Digital Healthcare Platform

     NSTDA Core Business ที่จะกล่าวถึงในบทความนี้นั่นก็คือ Digital Healthcare Platform มีวัตถุประสงค์เพื่อ “ผนึกกำลังความเชี่ยวชาญ ส่งเสริมและพัฒนาสาธารณสุขของประเทศไทยเพื่อสุขภาพที่ดีให้กับคนไทย”

     แพลตฟอร์มบริการทางการแพทย์ดิจิทัลที่ สวทช. ได้พัฒนาขึ้นและเป็นที่รู้จักในช่วงการระบาดของโควิด-19 โดยมีสถานพยาบาลกว่า 1,457 แห่งทั่วประเทศนำไปใช้ นั่นก็คือ A-MED Telehealth หรือระบบบริการทางการแพทย์ทางไกลสำหรับการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ซึ่งพัฒนาโดยศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ (A-MED) เพื่อนำมาใช้เป็นระบบหลังบ้านในการบริหารจัดการดูแลผู้ป่วยในสถานที่กักตัว และให้บริการผู้ป่วยในกลุ่มสีเขียวในรูปแบบของ เจอ แจก จบ เพื่อรับยาจากร้านขายยาที่เข้าร่วมโครงการ อีกทั้งยังสามารถเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลของผู้ป่วยกับหน่วยงานภายนอกต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

     ผลจากความสำเร็จของ A-MED Telehealth ทำให้มีการต่อยอดมาสู่ A-MED Care common illness หรือ ระบบบริการดูแลผู้ป่วยโรคทั่วไป โดยประชาชนที่มีสิทธิบัตรทองและมีอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 อาการ สามารถไปรับยาจากร้านยาที่เข้าร่วมได้ ซึ่งปัจจุบันมีร้านยาที่เข้าร่วมแล้วกว่า 900 ร้านทั่วประเทศ ไม่เพียงแค่ A-MED Care common illness เท่านั้น แต่ยังได้มีการต่อยอดมาสู่ A-MED Homeward หรือ ระบบบริการดูแลผู้ป่วยในที่บ้าน เพื่อให้การดูแลผู้ป่วยที่ออกไปรักษาตัวต่อที่บ้านหลังจากที่ได้รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลมาช่วงเวลาหนึ่ง โดยแพลตฟอร์ม A-MED Homeward นี้มีโรงพยาบาลที่ใช้บริการแล้วกว่า 500 แห่งทั่วประเทศ นอกจากแพลตฟอร์มทั้ง 3 แพลตฟอร์มดังกล่าว สวทช. ร่วมกับศูนย์แห่งชาติ ยังได้มีการกำหนดแผนการดำเนินงานเพื่อพัฒนาระบบสนับสนุนบริการการแพทย์ปฐมภูมิในหลายระบบด้วยกัน ได้แก่ Oral Health Database, Medical Image Database, Delivery Services, IoT/Sensor/Wearable devices, Remotexmed Diagnosis และ AI for Health

     จะเห็นได้ว่า การพัฒนา Digital Health Platform ของ สวทช. นั้น สามารถช่วยสนับสนุนการบริการทางการแพทย์ตั้งแต่ระดับปฐมภูมิ จนกระทั่งถึงการส่งต่อผู้ป่วยไปสู่การแพทย์ในระดับทุติภูมิ และตติยภูมิ ซึ่งจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ และช่วยให้ประชาชนทุกระดับ และทุกช่วงวัยสามารถเข้าถึงบริการทางด้านสาธารณสุข อีกทั้งยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริการทางแพทย์ และลดปัญหาการแออัดในโรงพยาบาลได้อีกด้วย

     การบริหารจัดการ Digital Health Platform นำโดย ดร.กิตติ วงศ์ถาวราวัฒน์ ทั้งนี้หากเพื่อนๆ ท่านใดต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่ ทีมวิจัยนวัตกรรมและข้อมูลเพื่อสุขภาพ (HII) ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ (A-MED) อีเมล a-med-hii@nstda.or.th

ที่มา:

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ. (2566). เอกสารนำเสนอ กิจกรรม Knowledge Sharing: ก้าวต่อไปด้วยกัน NSTDA Core Business

ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์. (2566). Digital Healthcare Platform. วันที่ค้นข้อมูล 20 เมษายน 2566, จาก สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เว็บไซด์ https://www.nstda.or.th/nac/2023/wp-content/uploads/2023/04/poster-ex08.pdf