่ระบุถึงความท้าทายในการบรรลุเป้าหมายการควบคุมภาวะโลกร้อนให้มีอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับช่วงยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงของผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างมาก อันเป็นเหตุให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลก ตกลงกันในข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) เมื่อปี ค.ศ.2015 ในการร่วมกันมุ่งสู่ความพยายามป้องกันไม่ให้ภาวะโลกร้อนเกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียส (2.7 องศาฟาเรนไฮต์) เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบที่ร้ายแรงจากความเสียหายทางเศรษฐกิจมูลค่ามหาศาลจากเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว การสูญเสียผลผลิตทางการเกษตร และผลกระทบด้านสภาพภูมิอากาศอื่น ๆ รวมถึงเกณฑ์ดังกล่าว ยังนับเป็นความหวังสุดท้ายในการอยู่รอดให้แก่ชุมชนกลุ่มประชากรโลกที่มีความเปราะบางสูง ผู้ที่อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่ชายฝั่งทะเลที่ราบต่ำ ภูมิภาคแห้งแล้ง และประเทศที่เป็นเกาะ ได้มีเวลาและทรัพยากรมากขึ้นในการปรับตัวให้เข้ากับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป